เสนอนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานและคุ้มครองแรงงานและแรงงานข้ามชาติและครอบครัว

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 16224 ครั้ง

เสนอนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานและคุ้มครองแรงงานและแรงงานข้ามชาติและครอบครัว

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานและคุ้มครองแรงงานและแรงงานข้ามชาติและครอบครัว

13 ก.ย. 2566 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอนโยบายในการบริหารจัดการแรงงานและคุ้มครองแรงงานและแรงงานข้ามชาติและครอบครัว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ขอแสดงความยินดีในการที่ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายใต้รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านและคณะจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานและแรงงานข้ามชาติและครอบครัวให้เป็นที่ยอมรับและชื่นชม ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

มูลนิธิฯ และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมในฐานะหุ้นส่วนทางสังคมที่ทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยการรวบรวมข้อมูล ศึกษา ประสานงาน เสนอแนะ รณรงค์เผยแพร่และผลักดันเชิงนโยบาย กฎหมายและการปฏิบัติ การเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานดังกล่าว รวมทั้งการต่อต้านการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ มีความยินดีอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสประสานงานและร่วมมือและทำงานกับท่านและกระทรวงแรงงานต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการที่มูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ทำงานให้ความช่วยเหลือแรงงาน แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม เป็นเวลากว่า 20 ปี มูลนิธิฯ ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายด้านแรงงานและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ที่ยังคงมีข้อท้าท้ายตั้งแต่กระบวนการการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ กฎหมายและการปฏิบัติของรัฐบาลที่ผ่านมาและการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ยังขาดหลักการ ความเข้าใจ และทิศทางที่แน่นอนชัดเจน โดยมุ่งเพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ดั้งนั้น มูลนิธิฯ จึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอต่อท่านเพื่อพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.แรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ

1.1 ปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มขึ้นแต่อัตราการเกิดประชากรลดลง ประเทศไทยเกิดสภาพขาดแคลนแรงงาน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติผ่อนผันให้จ้างแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ เป็นครั้งแรก ในปี 2535 โดยคาดว่าจะนำไปสู่การจัดระเบียบแรงงานและการทำให้แรงงานข้ามชาติให้มีสถานะการทำงานและการอยู่อาศัยในประเทศอย่างถูกกฎหมาย แต่การบริหารจัดการที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติยังต้องเผชิญกับข้อท้าทายอยู่หลายประการ ทั้งเรื่องการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย การเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย การถูกเลือกปฏิบัติและเอาเปรียบจากนโยบายและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการผลักภาระในการขึ้นทะเบียนแรงงานและค่าใช้จ่ายทางด้านเอกสารและขั้นตอนที่มากเกินสมควรและซับซ้อน ไม่เหมาะสมกับรายได้ที่ต่ำของแรงงานข้ามชาติและไม่สอดคล้องกับหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม (ILO General principles and operational guidelines for fair recruitment) ทั้งแรงงานแต่ละคนก็มีรูปแบบการขึ้นทะเบียนและช่วงเวลาการขึ้นทะเบียนที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอายุของเอกสาร แม้หน่วยงานรัฐจะมองว่า อัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดมานั้นต่ำแล้ว แต่ความจำเป็นที่แรงงานต้องให้ดำเนินการโดยนายจ้างและนายหน้า ส่งผลให้ภาระทางการเงินตกแก่แรงงาน แบกรับภาระหนี้อันเกิดจากกระบวนการของการขึ้นทะเบียนที่แม้นายจ้างจะทดลองออกให้ก่อน แต่ผลักภาระให้แก่แรงงานในที่สุด โดยหักเงินค่าจ้างหรือหน่วงเหนี่ยวให้แรงงานทำงานอยู่กับนายจ้างเป็นเวลานาน โดยจำนวนมากถูกนายจ้างหรือตัวแทนยึดเอกสารประจำตัวไว้เป็นประกัน ทำให้แรงงานจำต้องทำงานกับนายจ้างในสภาพการทำงานและค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ถูกบังคับใช้แรงงานและเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์โดยการค้าทาสยุคใหม่ มูลนิธิจึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 (และที่แก้ไข) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อ

(1) ให้กฎหมาย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม การต่อใบอนุญาตเข้าหรืออยู่ในประเทศ ใบอนุญาตทำงาน ระยะเวลาในการขึ้นทะเบียนและการจัดทำเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งในการพิสูจน์สัญชาติหรือสถานะบุคคล การผลักดันกลับประเทศต้นทางที่ ง่าย ประหยัด สะดวก รวดเร็ว สำหรับแรงงานและนายจ้าง และค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนที่เป็นธรรมสอดคล้องกับหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม (ILO General principles and operational guidelines for fair recruitment)

(2) แก้ไขหรือยกเลิกบทบัญญัติตามมาตรา 64 ของ พรก. ฉบับดังกล่าว ซึ่งได้สร้างปัญหาให้แรงงานข้ามชาติ ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบและต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่สมควร เช่น การต่อสัญญาจ้างและขออนุญาตอยู่ในประเทศและใบอนุญาตทำงานทุกๆ 90 วัน

(3) การทำงานของผู้ไร้สัญชาติ ปัจจุบันมีผู้ที่เกิดในประเทศๆไทยจำนวนมากที่เป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เนื่องจากสาเหตุต่างๆกัน เช่น เป็นบุคคลที่ไม่ปรากฎหลักฐานรากเหง้าเกี่ยวกับสัญชาติ ตกหล่นการแจ้ง สำรวจ ลงทะเบียน กลายเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และถูกจัดให้เป็นคนต่างด้าวตาม พรก. การบริหารจัดการฯ ไม่สามารถทำงานได้โดยไม่มีใบอนุญาตและไม่สามารถเข้าถึงการบริการต่างๆของรัฐและการบริการสาธารณะในด้านต่างๆ เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง ครอบครัว และกระทบต่อสังคม ดังนั้น กระทรวงแรงงานควรดำเนินการให้มีการปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย และระเบียบ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถทำงานได้เช่นเดียวกับผู้มีสัญชาติไทย

(4) การทำงานของผู้ลี้ภัย ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือไปประเทศที่สามได้ บุคคลเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทบุคคลต่างด้าวหรือผู้ไม่มีสัญชาติไทย ตาม พรก. การบริหารจัดการฯ เช่นกัน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ และต้องยังชีพด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือนานาชาติ กระทรวงแรงงานควรดำเนินการให้มีการผ่อนผันให้บุคคลกลุ่มนี้ทำงานบางประเภทได้ นอกจากจะลดภาระการสนับสนุนดังกล่าวแล้ว ยังทำให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความสุขตามอัตภาพและเป็นกำลังการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย

1.2 การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติและครอบครัวซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามล้านคนเป็นกำลังการผลิตที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ประมงทางทะเล กิจการขนาดย่อม กิจการนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร ค่าแรงต่ำ ชั่วโมงการทำงาน วันหยุด วันลา วันพักผ่อน สภาพการทำงาน และสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาลและค่าทดแทนเมื่อเกิดการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และมีลักษณะการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ หากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข อาจมีผลจะมีผลทำให้สินค้าและบริการที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลในระยะกลางว่าด้วยการเปิดประตูการค้า เจรจา ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญด้านการคุ้มครองแรงงานตามหลักการสากล อันจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนของประเทศ มูลนิธิจึงข้อเสนอดังนี้

(1) พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (และที่แก้ไข) แม้ในทางหลักการกฎหมายนี้จะบังคับใช้ต่อนายจ้าง-ลูกจ้างทุกรายก็ตาม แต่ยังมีกฎระเบียบและการปฏิบัติที่ละเมิดกฎหมาย เช่น กฎหมายบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ที่มีกฎระเบียบที่อนุญาตให้นายจ้างการยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติได้โยอ้างว่าลูกจ้างสมัครใจฝากไว้ การหักเงินค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ รูปแบบการจ้างงานที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย การพึ่งพานายหน้า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ส่งผลให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานบังคับใช้อย่างเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติบางส่วนไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือการพิจารณาการคุ้มครองโดยการยึดโยงเอกสารของแรงงานมากกว่าคำนิยามของคำว่า ลูกจ้าง นายจ้าง ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงแรงงานยกเลิกกฎระเบียบและดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนความเข้าใจและทัศนคติที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติดังกล่าวของเจ้าหน้าที่

(2) พรบ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 และ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีกฎหมายลำดับรองและแนวปฏิบัติที่ออกภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งสองฉบับ ที่มีลักษณะกีดกัน ปิดกั้นแรงงานข้ามชาติ และลูกจ้างในบางกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกจ้างตามฤดูกาลในภาคเกษตรและประมง รวมถึงลูกจ้างทำงานบ้าน ในการเข้าถึงสิทธิภายใต้กฎหมายดังกล่าว เช่น การออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง โดยให้นายจ้างของแรงงานประมงเลือกที่จะซื้อประกันเอกชนที่เทียบเท่าประกันสังคมหรือเลือกให้เข้าประกันสังคม ซึ่งนอกจากจะมีการเลือกปฏิบัติแล้วยังขัดกับอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมยังคงขาดการตรวจสอบการเข้าถึงประกันของแรงงานข้ามชาติ ในการเข้าถึงโอกาสในการเป็นผู้ประกันตน และการเข้าถึงการคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทน และแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน อาทิเช่น การเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ตาม พรบ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 (และที่แก้ไข) มีกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่ออกตามกฎหมายฉบับนี้ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ กล่าวคือ ในกรณีที่ลูกจ้างที่เข้าเมืองหรืออยู่ในราชอาณาจักรหรือทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือในกรณีที่ได้รับอนุญาตแต่นายจ้างไม่นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน ทำให้เมื่อแรงงานข้ามชาติประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งตาม พรบ.เงินทดแทนฯ ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ดังเคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ.821/2558 กรณีเงินทดแทน ได้เคยมีคำพิพากษาวางบรรทัดฐานไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานกลับสั่งให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าว ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับเงินหรือได้ไม่ครบถ้วน ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงควรดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและตามแนวทางของคำพิพากษาดังกล่าวด้วย

อนึ่ง แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนและมีส่วนได้เสียในกองทุนประกันสังคม ยังไม่มีสิทธิมีส่วนร่วมในการที่จะตรวจสอบ หรือมีตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูและและบริหารจัดการกองทุนดังกล่าว จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างยิ่ง

(3) นอกจากนั้นจะต้องดำเนินการในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง มีมาตรการลงโทษที่ชัดเจนต่อนายจ้าง นายหน้า ที่หลีกเลี่ยงหรือละเมิดกฎหมาย สร้างกลไกที่เหมาะสมในการเข้าถึงการร้องเรียนในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติตามกฎหมาย หากมีกรณีพิพาทด้านแรงงาน และมีการเลิกจ้าง รัฐจะต้องมีมาตรการในการให้สิทธิแรงงานได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือสนับสนุนมาตรการที่กำหนดให้มีการคุ้มครองเยียวยาอย่างเหมาะสม

(4) ขอให้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศเพื่อบ้าน พม่า กัมพูชา และลาว เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่มาจากประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การเอารัดเอาเปรียบจากขบวนการนายหน้า การพิสูจน์สัญชาติและสถานะ การจัดทำและต่ออายุเอกสารประจำตัวและเอกสารการเดินทาง การช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ การรับเงินค่าจ้าง ค่าชดเชยเยียวยา หลังจากคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว เป็นต้น

(5) ขอให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (International Convention on Protection of the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families1990-ICRMW) โดยมิชักช้า

1.3 เสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานข้ามชาติ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติทีลิดรอนหรือกีดกันแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งผู้ไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ไม่ให้มีเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรแรงงาน เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการของสหภาพแรงงาน หรือองค์กรแรงงาน ซึ่งขัดหลักสิทธิมนุษยชนและต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม ดังนั้นมูลนิธิจึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของแรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย และสอดคล้องกับการเปิดตัวแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระยะที่ 2 ที่จัดทำแผนให้รัฐบาลพิจารณาสัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง

2. การแบ่งแยกแรงงานและความสับสนของกฎหมาย

ในอดีต อาจด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง การเมือง หรือมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาล ผู้ประกอบการและแรงงาน ยังผลให้เกิดพัฒนาการด้านกฎหมายแรงงานออกไปในลักษณะที่แบ่งแยกแรงงานออกจากกัน ทั้งในด้านการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ (Labor Relation หรือ Industrial Relation) มีผลทำให้กฎหมายไม่สามารถครอบคลุมรูปแบบทางธุรกิจ เทคโนโลยีและการทำงานใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น มูลนิธิ จึงขอให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

2.1 จัดทำกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่เป็นฉบับเดียว กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกลุ่มกฎหมายที่ตราไว้เพื่อคุ้มครอง “แรงงาน” หรือ “คนทำงาน” เพื่อประกันมาตรฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับสภาพการทำงาน ทั้งในเรื่องค่าตอบแทน วันเวลาในการทำงานและสวัสดิการต่างๆ ของบุคคลกลุ่มดังกล่าว เช่น พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พรบ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 และ พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ พรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 เป็นต้น (โดยจะเรียกรวมกันว่า “กฎหมายคุ้มครองแรงงาน”) มูลนิธิเสนอว่า รัฐบาลควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยรวมกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นฉบับเดียวกันโดยอาจตราเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานหรือประมวลกฎหมาย (Labor Code) คุ้มครองแรงงาน เป็นหนึ่งฉบับ ที่มีบทบัญญัติที่สำคัญคือ

(2.1.1) ให้ครอบคลุม” แรงงาน (Labor)”หรือ “คนทำงาน (Worker)” ทุกประเภท ทุกกิจการ ไม่จำกัดเฉพาะ “ลูกจ้าง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่ให้รวมถึงปัจเจกชนที่เป็น “แรงงาน (Labor)” หรือ “คนทำงาน (Worker)” อื่นๆ เช่น ผู้ใช้แรงงาน ผู้รับจ้าง คนทำงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้อื่นตามสัญญาต่างตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ที่รูปแบบการทำงานและนิติสัมพันธ์อาจแฝงหรือเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของธุรกิจและเทคโนโลยี เช่น ไรเดอร์ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ฝึกงาน คนทำงานในสถานบริการ คนทำงานบางเวลา คนฝึกงาน ฯลฯ

(2.1.2) กำหนดสิทธิด้านแรงงาน และ “มาตรฐานขั้นต่ำ” เกี่ยวกับสภาพการทำงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ฯลฯ ที่” แรงงาน (Labor)” หรือ “คนทำงาน (Worker)” ทุกคน ทุกประเภท พึงได้รับโดยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ต้องไม่ด้อยกว่าที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนด

(2.1.3) กำหนดสิทธิด้านแรงงานและมาตรฐานขั้นต่ำ ในกฎหมายดังกล่าวตาม (2.1.2) หรือกฎหมายระดับรองหรืออนุบัญญัติ ในรูปของพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง เป็นการเฉพาะ พิเศษ ที่เหมาะสมกับ “แรงงาน (Labor)” หรือ “คนทำงาน (Worker)” แต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่า “มาตรฐานขั้นต่ำ”และไม่ด้อยกว่าที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนด

(2.1.4) กฎหมายคุ้มครองแรงงานในระดับพระราชบัญญัติและอนุบัญญัติ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนหรือความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าในรูปแบบหรือบนพื้นฐานใดๆ

2.2 จัดทำกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่เป็นฉบับเดียว กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เดิมมีอยู่ฉบับเดียวคือ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2534 ได้ตรา พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 เพื่อแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจมาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ มีผลทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ ขาดพลังต่อรองและไม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายด้านแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ ถูกกำหนดและตีความให้มีผลครอบคลุมเฉพาะลูกจ้าง-นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น ทำให้ “แรงงาน” หรือ “คนทำงาน” กว่า 50% เช่น แรงงานนอกระบบ แรงงานภายใต้สัญญาจ้างทำของ หรือสัญญาต่างตอบแทนอื่นๆ และแรงงานอิสระ ไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งองค์การแรงงาน สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ฯลฯ ได้ มูลนิธิจึงขอเสนอให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้งและได้เข้าเป็นสมาชิก ILO ตั้งแต่ปี 2462 และรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาต่อนานาชาติว่า ประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลักขององค์การ ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัว จัดตั้งและดำเนินการองค์การแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2492 แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว โดยอ้างว่า จะต้องแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เสียก่อน ทำให้แรงงานในประเทศไทยถูกลิดรอนหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งองค์การหรือสหภาพแรงงาน และโดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งแรงงานข้ามชาติก็ถูกกีดกัน ไม่สามารถจัดตั้งองค์การแรงงานหรือสหภาพแรงงาน เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการขององค์กรดังกล่าวได้ ขาดอำนาจเจรจาต่อรองร่วม (Collective bargaining) เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านแรงงานของตน กระทรวงแรงงานจึงควรดำเนินการให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ต้องแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เสียก่อน

(2) จัดทำกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เป็นฉบับเดียว โดยให้ครอบคลุม “แรงงาน (Labor) ” หรือ “คนทำงาน(Worker)” ทุกประเภท ทุกกิจการ ทั้งภาครัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยราชการ และภาคเอกชน สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งองค์การแรงงาน (Worker organization) โดยอาจกำหนดให้องค์การแรงงานแต่ละประเภท มีลักษณะและสิทธิที่เหมาะสมตามลักษณะของกิจการ ตั้งนี้ จะต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87, 98 และฉบับอื่นๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ

3. การค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานบังคับ

ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานบังคับ ปัจจุบัน มีรูปแบบพัฒนาไปตามลักษณะทางธุรกิจและเทคโนโลยีเช่นกัน เช่น แรงงานขัดหนี้หรือในกิจการคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) หรือ สแคมเมอร์ (Scammer) ที่มีคนทำงานจำนวนมากขึ้นทุกทีที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์หรือแรงงานบังคับ ที่ผ่านมา แม้รัฐบาล ภายใต้แรงกดดันทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ที่ผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ หรือรัฐบาลต่างๆปฏิเสธสินค้าหรือบริการที่เกิดจากแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก แรงงานที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบและเหยื่อของการค้ามนุษย์ ประเทศไทยจึงได้ตราและแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีปัญหาทั้งตัวบทกฎหมายและการปฏิบัติที่รัฐบาลควรต้องปรับปรุง มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อสินค้าและบริการของประเทศในตลาดโลกอย่างยิ่ง มูลนิธิจึงขอเสนอรัฐบาลดังต่อไปนี้

(1) ปรับปรุงแก้ไข พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 (และที่แก้ไข) ให้สอดคล้องกับพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 (ฉบับที่29) โดยเฉพาะบทบัญญัติเกี่ยวกับแรงงานบังคับ

(2) สร้างบุคคลกรในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พนักงานอัยการ และศาล ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกฎหมาย และสามารถให้ความรู้ คำปรึกษา และการปฏิบัติ อย่างสอดคล้องกับหลักการของ ILO และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
มูลนิธิและองค์กรเครือข่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น จะเป็นประโยน์ต่อการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของท่านและคณะในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานทั้งปวงในประเทศไทยต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: