มองปัญหา “การค้าหนังลา” ถึงเวลาภาครัฐต้องคุมเข้มกฎระเบียบ ตัดเส้นทางวงจรโรคระบาดร้ายแรง

มาเรียนน์ สตีล 13 พ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 22616 ครั้ง


รายงานองค์การอนามัยโลก เผยว่า 60% ของโรคติดต่อทั่วโลกที่อุบัติขึ้นใหม่ในปัจจุบันมีที่มาจากสัตว์ ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง โดย 75% ของเชื้อโรคใหม่ๆ จำนวนกว่า 30 โรคที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ (Human Pathogens) ซึ่งพบในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาล้วนมาจากสัตว์ หรือที่เราเรียกว่า โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Diseases) ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก เห็นได้ชัดจากสถานการณ์การเพร่ระบาดโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดนกเมื่อเร็วๆ นี้    

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนไปทั่วโลกได้ นั่นก็คือ การค้าหนังลาที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม การค้าหนังลาในปัจจุบันยังขาดมาตรการและกฎระเบียบในการกำกับควบคุม ไร้เหตุจำเป็น รวมถึงสร้างความทุกข์ทรมานให้กับลา และส่งผลกระทบรุนแรงมากมายต่อชุมชนที่ต้องใช้ลา 

ลา ถือเป็นสัตว์ที่มีความเฉลี่ยวฉลาดและมีความรู้สึกอ่อนไหว ซึ่งเราควรให้ความสำคัญและเคารพในคุณค่าการมีชีวิตอยู่ของพวกเขา ลายังถือว่ามีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชุมชนที่ต้องพึ่งพาลาทั่วโลกอีกด้วย

ทว่าประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าหนังลามากที่สุดก็คือประเทศจีน ซึ่งต้องการหนังลาไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต “เออเจียว” (ejiao) หรือเจลาตินที่สกัดจากผิวหนังของลาเพื่อใช้เป็นยาแผนโบราณของจีนซึ่งบางคนเชื่อว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์ โดยการค้าหนังลาเหล่านี้ใช้ประเทศไทยและเวียดนามเป็นเส้นทางในการค้าและขนส่งหนังลาสู่จีน ทำให้ไทยและเวียดนามเสี่ยงที่จะเป็นพื้นที่ต้นตอการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงที่แพร่จากสัตว์ไปสู่สัตว์ หรือแม้กระทั่งจากสัตว์ไปสู่คนได้ง่ายๆ 

ดร. ฟิลิป แคลร์ส (Dr. Filip Claes) ผู้ประสานงานห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาคของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามแดน (Emergency Center for Transboundary Animal Diseases: ECTAD) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ  (The Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งประจำการอยู่ที่กรุงเทพฯ กล่าวว่า สภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของไทยและเวียดนามทำให้ทั้งสองประเทศเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ง่าย โดยการค้าหลังลาถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ทางออกที่จะลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดได้ก็คือ ความต้องการหนังลาที่น้อยลง ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้โดยเร็ว หน่วยงานภาครัฐของไทยและเวียดนามจึงต้องออกกฎระเบียบและมาตรการด้านการนำเข้าและส่งออกเพื่อกำกับควบคุมการค้าหนังลาให้เป็นไปด้วยวิธีการที่ปลอดภัย รัดกุม และมีมนุษยธรรม     

The Donkey Sanctuary ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ดูแลสวัสดิภาพของลาและเป็นศูนย์ช่วยเหลือลาระดับสากล และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหราชอาณาจักร ได้เผยในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ในระดับสากล (Biosecurity Risks and Implications for Human & Animal Health on a Global Scale) โดยเราพบว่า มีการค้าหนังลาจำนวนมากที่มีต้นกำเนิดมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองกิจการถูกต้องในประเทศเคนย่า โดยหนังลาเหล่านี้มีการปนเปื้อนเชื้อ Staphylococcus aureus (S.aureus) และโรค African horse sickness (AHS) โดยในกรณีของผิวหนังที่ปนเปื้อนเชื้อ S.aureus พบว่ามีเชื้อที่ดื้อยา MRSA ในการทดสอบจำนวน 44 ตัวอย่างจาก 108 ตัวอย่าง และอีก 3 ตัวอย่างให้ผลเป็นบวกของสาร PVL-toxin ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเนื้อตายที่พบในมนุษย์  

เมื่อปี 2563 ดร. ฟิลิป ได้ทำงานอยู่ที่ประเทศไทยในระหว่างการแพร่ระบาดของโรค AHS ซึ่งมีม้าทั้งหมด 610 ตัวที่ติดโรค และเสียชีวิตไป 568 ตัว ดร. ฟิลิป กล่าวว่า หากเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อที่สามารถติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน และคนเกิดการติดเชื้อ มันอาจกลายเป็นการแพร่ระบาดใหญ่จากท้องถิ่น สู่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาคและทั่วโลกได้ในที่สุด

ความต้องการและราคาของหนังลานั้นพุ่งสูงในประเทศจีนหลังจากที่ซีรีส์ละครจีนย้อนยุคชื่อดังเรื่อง “เจินหวน จอมนางคู่แผ่นดิน (Empreses in the Palace)” ออกฉายในปี 2554 โดยมีฉากที่ตัวละครชนชั้นสูงในเรื่องรับประทานและใช้ยาสมุนไพรเออเจียวที่ทำจากหนังลาเพื่อรักษาสุขภาพ เมื่อซีรีส์ได้รับความนิยม ผู้บริโภคก็ต้องการยาเออเจียวเพิ่มมากขึ้น จนฟาร์มลาในประเทศจีนไม่สามารถจัดหาหนังลาให้ได้พอกับความต้องการ ทำให้บริษัทยาผู้ผลิตยาเออเจียวต้องนำเข้าหนังลา รวมถึงลาเป็นๆ จากประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา ได้แก่ มาลิ แทนซาเนีย และซิมบับเว ในขณะที่ผู้ค้าหนังลาบางรายอ้างว่าดำเนินธุรกิจค้าหนังลาจากประเทศเคนย่า หรือเบอร์กินา ฟาโซ และไนจีเรีย ซึ่งการส่งออกหนังลาจากประเทศเหล่านี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หนังลาเหล่านี้หลายส่วนมาจากลาที่เลี้ยงเพื่อไว้ใช้งานและเจ้าของอาจนำมาขายเองหรือถูกขโมยมา และมีการฆ่าชำแหละอย่างป่าเถื่อนและผิดกฎหมาย อีกทั้งยังไม่มีการทดสอบหาเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดใหญ่มากนัก  

หนังลาส่วนใหญ่ถูกขนส่งมากับชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์ และอาจนำมาใช้เพื่อปกปิดชิ้นส่วนของสัตว์สงวนอื่นๆ ที่มีการค้าอย่างผิดกฎหมายด้วย ไม่ว่าจะเป็นงาช้างหรือเกล็ดของตัวนิ่ม ซึ่งการขนส่งรวมกันเช่นนี้อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนข้ามสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคที่โดยปกติจะไม่เกิดขึ้น และอาจลุกลามกลายเป็นโรคติดต่อเริ่มต้นจากพ่อค้าหรือผู้ซื้อที่อาจไม่รู้ความจริงของการขนส่งชิ้นส่วนสัตว์ต่างๆ ในลักษณะนี้

ประเทศไทยและเวียดนามถือเป็นเส้นทางผ่านหลักๆ ของวงจรการค้าหนังลา ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐปล่อยปละละเลยให้ผู้นำเข้าสินค้าสัญชาติจีนเลี่ยงกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางชีววิทยาต่อสินค้านำเข้าจากแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรคเฉพาะถิ่นที่ประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทำให้ไทยและเวียดนามไม่มีวิธีการป้องกันรับมือกับโรคที่มีประสิทธิภาพและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดได้ นอกจากนี้ ทั้งไทยและเวียดนามต่างมีความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนสูง เนื่องจากมีการผลิตสินค้าจากสัตว์ค่อนข้างมาก (ทั้งแบบโรงงานเลี้ยงสัตว์และฟาร์มปศุสัตว์) รวมถึงการค้าสัตว์ป่า การรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรกรรม และความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยรายงานผลสำรวจล่าสุดของคลัสเตอร์วิจัย One Health ในเวียดนาม พบหลายกรณีที่ผู้คนติดโรค และบางครั้งเสียชีวิตจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนตลอดช่วงปี 2553-2563

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยและเวียดนามยังเป็นตลาดผู้บริโภคของยาเออเจียว โดยเฉพาะในกลุ่มชุมชนผู้ที่มีเชื้อสายจีน โดย Humane Society International (HSI) องค์กรไม่แสดงผลกำไรที่รณรงค์เรื่องสิทธิสัตว์มาอย่างยาวนาน ระบุว่าเวียดนามขึ้นแท่นอันดับ 6 ของตลาดผู้บริโภคยาเออเจียวที่ใหญ่ที่สุดในปี 2560 รวมมูลค่าตลาดสูงถึง 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานของเราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าคอลลาเจนของลาสามารถผลิตขึ้นอย่างปลอดภัยและไม่ต้องใช้วิธีการที่ป่าเถื่อนรุนแรง ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Cellular Agriculture หรือเกษตรกรรมที่สร้างเนื้อสัตว์จากเซลล์ เราจึงอยากรณรงค์ให้ผู้ผลิตยาเออเจียวทั้งหลายยุติการค้าหนังลาด้วยการเลิกใช้คอลลาเจนจากลาจริงๆ และหันไปใช้คอลลาเจนที่สร้างขึ้นในห้องทดลองด้วยกระบวนการ Cellular Agriculture แทน โดยเราต้องการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรการค้าหนังลาในวงกว้างถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีความปลอดภัยมากกว่า สะอาดกว่า และมีมนุษยธรรมมากกว่า โดยไม่ต้องใช้ความโหดร้าย รวมถึงป้องกันผลกระทบร้ายแรงและความเสี่ยงที่มาจากการค้าลาทั่วโลกเพื่อนำคอลลาเจนที่สกัดจากหนังลาไปใช้

ประเทศอย่างไทยและเวียดนาม สามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยยุติการค้าหนังลาที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมด้วยการออกมาตรการสั่งห้ามนำเข้าและส่งออกหนังลา ซึ่งจะไม่ช่วยแค่เพียงปกป้องสัตว์ที่ฉลาดและมีความรู้สึกเช่นลาเท่านั้น แต่ยังช่วยพิทักษ์สุขภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยด้วย

 

###

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

มาเรียนน์ สตีล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Donkey Sanctuary โดยคุณมาเรียนน์ร่วมงานกับองค์กร The Donkey Sanctuary ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนและสื่อสารตั้งแต่ปี 2553 และอยู่ในเส้นทางอาชีพสายองค์กรการกุศลมาอย่างยาวนานในหลากหลายอุตสาหกรรม

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ The Donkey Sanctuary: https://www.thedonkeysanctuary.org.uk/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: