จับตา: ปวดเข่าจากข้อเสื่อม ใช้ยาอะไรดี

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 6102 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่าเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรือเมื่อมีอายุมากขึ้น หลายคนมักพบเจอกับปัญหาเรื่องกระดูกและข้อทำให้มีอาการปวดเข่าได้ โดยสาเหตุของอาการปวดเข่านั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่ถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมาก บทความนี้จึงมาแนะนำยาที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าจากข้อเสื่อมและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของรูปร่าง หรือโครงสร้างการทำงานของทั้งกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ นอกจากนี้ข้อเข่าอาจเสื่อมได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บที่ข้อและเส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่า การเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าต์ รวมถึงการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่สังเกตได้ง่าย คือ จะมีอาการปวดข้อเข่า มีเสียงลั่นในข้อ หรือรู้สึกเสียดสีเมื่อมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันไดหรือเดินขึ้นทางชัน หรือมีอาการข้อฝืดหรือยึดติดเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน

แนวทางในการรักษาอาการปวดเข่าจาข้อเสื่อม ประกอบด้วย การรักษาแบบใช้ยาและการรักษาแบบไม่ใช้ยา รายละเอียด ดังนี้

การใช้ยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม 

สามารถแบ่งรูปแบบของการใช้ยาได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

  1. 1. ยากิน

          วัตถุประสงค์ในการใช้ยา คือ เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ

          ยาที่ใช้ : ยาพาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

ข้อควรระวัง : ในการรับประทานยาควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับและไต อีกทั้งควรระวังผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ การใช้ยากลุ่ม NSAIDs ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

  1. 2. ยาฉีด

          วัตถุประสงค์ในการใช้ยา คือ เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ ใช้ในกรณีข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น

          ยาที่ใช้ : ยาสเตียรอยด์ (Steroid)

ข้อควรระวัง : การใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรฉีดประจำเนื่องจากจะไปทำลายกระดูกอ่อนข้อต่อได้

นอกจากที่จะต้องระวังเรื่องจากการใช้ยาแล้วก็ยังต้องระวังพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วย โดยสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดอาการจากโรคข้อเสื่อมได้ ดังนี้

  1. 1. หลีกเลี่ยงการนั่งในลักษณะที่ต้องงอเข่า เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า หรือนั่งขัดสมาธิ
  2. 2. ไม่ขึ้น - ลงบันไดโดยไม่จำเป็น
  3. 3. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  4. 4. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
  5. 5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดด แต่หันมาออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ หรือเดินแทน

 

ข้อมูลอ้างอิง 

บุษบา จินดาวิจักษณ์. (2553). ยาแก้ปวดข้อ ใช้รักษาข้อเสื่อม ใช้อย่างไร?. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2565. 

โรงพยาบาลรามาธิบดี. (ม.ป.ป.). โรคข้อเข่าเสื่อม. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2565. 

เมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

มารู้จักกับตัวยา “แคปไซซิน” บรรเทาอาการปวดเมื่อย – รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)

โรคข้อเสื่อม (thairheumatology.org)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: