ผลสำรวจศูนย์คุณธรรมพบปี 2565 ชี้ 'คุณธรรมคนวัย 25-40 ปี' มีแนวโน้มลดลง

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 2008 ครั้ง

'รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2565 และประเด็นคุณธรรมสำหรับอนาคต' ของศูนย์คุณธรรม ชี้ ''คุณธรรมคนวัย 25-40 ปี'' ในไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะ 'การยอมรับและปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานของสังคม การควบคุมตนเอง การตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตน และการยืนหยัดในความถูกต้อง' ชี้กรณี "จิตสาธารณะ" แนวทางการขยับขยายความหมายและความครอบคลุมของคุณธรรม อาจจะทำให้เกิด “คุณธรรมปลายเปิด”

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' ได้รายงาน สถานการณ์ด้านสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2566 พร้อมทั้งนำเสนอบทความเรื่อง คุณธรรมในสังคมไทยพบว่า จากข้อมูลของศูนย์คุณธรรมซึ่งทำการสำรวจ "สถานการณ์คุณธรรม" ในปี 2565 ที่เป็นการสำรวจครบทั้ง 3 ช่วงวัย เป็นครั้งแรกของประเทศ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ มีคุณธรรมในระดับพอใช้

ทั้งนี้พบว่ามีสัดส่วน 43.5% ของกลุ่มตัวอย่างมีคุณธรรมระดับพอใช้ อีก 36.9% มีคุณธรรมน้อยและควรปรับปรุง ที่เหลือ 19.6% เป็นกลุ่มที่มีคุณธรรมในระดับมากถึงมากที่สุด โดยคนไทยมีคุณธรรมในด้านความกตัญญูมากที่สุด และด้านที่ต่ำที่สุดคือความพอเพียง โดยกว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง มีคะแนนคุณธรรมด้านความกตัญญูในระดับมากถึงมากที่สุด และไม่เพียงแต่เป็นความกตัญญูต่อพ่อแม่ หรือ ผู้มีพระคุณ แต่ยังรวมถึงการแสดงออกในทางที่ดี ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอีกด้วย ขณะที่ 65.3% ของกลุ่มตัวอย่างมีความพอเพียงในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และ 51.1% มีคุณธรรมในด้านความสุจริตน้อย และควรปรับปรุง

'คุณธรรมคนวัย 25-40 ปี' ในไทยมีแนวโน้มลดลง

เมื่อพิจารณากลุ่มวัย 25-40 ปี มีคะแนน เฉลี่ยลดลงจากระดับ 4.63 ในปี 2564 เหลือในระดับ 4.40 ในปี 2565 และลดลงทุกด้าน โดยเฉพาะวินัยความรับผิดชอบที่มีคะแนน ลดลงเหลือเพียง ระดับ 4.0

โดยประเด็นคุณธรรมที่มีคะแนนระดับน้อย คือ การยอมรับและปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานของสังคม การควบคุมตนเอง การตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตน และการยืนหยัดในความถูกต้อง ซึ่งคุณธรรมของกลุ่มวัยนี้ มีความสำคัญเนื่องจากวัยแรงงานเป็นช่วงวัยที่ต้องรับผิดชอบวัยอื่น ๆ ทำให้มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และสร้างวิถีชีวิต แห่งคุณธรรมของเด็กในอนาคตด้วย

ต่างวัย ต่างปัญหา - การศึกษาสูงไม่ได้สะท้อนถึงระดับคุณธรรม

เมื่อแบ่งกลุ่มอายุของกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 ช่วง คือ 13-24 ปี 25-40 ปี และ 41 ปีขึ้นไป พบว่า แต่ละช่วงวัยมีปัญหาแตกต่างกัน กล่าวคือ ช่วงอายุ 13-24 ปี มีปัญหาด้านความสุจริต มากที่สุด ส่วนกลุ่มอายุ 25-40 ปี มีปัญหาด้านวินัย ความรับผิดชอบ ขณะที่กลุ่มวัย 41 ปีขึ้นไป มีปัญหาใน ด้านความพอเพียงมากที่สุด

พบว่า ผู้จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีของกลุ่มอายุ 25-40 ปี มีสัดส่วนของผู้ที่มีคุณธรรมระดับมากและมากที่สุด 23.4% มากกว่ากลุ่มผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่มีสัดส่วน 17.8% เท่านั้น

ปัญหาคุณธรรมแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

นอกจากระดับคุณธรรมของแต่ละช่วงวัยจะมี ความแตกต่างกันแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณธรรมในแต่ละภูมิภาคยังแตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อพิจารณา คุณธรรมของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 25-40 ปี ใน 5 มิติที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีชี้วัดคุณธรรมเป็นรายภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกและภาคตะวันตกมีคะแนนด้านความพอเพียงต่ำที่สุด

ส่วนภาคเหนือมีความเปราะบางในด้านจิตสาธารณะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง มีประเด็นปัญหาในด้านความสุจริต ความแตกต่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาคุณธรรมในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่แตกต่างกัน

คุณธรรมและรายได้ไม่สัมพันธ์กัน แต่ต้นทุนชีวิตอาจส่งผลต่อระดับคุณธรรม

เมื่อพิจารณากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี การจัดเก็บข้อมูลด้านรายได้ พบว่า กลุ่มที่มีระดับคุณธรรมในระดับมากที่สุดกลับมีค่าเฉลี่ยของรายได้ต่ำที่สุด ขณะที่ กลุ่มที่มีคุณธรรมในระดับที่ควรปรับปรุง กลับมีค่าเฉลี่ยของรายได้สูงเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รายได้กับ ระดับคุณธรรมอาจไม่สัมพันธ์กัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณธรรม พบว่า ต้นทุนชีวิตอาจส่งผลต่อระดับคุณธรรม จากการศึกษาของ Benson (2004) และ Scales and Roehlkepartain (2003) พบว่า สภาพแวดล้อมเป็น สิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการมีคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล

ในกรณีของไทยจากข้อมูลของศูนย์คุณธรรม พบสถานการณ์ในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อพิจารณาระดับคุณธรรมกับสภาพแวดล้อมที่สะท้อนจากต้นทุนชีวิต 18 พบว่า ระดับต้นทุนชีวิตในภาพรวมอยู่ที่ 3.12 ซึ่งด้านที่สูงที่สุดอยู่ที่พลังครอบครัว และต่ำที่สุดคือพลังชุมชน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาระดับคะแนนคุณธรรมและต้นทุนชีวิต พบว่าผู้ที่มีต้นทุนชีวิตที่สูงจะมีคะแนนคุณธรรมสูงไปด้วย และ คะแนนคุณธรรมจะเพิ่มขึ้นตามระดับต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้น โดยกลุ่มที่มีต้นทุนชีวิตน้อย มีค่าเฉลี่ยคุณธรรมเพียง 3.07 หรืออยู่ในระดับควรปรับปรุง ขณะที่ผู้ที่มีต้นทุนชีวิตในระดับมากที่สุดมีคะแนนคุณธรรมเฉลี่ยสูงถึง 4.61 สะท้อนให้ เห็นว่าการมีต้นทุนชีวิตอาจช่วยให้คนมีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น

ขณะที่ เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีระดับคุณธรรมที่ควรปรับปรุง (ระดับต่ำที่สุด) พบว่า กลุ่มนี้มีค่าเฉลี่ยต่ำในทุกด้าน โดยเฉพาะพลังเพื่อนและกิจกรรม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเพื่อน เป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา สันทนาการต่าง ๆ และพลังชุมชน เป็นสภาพของชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่นและปลอดภัย ทุนทั้ง 2 มีคะแนนในระดับต่ำที่สุด

นอกจากนี้ หากพิจารณากลุ่มเด็กและเยาวชน (อายุ 13-24 ปี) ซึ่งจะเป็นกำลังแรงงานรุ่นใหม่ในอนาคต ยังพบด้วยว่าทุนชีวิตในด้านครอบครัวและชุมชนมีระดับที่ไม่สูงนัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบัน ครอบครัวและชุมชน และเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการมีคุณธรรมในอนาคต

กรณี "จิตสาธารณะ" แนวทางการขยับขยายความหมายและความครอบคลุมของคุณธรรม ซึ่งจะทำให้เกิด “คุณธรรมปลายเปิด”


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ใน "รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2565 และประเด็นคุณธรรมสำหรับอนาคต" ได้ยกตัวอย่าง กรณี "จิตสาธารณะ" แนวทางการขยับขยายความหมายและความครอบคลุมของคุณธรรม ซึ่งจะทำให้เกิด “คุณธรรมปลายเปิด” ที่เรียกร้องให้เห็นความสำคัญของคุณค่าใหม่ ๆ หรือเห็นคุณค่าเดิมที่ถูกละเลยไปในปัจจุบัน จากภาพจะพบว่ามีระดับความเข้มข้นของการทำความดีและการมีคุณธรรมได้หลายระดับ

นับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ความพยายามในการรับมือกับโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมที่ย้ำถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางด้านสุขภาพ จนกระทั่งมีคำกล่าวที่ว่า “no one is safe from Covid 19 until everyone is safe” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความปลอดภัยจากโรคระบาดนั้นที่แท้แล้วเป็นเรื่องส่วนรวม ทำให้เราต้องให้ความสำคัญในการดูแลซึ่งกันและกัน และยังทำให้มีการพูดคุยเรื่องความเหลื่อมล้ำและขยายประเด็นในการมองความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น การระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นคุณธรรมจากประสบการณ์จริงของสังคมในปัจจุบัน

ภายใต้สถานการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น หัวใจสำคัญคือ การรวมใจของคนไทยในการฝ่าฟันวิกฤต ด้วยหลักคุณธรรมและความดีที่อยู่ในวิถีชีวิต ซึ่งเราสามารถเรียนรู้สร้างพลังบวก และปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการดำเนินชีวิต จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นปรากฏการณ์ที่กระตุ้นการสร้างพลังบวกให้คนไทย ได้แสดงความมีน้ำใจในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ดังกล่าว มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วในการช่วยเหลือและดูซึ่งกันและกัน ทำให้อาสาสมัครมีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ทันท่วงที โดยสามารถจำแนกรูปแบบของการทำจิตสาธารณะเป็น 6 ประเภท คือ 1. การบริจาคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน 2. การลงแรงช่วยเหลือในพื้นที่ 3. การเปิดพื้นที่เป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือ 4. การจ้างงานและฝึกสอนทักษะอาชีพ 5. การผลิตสื่อรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย 6. การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

อาจกล่าวได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นทุกข์ของคนกลุ่มเฉพาะ และทุกข์ร่วมกันของสังคม ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตลอดจนการใช้ประสบการณ์ความทุกข์มาแปลงโจทย์เพื่อการทำกิจกรรมโครงการจิตสาธารณะในรูปแบบใหม่ ๆ

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดนวัตกรรมที่ทำให้เรามีเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปันและการร่วมทุกข์ (solidarity economy) แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็มีผลต่อพฤติกรรมทางสังคมเพราะแสดงให้เห็นถึงจิตสาธารณะของคนเล็กคนน้อยที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันและกันและช่วยเหลือสังคม บทบาทของกลุ่มจิตสาธารณะที่เข้ามานั้นขยายไปจนกระทั่งเติบโตไปมีบทบาทการทำงานเพื่อสังคมในส่วนอื่น ๆ “จิตสาธารณะ” จึงขยายไปถึงปฏิบัติการที่พัฒนาเป็นขบวนการทำงานและทำให้เกิดพลังสำคัญในสังคม สร้างเสริมความเชื่อมั่นต่อกันในสังคม ไม่ใช่เป็นแค่กิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราว

นอกจากนั้น “จิตสาธารณะ” ยังหมายถึงมุมมองต่อเพื่อนมนุษย์โดยรวม ที่ก้าวข้ามความเป็นเครือญาติ เป็นพรรคพวก เป็นฝักฝ่าย และก้าวข้ามพรมแดนของขั้วตรงข้าม และ “จิตสาธารณะ” อาจหมายถึงการลงมือทำโดยไม่ต้องกล่าวอ้างเรื่องคุณงามความดีของการกระทำนั้น ๆ ด้วย

อันที่จริงแล้ว “จิตสาธารณะ” ซึ่งเดิมใช้คำว่า “จิตอาสา” เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ได้รับการส่งเสริมอย่างมากในสังคมไทยตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิปี 2547 ซึ่งพิบัติภัยนี้ก่อให้เกิดผลกระทบสูงและกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่ระบบบริการปกติจะรองรับได้ จึงเกิดการขับเคลื่อนอาสาสมัครทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่เป็นแรงสำคัญทำให้ความช่วยเหลือและการจัดการเป็นไปได้ง่ายขึ้นท่ามกลางวิกฤต

ต่อมาหน่วยงาน องค์กร บริษัทเอกชนเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำให้เกิดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ บางแห่งกำหนดให้พนักงานต้องเข้าร่วม โดยกำหนดระยะเวลาหรือจำนวนครั้ง และบางแห่งใช้การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ในการประเมินผลงาน ดังนั้น ประเด็น “จิตอาสา” ที่มีการกะเกณฑ์ การบังคับ หรือมีค่าตอบแทน อาจจะเป็นเพียงกิจกรรมตามนิยามจิตอาสามากกว่าในเนื้อหาสาระของการทำประโยชน์ในสังคม ถ้าสถานการณ์เหล่านี้ดำรงต่อไปและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ความหมายและ

ความเข้าใจเรื่องจิตอาสาหดแคบลง แล้วผู้คนจะเริ่มตั้งคำถาม และเกิดกระแสที่ทำให้คำหรือปฏิบัติการนั้นด้อยความหมายและมีความสำคัญน้อยลง พระพรหมคุณาภรณ์เคยได้บรรยายถึง “จริยธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่” และให้ความเห็นว่าถ้าความหมายที่กว้างขวางและลึกซึ้งของคุณธรรมถูกพูดถึงในแง่หนึ่งแง่เดียว หรือเน้นหนักไปด้านเดียว หรือเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความคับแคบและคลาดเคลื่อนของคุณธรรมนั้น ๆ ไปได้

ดังนั้น การสะท้อนย้อนคิดเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม การไตร่ตรองในเชิงคุณธรรม และการพิจารณาการใช้เหตุผลในเชิงคุณธรรม (moral reasoning, moral reflexivity) จึงเป็นสิ่งสำคัญ ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ได้ทบทวนมาเบื้องต้น เป็นเนื้อหาที่ดีสำหรับการคิดวิเคราะห์ความถูกต้องเหมาะสมในแง่คุณธรรม ผู้คนควรจะทำอะไรในสถานการณ์เหล่านั้น และมีการใช้เหตุผล รวมทั้งเลือกตัดสินใจในเชิงคุณธรรมอย่างไรบ้าง คณะวิจัยได้วิเคราะห์ข่าวที่เชื่อมโยงกับเรื่องคุณธรรมในแง่ที่เปิดไปสู่โจทย์ที่กว้างขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิดหรือหลักการให้เรา “ตัดสิน” ผู้คน แต่เป็นโจทย์ให้เราได้ชวนกันเริ่ม “คิด” และเริ่ม “ไตร่ตรอง” มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างคุณธรรมกับสังคมที่ดี และสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุก ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญและมีความสนใจกับสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น การเรียนรู้เรื่องคุณค่าและความสำคัญของสิทธิจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของประชากรกลุ่มเฉพาะ สิทธิของลูกกับสิทธิของพ่อแม่ในสถาบันครอบครัว หรือแม้แต่สิทธิของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในยุค “มนุษยสมัย” (Anthropocene)


ที่มา:
รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2565 และประเด็นคุณธรรมสำหรับอนาคต (รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2565 และประเด็นคุณธรรมสำหรับอนาคต, ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน))
รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 1/2566 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, พ.ค. 2566)
คุณธรรมคนไทยวัยแรงงาน เริ่มถอยหลัง ชี้ขาดวินัย-ความรับผิดชอบหนัก (ฐานเศรษฐกิจ, 28 พฤษภาคม 2566)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: