ไทยยังเป็นสวรรค์อันอบอุ่นของชาวรัสเซียและเงินรูเบิล

ลูนา ฟาม (เรดิโอฟรีเอเชีย) ภิมุข รักขนาม (เบนาร์นิวส์) 15 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 6236 ครั้ง

ร้านค้าที่เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียในเมืองพัทยา วันที่ 22 มิถุนายน 2566 (เจิน เวียต ดึ๊ก/เรดิโอฟรีเอเชีย)

หากถามชาวรัสเซียว่า ประเทศใดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พวกเขารู้จัก คุณอาจได้ยินคำตอบว่า “ประเทศไทย” คุณสามารถพบเจอนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจำนวนมากได้ตามชายหาด ผับ บาร์ หรือแม้กระทั่งโบสถ์คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

ในปี 2565 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนกว่า 11.4 ล้านคน แต่นั่นไม่ได้เป็นเพียงสัญญาณที่บ่งบอกถึงชื่อเสียงระดับตำนานของไทย ซึ่งขึ้นชื่อในด้านอุตสาหกรรมบริการและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จนทำให้ไทยได้รับสมญานามว่า “สยามเมืองยิ้ม” อย่างไรก็ตาม การที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในไทยเกิดจากข้อจำกัดด้านการเดินทางไปเยือนประเทศอื่น ๆ ของผู้ถือสัญชาติรัสเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรของนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลกรุงมอสโกจากเหตุสงครามในยูเครน แต่ถึงกระนั้น ไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย

จากรัสเซีย ด้วยรัก

ในจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเกาะตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของไทย บางพื้นที่ของจังหวัดได้แปรเปลี่ยนไปจนมีสภาพคล้ายคลึงกับเมืองตากอากาศติดชายฝั่งทะเลดำของรัสเซีย เมืองภูเก็ตเนืองแน่นไปด้วยภาพหญิงชายชาวรัสเซียที่ออกมาพักผ่อนหย่อนใจอยู่ริมชายหาด พยายามรับแสงแดดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ป้ายประกาศที่ใช้ภาษารัสเซียพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองภูเก็ต เช่นเดียวกับภาพคุณแม่ชาวรัสเซียกับรถเข็นเด็ก รวมถึงร้านอาหารรัสเซียเปิดใหม่หลายแห่งที่ใช้คำโปรยว่ารสชาติเหมือนรับประทานอาหารที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนอสังหาริมทรัพย์และบริษัททัวร์สัญชาติรัสเซีย รวมถึงมีไกด์ทัวร์ชาวรัสเซียไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวสัญชาติรัสเซียเหล่านี้ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกคับข้องใจ เพราะพวกเขามองว่าเป็นการแย่งงานคนในพื้นที่

“คนรัสเซียรักประเทศไทย รักคนไทย รักสภาพอากาศ ธรรมชาติ และอาหารอร่อย ๆ ของที่นี่” โอลิเซีย นักธุรกิจสาวชาวรัสเซีย กล่าว พร้อมระบุว่าเธอและเดนิส สามีของเธอมาภูเก็ตแล้ว 5 ครั้ง

RFA tourists.jpg

นักท่องเที่ยวถ่ายรูปบนหาดป่าตอง ในจังหวัดภูเก็ต วันที่ 20 มิถุนายน 2566 (เจิน เวียต ดึ๊ก/เรดิโอฟรีเอเชีย)

โอลิเซียบอกว่าพวกเขารู้สึกได้รับการต้อนรับจากคนที่นี่และ “ไม่รู้สึกถึงบรรยากาศในแง่ลบ” ที่มีต่อคนรัสเซีย แม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกประหม่าเมื่อต้องให้สัมภาษณ์กับนักข่าวและขอเปิดเผยเพียงชื่อเท่านั้น

ประเทศไทยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในทวีปเอเชีย และสหรัฐฯ ใช้ไทยเป็นรัฐกันชนเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็นอยู่หลายทศวรรษ ขณะเดียวกัน ไทยยังเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับรัสเซียมาอย่างยาวนาน

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 126 ปีก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือกษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชดำเนินเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อปี 2440

แม้การที่รัสเซียใช้กำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนจะสร้างความสับสนวุ่นวายในระดับนานาชาติ แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ประณามการกระทำของรัฐบาลกรุงมอสโก อีกทั้งยังลงคะแนนงดออกเสียงหลายครั้งในที่ประชุมสหประชาชาติต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครน

แต่สิ่งที่อาจมีนัยสำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ ชาวรัสเซียยังคงพอมีหนทางที่จะใช้จ่ายเงินพวกของเขาในประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวอยู่มาก

สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ชาวรัสเซียไม่สามารถดำเนินธุรกรรมผ่านช่องทาง SWIFT ซึ่งเป็นระบบชำระเงินข้ามพรมแดนที่ธนาคารและสถาบันการเงินส่วนมากในโลกตะวันตกใช้ แต่ชาวรัสเซียยังสามารถใช้ระบบการชำระเงินยูเนียนเพย์ (UnionPay) ของจีนซึ่งเป็นเครือข่ายการชำระเงินผ่านบัตรที่ใหญ่ที่สุดของโลก หรือยังสามารถใช้เงินสด รวมถึงสกุลเงินดิจิทัลได้

RFA russian-shops-1.jpg

ร้านค้าที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียได้ผุดขึ้นมากในเมืองพัทยา ชลบุรี เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 (เจิน เวียต ดึ๊ก/เรดิโอฟรีเอเชีย)

ยึดครองตลาดอสังหาริมทรัพย์

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าช่วงระหว่างเดือนมกราคมและมิถุนายนปีนี้ พลเมืองชาวรัสเซียเกือบ 800,000 คนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจะถึง 1 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยถึง 2 ล้านคน โดยภูเก็ตคือจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวเกินครึ่ง

นโยบายฟรีวีซ่า 45 วันและเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

นายเมธาพงศ์ อุปัติศฤงค์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ระบุว่า ตลาดนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวและความต้องการด้านอสังหาริมทรัพย์

นายเมธาพงศ์กล่าวต่อไปว่านักท่องเที่ยวชาวรัสเซียต้องการเช่าบ้านพักตากอากาศและคอนโดมิเนียมมากกว่าการเช่าห้องพักโรงแรม หากพวกเขามีแผนจะพำนักในประเทศไทยเกิน 3 เดือน โดยจำนวนหน่วยเช่าที่พักเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตนั้นมีมากกว่าหนึ่งหมื่นหน่วยต่อเดือน

นอกจากนี้ เศรษฐีชาวรัสเซียที่ถือวีซ่าผู้อยู่อาศัยระยะยาวในไทยยังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ถือวีซ่าดังกล่าวมีสิทธิอยู่อาศัยในประเทศไทยได้นานถึง 5-10 ปีหรือมากกว่านั้น วีซ่าผู้อยู่อาศัยระยะยาวหรือที่เรียกกันว่า “วีซ่าเศรษฐี” มีค่าใช้จ่ายในการขอรับวีซ่าขั้นต่ำอยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 700,000 บาท) แต่ถึงกระนั้นชาวรัสเซียผู้ถือวีซ่าดังกล่าวกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ประเมินว่าชาวรัสเซียที่มีฐานะมั่งคั่งจำนวน 5,000-10,000 คนถือครองวีซ่าผู้อยู่อาศัยระยะยาวและเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นถิ่นพำนัก โดยเมื่อปีที่แล้ว ยอดขายคอนโดมิเนียมในภูเก็ตที่เปิดขายให้กับชาวต่างชาติกว่าร้อยละ 40 ตกเป็นของผู้ซื้อชาวรัสเซีย

นายเมธาพงศ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านักลงทุนชาวรัสเซียได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น ๆ โดยบ้านพักตากอากาศสุดหรูคืออสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งที่พวกเขาเลือกลงทุน บ้านพักตากอากาศเหล่านั้นมาพร้อมกับราคาที่สูงลิ่ว สนนราคาเริ่มต้นที่ 25 ล้านบาท (ประมาณ 730,000 ดอลลาร์สหรัฐ) นายเมธาพงศ์ ระบุ

RFA anton-and-jason.jpg

แอนตัน มาครอฟ (ซ้าย) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Novosti Phuketa และเจสัน บีแวน ผู้จัดการทั่วไป ในสำนักงานของพวกเขาในจังหวัดภูเก็ต วันที่ 19 มิถุนายน 2566 (เจิน เวียต ดึ๊ก/เรดิโอฟรีเอเชีย)

องค์กรอาชญากรรม

ภูเก็ตมีหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียเป็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าชาวรัสเซียจะสามารถเดินทางเข้าไทยได้อย่างสะดวกมากกว่าแต่ก่อน แต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวกลับมองว่าเพื่อนร่วมชาติของเขายังคงมีชื่อเสียงที่ไม่ดีนักในสายตาคนอื่น

“ตอนนี้ การไม่ชอบคนรัสเซียถือเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย” นายแอนตัน มาครอฟ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Novosti Phuketa หรือหนังสือพิมพ์ข่าวภูเก็ตภาคภาษารัสเซีย เปรียบเทียบให้เห็นถึงการเกลียดกลัวชาวต่างชาติที่มีต่อคนรัสเซียซึ่งอยู่อาศัยในประเทศไทย

“เมื่อคุณเข้าไปในเฟซบุ๊ก คุณจะเห็นความคิดเห็นจำนวนมากที่บอกว่า ‘คนรัสเซียก้าวร้าวและหยิ่งยโส เราไม่ชอบพวกเขา’ แต่เมื่อคุณไปคุยกับคนจริง ๆ พวกเขาจะบอกว่าพวกเขาก็มีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อน ๆ ชาวรัสเซีย” นายมาครอฟกล่าว ขณะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในสำนักงานซึ่งตั้งอยู่ในตรอกเล็ก ๆ ในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

บ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งนับรวมถึงการก่ออาชญากรรมลหุโทษ เช่น เมาแล้วขับ และลักขโมย

การใช้กำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนเมื่อปี 2565 น่าจะทำให้ภาพจำที่คนไทยมีต่อคนรัสเซียค่อย ๆ มัวหมองมากยิ่งขึ้น แคทเธอรีน อะลิอัคเซเยวา (Katherine Aliakseyeva) ผู้อำนวยการสถาบัน Russian Dance Academy “Katyusha” กล่าวว่าเธอรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรที่ทำงานในสถาบันและนักเรียนของเธอ

สถาบัน Russian Dance Academy “Katyusha” เข้าร่วมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ

ข้อสงสัยกรณี “กลุ่มมาเฟีย” ชาวรัสเซียที่ใช้ไทยเป็นแหล่งซ่องสุมอำนาจมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ข้อมูลจากโทรเลขภายในของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งได้รับการปรับสถานะจากชั้นความลับให้สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ในปี 2562 ระบุว่า “วงจรองค์กรอาชญากรรมรัสเซียก่อร่างสร้างตัวขึ้นในไทยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต”

ตามข้อมูลที่ปรากฏในโทรเลขของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของไทยและสหรัฐฯ รายงานว่า “เครือข่ายอาชญากรรมซึ่งประกอบด้วยผู้ถือสัญชาติรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้ได้รับมอบหมายให้ก่อาชญากรรมหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการกรรโชกทรัพย์ การฟอกเงิน การค้ายาเสพติด การฉ้อโกงอสังหาริมทรัพย์ การฉ้อโกงทางการเงิน การลักลอบขนคนเข้าเมือง การค้าประเวณี การปลอมแปลงเงินตรา การปลอมแปลงเอกสาร การก่ออาชญากรรมไซเบอร์ และการนำเข้ารถยนต์ผิดกฎหมาย”

“หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ จำนวนมากมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนหรือเฝ้าระวังคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมรัสเซียในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานไทยซึ่งเป็นพันธมิตร” ข้อมูลในเอกสารระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยระบุว่า “ไม่มีการตรวจพบเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมรัสเซียท่ามกลางนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเดินทางเข้ามาในไทย” คำพูดดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นโดยสื่อไทย

พล.ต.ต. พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า “การกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ถือสัญชาติรัสเซียที่อยู่ในประเทศไทยเป็นความผิดลหุโทษ เช่น ละเมิดกฎหมายจราจร”

RFA father-roman-3.jpg

บาดหลวงโรมัน บิชคอฟ ประจำคริสตจักรโฮลีทรินิตี้ ในจังหวัดภูเก็ต วันที่ 20 มิถุนายน 2566 (เจิน เวียต ดึ๊ก/เรดิโอฟรีเอเชีย)

‘ทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ยังมีอีกด้านของชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นั่นคือ ด้านจิตวิญญาณ

เนื่องจากชาวรัสเซียที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ความต้องการให้มีศาสนสถานจึงเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศาสนสถานของศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์จำนวน 10 แห่ง เขตวัดของนิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์แห่งแรกในไทยคือเขตนักบุญนิโคลัส ซึ่งตั้งชื่อตามพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิรัสเซีย โดยมีการสถาปนาเขตวัดครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2542

ในปี 2550 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซียเนื่องในวาระครบรอบ 110 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองรัฐ และในปีต่อมา รัฐบาลไทยได้รับรองให้โบสถ์คริสต์นิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์มีสถานะเป็นองค์กรทางศาสนาอย่างเป็นทางการ

โดยทั่วไป โบสถ์รัสเซียออร์โธดอกซ์ในไทยเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมให้แก่ชุมชนชาวรัสเซียซึ่งประกอบไปด้วยนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่ประกอบกิจการอยู่ในไทย นอกเหนือจากกลุ่มคนที่พูดภาษารัสเซียแล้ว ยังมีคนไทยบางส่วนที่สนใจในศาสนามาเข้าร่วมด้วย

นักบวชหลายรูปจากไทย รวมถึงลาวและกัมพูชา ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์ และเผยแผ่ศาสนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของทั้งสามประเทศนี้จะนับถือศาสนาพุทธ

สงครามในยูเครนสร้างความตึงเครียดอย่างหนักภายในโบสถ์ออร์โธดอกซ์ อัครบิดรคีริลล์ ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์เปิดเผยอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงสนับสนุนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ขณะที่อัครบิดรบาร์โธโลมิวที่ 1 ซึ่งเป็นประมุขแห่งศาสนาจักรออร์โธดอกซ์ทั้งมวลได้ออกมาประณามการที่รัสเซียใช้กำลังทหารบุกยูเครน

เมื่อเดือนธันวาคม 2561 อัครบิดรบาร์โธโลมิวที่ 1 ทรงอุปถัมภ์การแยกตัวออกเป็นอิสระของโบสถ์ออร์โธดอกซ์ในยูเครน ทำให้โบสถ์มากกว่า 100 แห่งในยูเครนไม่ขึ้นตรงต่อศาสนจักรที่กรุงมอสโก

ในประเทศไทย ทั้งศาสนิกชนและนักบวชต่างพยายามนำตนเองออกจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ บาทหลวงแดเนียล ดนัย วรรณะ ผู้เป็นบาทหลวงแห่งนิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์ชาวไทยคนแรก ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในโบสถ์ที่เมืองพัทยา กล่าวว่านักบวชไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงสงคราม

คริสตจักรออร์โธดอกซ์แห่งเหล่านักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองพัทยา โดยโบสถ์แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมสัญลักษณ์และภาพบูชาจำนวนมากตามความเชื่อของนิกายรัสเซียออร์โธดอกซ์ แม้ว่าภาพบูชาและรูปปั้นส่วนใหญ่จะเป็นแบบจำลอง แต่บาทหลวงดนัยรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ห้องประชุมขนาดเล็กบริเวณชั้นสองของโบสถ์เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม บาทหลวงดนัยกล่าวว่า ในช่วงฤดูท่องเที่ยวของไทยและช่วงวันสำคัญทางคริสตศาสนา จะมีศาสนิกชนเข้าร่วมพิธีกรรมในโบสถ์หลายร้อยคน

“มีคนจากหลากหลายประเทศเข้ามาที่นี่เพื่อสวดภาวนา และเราไม่พูดถึงเรื่องอื่นนอกจากสัมพันธไมตรีและความรัก” เขากล่าว

“เราไม่สนทนากันถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่เราสวดภาวนาขอให้เกิดสันติภาพ ทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า”

RFA father-danai-2.jpg

บาทหลวงดนัย วรรณา คนไทยคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบาทหลวงนิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย ชี้ไปที่สัญลักษณ์ในโบสถ์ออลเซนต์ ในชานเมืองพัทยา วันที่ 22 มิถุนายน 2566 (เจิน เวียต ดึ๊ก/เรดิโอฟรีเอเชีย)

แรงกดดันทางการทูต

ท่าทีของรัฐบาลไทยที่ปฏิเสธแรงกดดันจากชาติตะวันตก ไม่ร่วมประณามการกระทำของรัสเซียนั้นสร้างความประหลาดใจให้กับรัฐบาลกรุงวอชิงตัน เพราะทราบกันดีว่าไทยในฐานะพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ เป็นประเทศที่แสดงออกอย่างแข็งกร้าวว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม “ในยุคหลังสงครามเย็นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การก้าวเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 บทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศนั้นมีท่าทีเชิงรุกที่น้อยลง” ดร.เอียน สตอรีย์ นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ISEAS) - ยูซอฟ อิสฮาก แห่งสิงคโปร์ ระบุ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อย ๆ ลดระดับลงหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาประณามไทยในเรื่องนี้

“ในเชิงความสัมพันธ์ที่มีต่อประเทศมหานอำนาจ รัฐบาลไทยในยุคถัดมาพยายามดำเนินนโยบายแบบเป็นกลางและไม่เลือกข้างในการต่อสู้บนสนามภูมิศาสตร์การเมือง” ดร.สตอรีย์ กล่าว

ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งเดือนหลังจากรัสเซียบุกยูเครน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ไทยต้องวางตัวเป็นกลาง” และ “หากจะทำอะไรต้องคิดถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียที่มีมาอย่างยาวนาน”

ในปีเดียวกันนั้น ไทยและรัสเซียร่วมฉลองครบรอบ 125 ปีการสถานปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการ

ในความเป็นจริง การติดต่อระหว่างราชวงศ์แห่งจักรวรรดิรัสเซียและราชอาณาจักรสยามย้อนกลับไปได้ถึงทศวรรษที่ 1860 เมื่อเรือสองลำจากกองทัพเรือแปซิฟิกแห่งจักรวรรดิรัสเซียเทียบท่าที่แม่น้ำเจ้าพระยา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานพระราชวโรกาสให้เหล่าทหารเรือเข้าเฝ้าฯ

เมื่อปี 2434 เจ้าชายนิโคลัส ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยาม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงต้อนรับ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปศึกษาและทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กแห่งจักรวรรดิรัสเซีย หลังจากนั้นพระองค์ทรงเษกสมรสกับคัทริน เดสนิตสะกี หญิงสาวชาวรัสเซีย

ในปี 2546 ประธานาธิบดีปูตินถือเป็นผู้นำรัสเซียคนแรกที่เดินทางเยือนประเทศไทยในรอบหลายร้อยปี

RFA putin-thailandking.jpg

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ขวา) ต้อนรับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และนางลุดมิลา ภริยา ที่พระราชวังในกรุงเทพฯ วันที่ 22 ตุลาคม 2546 (มลันเดน อันโตนอฟ/เอเอฟพี)

การซื้ออาวุธและความร่วมมือทางการทหาร

ความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างไทยและรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้ดูเหมือนจะมีรากฐานสำคัญมาจากการคำนวณเชิงปฏิบัติ ในขณะที่การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ 1.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก แต่เศรษฐกิจไทยกลับพึ่งพารายได้หลักจำนวนมหาศาลจากภาคการท่องเที่ยว

หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทยระบุว่านักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานที่สุดและใช้จ่ายในประเทศไทยมากที่สุด 

ทว่า หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนานซับซ้อนมากขึ้นนั้น รัสเซียมองเห็นโอกาสที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ด้านการทหารกับประเทศไทยด้วยการขายอาวุธ

พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เดินทางไปยังรัสเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงด้านความร่วมมือทางการทหาร

ไทยได้แสดงออกว่ามีความสนใจในการซื้ออาวุธจากกองทัพรัสเซีย เช่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขับไล่ และรถถัง เพื่อนำไปใช้ในกิจการของกองทัพอากาศและกองทัพบกไทย

อย่างไรก็ตาม ดร.สตอรีย์ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ISEAS) - ยูซอฟ อิสฮาก กล่าวว่า จนถึงทุกวันนี้ ความพยายามในการขายอาวุธของรัสเซียประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการส่งออกด้านความมั่นคงของรัสเซียมายังไทยมีมูลค่าเพียง 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ปี 2549-2564 พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะรัสเซียถูก “จีนขาย [อาวุธ] ตัดราคา”

สองตัวอย่างของเรื่องนี้ คือเมื่อครั้งที่คณะรัฐประหารของไทยเปิดประมูลเสนอราคาเรือดำน้ำสองลำ รวมถึงรถถังหลักรุ่นใหม่ โดยผู้ที่ชนะการประมูลราคาทั้งสองครั้งนั้นคือจีน ซึ่งกลายมาเป็นประเทศคู่ค้าอาวุธหลักของไทยในปัจจุบัน

“รัสเซียไม่ใช่ผู้เล่นตัวจริงในแผนความมั่นคงของไทย ถึงแม้ว่ารัสเซียจะจีบไทยอย่างหนักมาเป็นเวลาหลายปี” ดร.สตอรีย์ กล่าว

ถึงกระนั้น แรงขับก็ยังเคลื่อนต่อ ตั้งแต่ปี 2564 นักเรียนเตรียมทหารและทหารไทยเข้าร่วมการฝึกด้านการทหารที่โรงเรียนเตรียมทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย โดยข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียระบุว่าหลักสูตรการฝึกทหารในโครงการดังกล่าวมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่ 1-6 ปี

ในพิธีเฉลิมฉลองเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ณ ฐานทัพอากาศอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ รัสเซียได้ส่งมอบเฮลิคอปเตอร์แบบอเนกประสงค์ รุ่น​ Mi-17V-5 จำนวน 3 ลำให้แก่กองทัพบกไทย ตั้งแต่ปี 2551-2564 รัฐบาลรัสเซียได้ส่งมอบเฮลิคอปเตอร์จำนวน 10 ลำเช่นนี้ให้แก่ไทย นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังเคยสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบอเนกประสงค์รุ่น Kamov KA-32A11VS จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้ในการบรรเทาภัยพิบัติและสาธารณภัย

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณว่ากาลเวลาได้แปรเปลี่ยน และอาจชี้ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของไทยในการจัดการกับมหาอำนาจโลก การจัดพิธีรับมอบอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียเกิดขึ้นที่ฐานทัพอากาศอู่ตะเภา ซึ่งมีความสำคัญ เพราะกองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้สร้างฐานทัพแห่งนี้ขึ้นมาในยุคสงครามเวียดนามเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนหน้า

จนกระทั่งในเดือนเมษายนปีนี้ที่ได้เห็นภาพการพูดคุยครั้งแรกระหว่างบุคลากรในกองทัพบกไทยและรัสเซีย ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันว่า “ทั้งสองกองทัพจะสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมถึงการฝึกซ้อมรบ” กระทรวงกลาโหมแห่งรัสเซีย ระบุ

ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ของไทยภาคภูมิใจมาอย่างยาวนานกับนโยบายการต่างประเทศที่ยืดหยุ่นและเน้นไปที่การปฏิบัติจริง ซึ่งพวกเขาเปรียบเทียบนโยบายลักษณะดังกล่าวว่ามีความคล้ายคลึงกับต้นไผ่ที่เอนอ่อนไปตามสายลมและไม่มีวันแตกหัก ผลจากนโยบายต่างประเทศดังกล่าว ประเทศไทยสามารถจัดการตัวเองไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามความขัดแย้งขนาดใหญ่ในภูมิภาคได้ แต่แนวคิดปฏิบัตินิยมเช่นเดียวกันนี้อาจเป็นตัวสกัดกั้นให้ไทยไม่ถลำลึกเข้าใกล้รัสเซียไปมากกว่านี้

 

*เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ BenarNews

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: