จับตา: ยาที่ควรมีติดไว้ ในช่วงหน้าฝน

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1651 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน อากาศจะเริ่มเย็นลงและมีความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ และกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น และอาจมีการปนเปื้อนเชื้อในอาหารและน้ำดื่มได้ นอกจากนี้ ช่วงหน้าฝน อาจเกิดการท่วมขังของน้ำฝน ทำให้อาจมีการแพร่ระบาดของสัตว์และแมลง ดังนั้นควรระมัดระวังสัตว์และแมลงกัด ต่อย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบวม คันบริเวณที่ถูกกัดต่อยได้ หรือรายที่มีอาการรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในบทความนี้จะนำเสนอยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้านไว้ในช่วงหน้าฝน เพื่อบรรเทาอาการที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย

1. ยาสำหรับกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ใช้ยารักษาตามอาการ เช่น

1.1 ยาลดไข้ บรรเทาปวด เช่น พาราเซตามอล  

พาราเซตามอลเป็นยาที่มีฤทธิ์ลดไข้ บรรเทาปวดที่มีความปลอดภัย แต่มีข้อควรระวัง คือ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วันเพราะอาจนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ โดยก่อนรับประทานควรอ่านฉลากอย่างละเอียด ผู้ที่เป็นโรคตับ ไต ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา 

1.2 ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก 

บรรเทาอาการน้ำมูกไหล และ จาม จากไข้หวัดและจากการแพ้อากาศ 

ยากลุ่มนี้บางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้ง่วง จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในช่วงเวลาที่ต้องทำงาน และไม่ควรขับยานพาหนะขณะได้รับยานี้เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ 

2. ยาสำหรับกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร

2.1 ผงเกลือแร่ (ORS)

ใช้ทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากอาการท้องเสีย หรือ อาเจียน 

รับประทานโดยผสมผงเกลือแร่กับน้ำสะอาดตามคำแนะนำข้างซอง โดยค่อย ๆ จิบน้ำเกลือแร่ ไม่ดื่มจนหมดในคราวเดียว เพราะอาจทำให้ลำไส้แปรปรวนและท้องเสียมากขึ้น  ทั้งนี้ผงเกลือแร่ที่ผสมน้ำแล้วควรใช้ภายใน 24 ชั่วโมง เก็บรักษาในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อลดโอกาสในการปนเปื้อน

2.2 ยาถ่านคาร์บอน 

ใช้ดูดซับสารพิษเพื่อบรรเทาอาการท้องเสีย แต่ยาตัวนี้ไม่ได้มีผลฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และไม่สามารถใช้เป็นยาหยุดถ่าย ในการรับประทานยาถ่านคาร์บอนต้องเว้นระยะห่าง 2 ชั่วโมงจากการรับประทานยาชนิดอื่น เนื่องจากยานี้อาจไปดูดซับ และส่งผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยาอื่นได้

3. ยาสำหรับเมื่อโดนแมลงสัตว์กัดต่อย

3.1 คาลาไมน์โลชัน

บรรเทาอาการคันจากผื่นคัน ผื่นแพ้จากแมลงกัดต่อย 

เป็นรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน ดังนั้นก่อนใช้เขย่าให้ตัวยาเข้ากันดีก่อน โดยใช้ทาภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน และควรหลีกเลี่ยงการใช้ใกล้ดวงตา หรือเยื่อเมือกอื่น ๆ

3.2 ยาหม่อง

บรรเทาอาการปวดบวมจากแมลงกัดต่อย 

ใช้ทาภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด และควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม 

3.3 ยาแก้แพ้

บรรเทาอาการคันจากแมลงกัดต่อย

ยากลุ่มนี้บางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้ง่วง จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในช่วงเวลาที่ต้องทำงาน และไม่ควรขับยานพาหนะขณะได้รับยานี้เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ 

3.4 ยาแก้ปวด

พาราเซตามอลเป็นยาที่มีฤทธิ์ลดไข้ บรรเทาปวดที่มีความปลอดภัย แต่มีข้อควรระวัง คือ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วันเพราะอาจนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ โดยก่อนรับประทานควรอ่านฉลากอย่างละเอียด ผู้ที่เป็นโรคตับ ไต ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

ทั้งนี้ ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และควรใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยหากอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://oryor.com/media/checkSureShare/media_specify/710?ref=search

https://www.thaihealth.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2/

https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/faci.envi/knowledge_detail.asp?id=8

https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/1893

https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_news/308

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: