นักวิชาการวิเคราะห์แนวโน้มความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้อาจมีเพิ่มขึ้นในปี 2566

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 12020 ครั้ง

'ซาคารี อาบูซา' อาจารย์ประจำเนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ วิเคราะห์ผ่านสื่อ 'เบนาร์นิวส์' วิเคราะห์แนวโน้มความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้อาจมีเพิ่มขึ้นในปี 2566

เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2566 เบนาร์นิวส์ รายงานว่าการก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ได้ยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว ความรุนแรงดังกล่าวได้เพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 ซึ่งเหมือนเป็นสัญญาณของความไม่พอใจที่อาจมีเพิ่มขึ้น จากการที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนเจรจาสันติสุข

แม้ในภาพรวมนั้นจะเห็นได้ว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว แต่นับว่ายังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตัวเลขในอดีต จากข้อมูลสาธารณะที่ถูกบันทึกไว้โดยผู้เขียน อาจเป็นไปได้ว่าสื่อมวลชนไม่ได้รายงานการโจมตีหรือเหตุการณ์ความรุนแรงในทุกครั้ง

ในจำนวนเหตุการณ์ทั้งหมด มีผู้เสียชีวิตเกือบ 30 คน ไม่รวมผู้ก่อความไม่สงบ และอีก 123 คน ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะแสดงจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขเหล่านี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 เท่า และผู้บาดเจ็บมากกว่า 6 เท่า

ในปี 2565 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 29 คน เฉลี่ยเป็น 2.5 คนต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4 คนต่อเดือนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีจำนวนผู้บาดเจ็บ 123 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 156 จากปี 2564 โดยในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมดร้อยละ 38 เป็นสมาชิกของกองกำลังความมั่นคง และร้อยละ 68 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงในปี 2565 นั้นก็เป็นคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน

แม้ว่าหน่วยความมั่นคงจะยังคงเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่พวกเขาล้วนมีการป้องกันที่ดีกว่า และมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิต แตกต่างจากพลเรือนทั่วไป

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนการโจมตีด้วยระเบิดประกอบเองนั้น มีเพิ่มขึ้นมาก

การโจมตีโดยระเบิดแสวงเครื่องเกิดขึ้น 69 ครั้งในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.75 ครั้งต่อเดือน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดได้ปลดชนวนระเบิดแสวงเครื่องหกลูก และยังมีการโจมตีด้วยลูกระเบิดมืออีกหกครั้ง ในขณะที่มีการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องเพียง 33 ครั้งในปี 2563 และ 19 ครั้งในปี 2564

นอกจากนี้ ยังมีการลอบสังหาร 17 ครั้งในปีนี้ เฉลี่ย 1.42 ต่อเดือน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2.45 ครั้งต่อเดือน บุคคลที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีดังกล่าว อาจเป็นเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมากับครอบครัว ผู้ให้ข้อมูล หรือผู้วิจารณ์กลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มติดอาวุธที่มีกำลังมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่ การวางเพลิง 11 ครั้ง การโจมตีเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และเสาไฟฟ้า 8 ครั้ง มีการระเบิด 11 ครั้งบนทางรถไฟ รวมถึงเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ทำให้รถไฟตู้ขนส่งสินค้า 11 คัน ในทั้งหมด 20 คัน ตกราง

เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยระเบิดในวันรุ่งขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายไปยังหน่วยชุดปฏิบัติการกู้ชีพเบื้องต้น และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ผู้ก่อความไม่สงบจุดชนวนระเบิดขนาดเล็ก 17 ลูก ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ร้านสะดวกซื้อ 7-11 พร้อม ๆ กัน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย

นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีอย่างอุกอาจอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงเหตุการณ์ที่มีชาย 10 คน บุกเข้าโจมตีตำรวจน้ำและด่านศุลกากร ในตากใบ เมื่อเดือนพฤษภาคม ทำให้เจ้าหน้าที่ 3 นาย ได้รับบาดเจ็บ โดยรวมแล้วจำนวนการโจมตีฐานกองกำลังทหารลดลงเหลือเพียง 5 ครั้ง และมีการยิงต่อสู้กันที่ยืดเยื้อเพียง 11 ครั้ง ระหว่างกองกำลังความมั่นคงและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งบ่งบอกว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีทรัพยากรจำกัด

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าปีที่ผ่านมาเป็นอีกปีที่ยากลำบากของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

ซึ่งนอกจากจะมีสมาชิกกลุ่มถูกสังหารไป 18 รายแล้ว กองกำลังความมั่นคงยังจับกุมผู้ต้องสงสัย 11 ราย และกองกำลังความมั่นคงยังได้สังหารกลุ่มก่อความไม่สงบ มากกว่า 60 ราย นับตั้งแต่บีอาร์เอ็นประกาศพักรบ หรือหยุดยิง ในเดือนพฤษภาคม 2563 ห้วงที่มีการระบาดโควิด-19

กระบวนการสันติภาพ

ในปีที่ผ่านมา กระบวนการพูดคุยสันติสุขหลายรอบถูกจัดขึ้นหลายครั้ง ทั้งแบบออนไลน์และการพบปะกัน ซึ่งแม้ว่าบีอาร์เอ็นดูเหมือนจะยอมตอบรับข้อเสนอ 2 ประการ ในการเจรจาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย และยอมรับหลักการรวมของรัฐไทย แต่ก็นับว่ายังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้น

ย้อนไปเมื่อการประชุมในเดือนมีนาคม ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหยุดยิงในเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นสัญญาณแห่งความปรารถนาดี ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ได้แสดงท่าทีเหนือความคาดหมาย เพื่อเป็นการตอบแทน เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ประกาศว่ากลุ่มกบฏสามารถกลับมาบ้านได้อย่างปลอดภัยในช่วงรอมฎอน โดยใช้ชื่อโครงการนี้ว่า ‘โครงการสานใจสู่สันติ’ ด้วยเหตุนี้ การพักรบจึงมีผลบังคับใช้เวลานานกว่า 40 วัน ตามที่ได้ตกลงกันไว้

อย่างไรก็ตาม การพูดคุยสันติสุขครั้งที่หก ในเดือนตุลาคม ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากการเลือกตั้งของมาเลเซีย แต่ในเดือนธันวาคมทั้งสองฝ่ายได้ร่างข้อตกลงที่จะจัดให้มีการหยุดยิงและยกเลิกหมายจับสำหรับตัวแทนการพูดคุยฯ ของทางบีอาร์เอ็น

แต่การพักรบในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจริง หนำซ้ำเหตุรุนแรงกลับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2565 จากฝีมือขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี หรือกลุ่มพูโล ซึ่งเป็นคู่แข่งกับบีอาร์เอ็น

กลุ่มพูโลทำการโจมตีหลายครั้ง รวมทั้งการวางระเบิดสองครั้งในเดือนเมษายน ระหว่างการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนของบีอาร์เอ็น ซึ่งแม้พูโลจะเป็นกลุ่มเล็ก และมีความสามารถทางการทหารน้อยกว่าบีอาร์เอ็น แต่พูโลก็ได้พยายามที่จะมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติสุข

ในเดือนมกราคมนี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย ผู้ที่มีความสนใจพิเศษในประเด็นสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ของไทย ได้เลือกอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียคนใหม่ ที่จะมีบทบาทเป็นผู้แทนตัวกลางในการพูดคุยสันติสุขระหว่างทั้งสองฝ่าย

พลเอก ซุลกิฟลี เข้ามาแทนที่ อดีตผู้บัญชาการตำรวจ อับดุล ราฮิม นูร์ ที่เคยมีคดีเพราะชกต่อยนายอันวาร์ สมัยที่เขาถูกคุมขังในปี 2541 โดยนักวิเคราะห์มาเลเซียมองเหตุการณ์นี้ว่า กองบัญชาการตำรวจสันติบาลกำลังพยายามลดบทบาทของกองทัพมาเลเซียในกระบวนการพูดคุยสันติสุข

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยยังคงกังวลว่า ความขัดแย้งนี้กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ และยังคงสงสัยในความพยายามช่วยเหลือจากมาเลเซีย แม้ในเดือนมกราคม ปี 2565 รัฐบาลมาเลเซียจะพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยส่งตัวผู้ต้องสงสัยกลุ่มบีอาร์เอ็น 3 คนให้กับทางการไทย ซึ่งเป็นการส่งมอบครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2540

ในขณะที่ชาวมาเลเซียมองว่าการแต่งตั้ง พลเอก ซุลกิฟลี อาจช่วยให้กระบวนการสันติสุขเป็นไปในทางที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะไม่เห็นผลจากรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม

แน่นอน หากไทยมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติสุข แต่กองทัพเท่านั้นที่ยังคงเป็นผู้กำหนดแนวทาง เพราะที่ผ่านมานับว่า กองทัพสามารถควบคุมความรุนแรงของเหตุการณ์ความไม่สงบไว้ในระดับต่ำ โดยไม่ต้องประนีประนอมหรือตอบสนองต่อคำขอร้องของบีอาร์เอ็นมากนัก

จึงอาจกล่าวได้ว่า กลยุทธ์ของรัฐบาลไทยอาจเป็นการพยายามให้การพูดคุยสันติสุขยืดเยื้อออกไป เพื่อสร้างความแตกแยกภายในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเอง

กลุ่มบีอาร์เอ็นเกิดความไม่พอใจมากขึ้น สังเกตได้จากความรุนแรงที่มีเพิ่มขึ้น และนักสู้ในพื้นที่ของบีอาร์เอ็นยังไม่มีการแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า จะรับเงื่อนไขที่ผู้นำเห็นชอบหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ ความรุนแรงจึงดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นในปี 2566

 

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: