บทเรียนจากโครงการพัฒนา ‘อ.จะนะ’ เมื่อ ‘การประท้วง’ ไม่ได้ผล ‘ชุมชน’ ต้องใช้ ‘ข้อมูลวิชาการ’ ต่อสู้

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 17069 ครั้ง

บทเรียนจากโครงการพัฒนา ‘อ.จะนะ’ เมื่อ ‘การประท้วง’ ไม่ได้ผล ‘ชุมชน’ ต้องใช้ ‘ข้อมูลวิชาการ’ ต่อสู้

สช.นำทีมคณาจารย์ด้าน HIA ทั้ง 6 ภูมิภาค ร่วมศึกษาเรียนรู้บทเรียน “การประเมินผลกระทบโดยชุมชน” ของพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา บนยุทธศาสตร์การต่อสู้ด้วย “ข้อมูล” ช่วยชาวบ้านสางปัญหาโครงการขนาดใหญ่ โต้แย้งด้วยการใช้ความรู้ของพื้นที่ ให้ข้อเสนอทางเลือกการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชักชวนนักวิชาการ-คณะอาจารย์เครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Consortium) กว่า 50 ชีวิต จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อเรียนรู้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนและการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (CHIA)

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เปิดเผยว่า เมื่อพูดถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนา อาทิ การก่อสร้างโรงงาน โรงไฟฟ้า มักจะมีคำหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือคำว่า ‘ไม่เกินค่ามาตรฐาน’ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงระดับสารพิษที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งคำว่าไม่เกินค่ามาตรฐานนั้นไม่ได้แปลว่าปลอดภัยเสมอไป เพราะการตอบสนองปริมาณสารพิษที่ได้รับ (Dose response) รวมถึงการได้รับสารพิษปริมาณต่ำแต่เป็นระยะเวลานานๆ (Chronic low dose exposure) ย่อมเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะประเมิน เนื่องจากว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นต้องใช้เวลานาน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของผลจากสารเคมีหลายชนิดที่ถูกผสมเข้าด้วยกัน (Cocktail effect) เช่น หากได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณต่ำ แต่บวกกับไนโตรเจนไดออกไซด์ บวกกับฝุ่นละออง PM2.5 ฯลฯ แม้ทั้งหมดจะถูกปล่อยออกมาไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่เมื่อประชาชนต้องสูดรับเอาสารทั้งหมดเข้าไปรวมกัน จะเกิดผลอย่างไรบ้างกับร่างกาย ซึ่งเชื่อว่า Cocktail effect เป็นอีกตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ในระยะยาว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีงานวิจัยที่ชัดเจน

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านมาเราแทบจะไม่เคยเห็นข้อมูลการศึกษาที่เจาะลึกเรื่องสุขภาพอย่างละเอียด หรือลงไปในรายกลุ่มประชากร โดยเฉพาะตามชุมชนที่ส่วนใหญ่ผู้อยู่อาศัยมักจะเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงวัย หรือกลุ่มผู้ป่วยที่เปราะบางต่อการได้รับสารพิษมากกว่า

สำหรับประสบการณ์ของพื้นที่ อ.จะนะ อาจเป็นบทเรียนถึงการจัดการกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยชุมชน โดย อ.จะนะ มีพื้นที่ติดทะเลยาว 29 กิโลเมตร มีพื้นที่ราบที่กว้างใหญ่เป็นแสนไร่ มีคลองใหญ่อีก 2 คลอง ส่วนจำนวนชาวบ้านถือว่าเบาบางเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังใกล้กับ อ.หาดใหญ่ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา รวมถึงประเทศมาเลเซีย ทำเลนี้จึงถูกมองว่าเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการตั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานขนาดใหญ่

“ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ถูกกำหนดลงมาในพื้นที่ อ.จะนะ อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา นั่นจึงทำให้เกิดเป็นบทเรียนการต่อสู้ของชาวบ้าน ตลอดจนการเปิดพื้นที่กลาง การใช้งานวิชาการ และการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา” นพ.สุภัทร กล่าว

ขณะที่ นายกิตติภพ สุทธิสว่าง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน (ศอบจ.) กล่าวว่า ขบวนการต่อสู้ของคนใน อ.จะนะ เริ่มตั้งแต่การเข้ามาของโครงการก่อสร้างท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในช่วงปี 2545 ขณะนั้นคนในพื้นที่ต่อต้านด้วยวิธีการชุมนุมประท้วง จนเกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งสุดท้ายโครงการก็เกิดขึ้น มีแกนนำหลายคนถูกจับกุม ตามมาด้วยโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ในปี 2551 ที่สามารถเกิดขึ้นได้สำเร็จเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีโครงการศึกษาทบทวนและสำรวจออกแบบเพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 ใน อ.จะนะ นำมาสู่ข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบกับการประมงพื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้บทเรียนว่าจะต้องต่อสู้ด้วยการใช้ ‘ข้อมูล’ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมกันศึกษาและยื่นข้อเสนอสู่ผู้กำหนดนโยบาย จนสุดท้ายสามารถคัดค้านการก่อสร้างได้สำเร็จ

“เรารู้ว่าการชุมนุมต่อสู้กับโครงการไปก็เหนื่อย แต่เมื่อเราเริ่มฉลาดขึ้น ยกระดับการต่อสู้ด้วยฐานข้อมูล ทำให้ภายหลังเราเดินหน้าเข้าไปในกระบวนการทำผังเมืองก่อน ผลักดันจนได้ผังเมืองสีเขียวหลายพื้นที่ รวมถึงการศึกษาข้อมูลของระบบนิเวศ ผลกระทบ พร้อมรวบรวมต้นทุน ภูมิปัญญา และนำมาสู่การวางยุทธศาสตร์ กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ที่ยั่งยืน บนความต้องการของชุมชน ที่ยังนำไปสู่ข้อเสนอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง กำหนดแผนพัฒนาของพื้นที่อย่างเป็นภาพรวม” นายกิตติภพ กล่าว

ด้าน น.ส.วรรณิศา จันทร์หอม เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิภาคใต้สีเขียว กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้เริ่มทำข้อมูลชุมชน ตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากปัญหาของโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่ชาวบ้านมองว่าผู้ศึกษาข้อมูลโครงการอาจใช้ข้อมูลเท็จและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของพื้นที่ เพราะในพื้นที่มีความอุดมบูรณ์ของทรัพยากรมากกว่าที่ระบุไว้ในรายงานมาก ทางชุมชนจึงลุกขึ้นมาร่วมกันพัฒนาจัดทำฐานข้อมูลเอง ทั้งความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อชาวบ้าน

“การทำข้อมูลชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในการที่จะสื่อสารมากยิ่งขึ้น ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมพลังของชุมชนได้มาก เพราะเขาจะรู้จักพื้นที่ดีที่สุด และอยากแสดงให้เห็นว่าพื้นที่มีฐานทรัพยากรอะไร ที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาได้ โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อเป็นข้อเสนอให้ภาครัฐได้สนใจ และหันมาส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่ได้” น.ส.วรรณิศา กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: