ดีเดย์ สช. ประกาศใช้ระบบ DOPA-Digital ID เป็นองค์กรแรกชักชวนหน่วยงานภาคีฯ – ภาคีเครือข่าย นำร่องใช้ระบบ Digital ID

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 7743 ครั้ง

ดีเดย์ สช. ประกาศใช้ระบบ DOPA-Digital ID เป็นองค์กรแรกชักชวนหน่วยงานภาคีฯ – ภาคีเครือข่าย นำร่องใช้ระบบ Digital ID

สช. จัดอบรมความรู้เรื่อง Digital ID และระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) เสริมความรู้ด้านดิจิทัลของบุคลากร ชวนหน่วยงานภาคีด้านสุขภาพเข้าร่วม อาทิ สวรส. สรพ. และ IHPP พร้อมหนุนภาคีเครือข่าย ร่วมใช้งานระบบแบบศูนย์รวมหนึ่งเดียว

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดอบรมความรู้เรื่อง Digital ID และระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ขึ้น ณ ห้องสานใจ อาคารสุขภาพแห่งชาติ เป็นแห่งแรกหลังจากมี พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ประกาศใช้เมื่อ 10 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Platform Digital ID กรมการปกครองได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) เพื่อสร้างต้นแบบและนวัตกรรมใหม่ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศรองรับการใช้งานบริการภาครัฐ มาใช้รองรับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อลดปัญหาการเข้าใช้งานระบบสารสนเทศอย่างไม่ถูกต้อง โดยใช้หลักการของการบริหารการพิสูจน์ตัวตนและการเข้าถึงอย่างเป็นระบบ (Identity and Access Management System: IAM) มาใช้เพื่อเชื่อมต่อการเข้าถึงระบบงานต่างๆ ไว้ ณ จุดเดียว และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ใช้มากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย มาบรรยายให้ความรู้เรื่อง Digital ID และระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID)

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรและภาคีเครือข่ายของ สช. ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง Digital ID และระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และต่อไปข้างหน้าการส่งข้อมูลระหว่างกันก็จะปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ยังเป็นการลดการทำงานซ้ำซ้อน และลดเรื่องการใช้กระดาษในการทำงาน เช่นเรื่องการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานจะลดเรื่องของเอกสารลง และเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ประชาชนสะดวกขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ และเป็นโอกาสที่มีผลต่อระบบใหญ่อีกด้วย

นางเนตรนภิส สุชนวนิช ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สช. กล่าวว่า ในการอบรมความรู้เรื่อง Digital ID และระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) เป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่มีภาคีเครือข่าย หรือหน่วยงานที่มีการทำงานวิจัย ที่ต้องมีการจัดประชุมหรืออบรมอยู่บ่อยๆ รวมทั้งหน่วยงานที่มีการทำงานด้านสนับสนุนงบประมาณที่ต้องมีข้อมูลดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน ยังเสริมอีกว่า ระบบ Identity and Access Management (IAM) ที่มาจากทฤษฎีความเชื่อเป็นศูนย์ (Zero trust security) คือเครื่องมือที่จะช่วยในการยืนยันตัวตนและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น

นายสิทธิโชค ชัยปัญญา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการและการพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาของการใช้บริการของประชาชนที่มาติดต่อหน่วยงาน เพื่อทำธุรกรรมบางอย่าง ทำให้เห็นว่างานด้านทะเบียนของหน่วยงานรัฐหลายๆหน่วยงานมีการทำงานหลายขั้นตอน และใช้เวลานาน ดังนั้นกรมการปกครอง จึงเกิดระบบการลงทะเบียนด้วยตัวเอง แบบออนไลน์โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานเขต จึงเกิดการพัฒนาของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ขึ้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของการนำไปใช้ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: