แอมเนสตี้เรียกร้องยุติดำเนินคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ต่อนักกิจกรรมเยาวชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 9105 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องยุติดำเนินคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ต่อนักกิจกรรมเยาวชน

แอมเนสตี้เรียกร้องไทยยุติการดำเนินคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ต่อนักกิจกรรมเยาวชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์

18 ก.ค. 2566 ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีที่ 20 ก.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ในคดีของนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์หรือ สายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน ซึ่งอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ ขณะที่เขามีอายุ 16 ปี

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า สายน้ำไม่ควรถูกดำเนินคดีหรือลงโทษใดๆ ตั้งแต่แรก กระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพไป เพียงเพราะเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ระหว่างการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ขณะที่มีอายุยังไม่ถึง 18 ปี การดำเนินคดีอาญาหลายข้อหาต่อสายน้ำ เน้นย้ำให้เห็นว่าทางการไทยได้พรากสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบไปจากเด็กหลายคน

“ทางการไทยต้องยุติการดำเนินคดีต่อสายน้ำ รวมถึงเยาวชนอีกกว่าร้อยคน ซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาในคดีอื่นๆจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยทางการต้องดำเนินการอย่างทันทีและไม่มีเงื่อนไข”

รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรื่อง “ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา" (We are Reclaiming Our Future) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. 2566 ได้บันทึกข้อมูลกรณีที่ภาครัฐไม่สามารถประกันความปลอดภัยของเด็กหลายคนระหว่างการชุมนุมประท้วงได้ และการจับกุมด้วยความรุนแรงและการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อบูรณภาพทางกายและใจของเด็กผู้ชุมนุมประท้วง

“เด็กและเยาวชนในประเทศไทย ยังคงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแสดงความเห็นของตน ดังในกรณีเด็ก 286 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญาในช่วงที่ผ่านมานี้ รวมทั้งถูกข่มขู่และสอดแนมข้อมูลจากภาครัฐ ทั้งตำรวจยังใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินขอบเขตระหว่างการชุมนุมประท้วง

“ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประเทศไทยต้องประกันว่าเด็กสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีผ่านการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยต่อการชุมนุม”

ข้อมูลพื้นฐาน

วันที่ 29 ต.ค. 2563 ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยได้รวมตัวกันบนถนนสีลมที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง ระหว่างการชุมนุม ผู้ชุมนุมประท้วงได้จัด “การเดินพรมแดง” โดยเป็นกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ในเชิงเสียดสีบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินพรมแดงโดยสวมเสื้อเอวลอยสีดำ

สายน้ำถูกดำเนินคดีหลายข้อหาจากกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามกฎหมายดังกล่าว บุคคลใดที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจได้รับโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี นอกจากนี้ สายน้ำยังถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่น รวมทั้งการละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว พระราชบัญญัติควบคุมโรค พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงอีกด้วย

วันที่ 12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ตัดสินว่า จตุพร แซ่อึง หรือ นิว นักกิจกรรมวัย 23 ปี มีความผิดจากการเข้าร่วมการเดินแฟชั่นโชว์ครั้งเดียวกัน และถูกตัดสินให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาสองปีในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ หากศาลตัดสินว่าสายน้ำมีความผิด เขาจะถือเป็นบุคคลที่สองที่ถูกตัดสินลงโทษจากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ครั้งนี้

ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 11 ก.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่ามีเด็กอย่างน้อย 286 คน ซึ่งรวมถึงสายน้ำ ถูกดำเนินคดีอาญาจากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยมีเด็กอย่างน้อย 20 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบ โดยให้ยกเลิกการดำเนินคดีตามข้อหานี้ต่อบุคคลที่ใช้สิทธิของตน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: