กสทช.ผลักดันระบบ Social Credit กำกับดูแลอุตสาหกรรมทีวีในเชิงบวก

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 851 ครั้ง

กสทช.ผลักดันระบบ Social Credit กำกับดูแลอุตสาหกรรมทีวีในเชิงบวก

กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมทีวี ผลักดันแพลตฟอร์มแห่งชาติและการใช้ระบบ Social Credit เน้นกำกับดูแลในเชิงบวก

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งข่าวว่าเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2566 ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ร่วมงานพบปะสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและผลงาน ในช่วง 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา

กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ได้วางและดำเนินการ 5 นโยบาย ได้แก่

1. การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Online Migration) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572

2. แนวทางการกำกับดูแล OTT เพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ

3. การส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและความหลากหลาย รวมถึงการสร้างบุคลากรและอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานด้านเทคโนโลยีและจริยธรรม สู่ดิจิทัลที่ยั่งยืน

4. การกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพ

5. การส่งเสริม local content / สื่อท้องถิ่น-ชุมชน

ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางการจัดทำต้นแบบ National Streaming Platform โดยมีแนวคิดในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์กลางที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาของทีวีดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการออกอากาศภาคพื้นดิน (live streaming) ไปสู่ผู้ชมผ่านอุปกรณ์ที่ผู้ชมเลือกใช้ ไม่ว่าจะผ่านทางออนไลน์แอปพลิเคชั่นหรือผ่านเว็บไซต์

"แพลตฟอร์มออนไลน์กลางดังกล่าวจะสามารถเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้เปิดรับเนื้อหาได้ ทำให้ระบบโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องไปเสียเงินให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มระดับโลกซึ่งไม่เปิดเผยข้อมูลการเปิดรับของผู้ใช้ให้คนอื่นทราบและได้เพียงส่วนแบ่งรายได้อย่างบางเบาอย่างที่เป็นอยู่ หรือต้องลงทุนทำ OTT ทำ online app ของตัวเอง ซึ่งทำให้ข้อมูลการเปิดรับสื่อไม่รวมศูนย์ กระจัดกระจาย การวางแผนซื้อสื่อทีวีผ่านออนไลน์ก็ทำได้ลำบาก" ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง กล่าว

"ข้อดีที่น่าจะเกิดขึ้นของการผนึกรวมข้อมูลทั้งเนื้อหารายการ โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภคเอาไว้ด้วยกันบนแพลตฟอร์มกลาง ก็คือการไหลเวียนของเงินโฆษณาจะอยู่ภายในประเทศ แทนที่จะไหลออกไปที่ global digital platform และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ก็น่าจะได้ส่วนแบ่งรายได้ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จะได้นำรายได้มาพัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น" กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าว

ขณะนี้ ฝ่ายวิศวกรรมโทรทัศน์ของสำนักงาน กสทช. ได้ออกแบบแนวทางเบื้องต้นไว้แล้วและกำลังหารือกับสมาคมทีวีดิจิตอล สมาคมโฆษณาธุรกิจและจะมีการพูดคุยขอความร่วมมือจากผู้ผลิตทีวีรายใหญ่อย่าง Andriod TV, LG, Samsung ในการติดตั้งแอปของแพลตฟอร์มกลางนี้จากโรงงานให้ปรากฏบนรีโมตหรือแผงหน้าเครื่องรับโทรทัศน์เลย ซึ่งในวันที่ 5 ก.ย. จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกรอบหนึ่งด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ในการกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพนั้น กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ยังมีโครงการส่งเสริมการกำกับเนื้อหาโดยใช้ AI และการมอนิเตอร์เนื้อหาผ่านระบบการสะสม social credit เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำเนื้อหาที่ดี หรือไม่มีการละเมิดกฎหมายหรือเงื่อนไขใบอนุญาต และเป็นประโยชน์กับสังคม ให้สามารถสะสมคะแนนได้อย่างเป็นระบบ และในแต่ละปีจะมีการประเมินเพื่อให้รางวัลซึ่งอาจเป็นการลดค่าธรรมเนียมหรือรางวัลในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการผลิตเนื้อหาที่ดี ไม่ใช่เน้นแค่ยอดผู้ชม

นอกจากการดำเนินการตามนโยบาย 5 ด้านที่กล่าวมาแล้ว สำหรับผลงานอื่นๆ ในช่วง 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ยังมีการจัดทำหรือปรับปรุงร่างประกาศ กสทช.หลายฉบับ ได้แก่ -ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 ก.ค. 66 มีสาระสำคัญคือการเปิดเสรีให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลและทีวีดาวเทียมสามารถแทรกช่องเพื่อใช้ประโยชน์จากช่องว่างของตำแหน่งช่องที่เลิกกิจการไปแล้วได้

-ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ พ.ศ.2566 (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 15 ส.ค. 2566) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและนักวิชาชีพสื่อเพื่อสร้างองค์กรกำกับดูแลกันเองตามมาตรฐานจริยธรรม
-ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบการกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 21 มิ.ย. 2566)
-ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 21 มิ.ย. 2566) เน้นการสนับสนุนเนื้อหาเพื่อเด็กและเยาวชน เนื้อหาที่ผลิตร่วมกับผู้ผลิตต่างประเทศ เนื้อหาที่สะท้อนความหลากหลาย และเนื้อหาเอกลักษณ์ท้องถิ่น โดยจะมีการออกหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนตามมา
-การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง ยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 23 เม.ย. 2566) เป็นการทบทวนร่างประกาศ Must Have
-ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาโฆษณาและโฆษณาแฝง และการทบทวนประกาศ Must Carry อยู่ระหว่างดำเนินการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: