จับตา: โรคเบาหวาน กับการใช้ยา

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 11670 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า โรคเบาหวานจัดเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดี โดยเป้าหมายหลักของการรักษาโรคเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งจำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และมีความเข้าใจในการใช้ยาอย่างถูกต้อง เราจึงขอนำเสนอ
สาระความรู้เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

ปัจจุบันยารักษาโรคเบาหวานมี 2 รูปแบบ ได้แก่ ยาเม็ดรับประทานและยาฉีดอินซูลิน 

1. ยาเม็ดรับประทานรักษาโรคเบาหวานซึ่งมีทั้งแบบก่อนอาหารหรือหลังอาหาร ดังนั้นต้องรับประทานยาตามที่ฉลากระบุ หรือตามที่แพทย์ เภสัชกรกำหนดเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

- ซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) เช่น ไกลเบนคลาไมด์(Glibenclamide)  กลิพิไซด์ (Glipizide) ควรรับประทานก่อนอาหาร 30 นาที วันละ 1 - 2 ครั้ง ตามแพทย์สั่ง

- ไบกัวไนด์ (Biguanides) เช่น เมทฟอร์มิน (Metformin) ควรรับประทานหลังอาหารทันที เพื่อ
ลดอาการแทรกซ้อนของข้างเคียงที่ทางเดินอาหารวันละ 2 - 3 ครั้ง ตามแพทย์สั่ง

- อัลฟากลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase inhibitor) เช่น อะคาร์โบส (Acarbose) หรือ กลูโคเบย์ (Glucobay) ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารคำแรก โดยแพทย์จะปรับให้สอดคล้องกับมื้ออาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน

- ไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinedione) เช่น โรซิกลิธาโซน (Rosiglitazone) ไพโอกลิทาโซน (Pioglitazone) รับประทานหลังอาหาร 15 - 30 นาที วันละ 1 - 2 ครั้ง ตามแพทย์สั่ง

2. ยาฉีดอินซูลินแบ่งออกเป็น2 ชนิด คือ

ยาฉีดอินซูลินชนิดน้ำใส และยาฉีดอินซูลินชนิดน้ำขุ่น ก่อนฉีดต้องคลึงขวดยาเพื่อให้มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกาย โดยคลึงบนฝ่ามือไปมาเบา ๆ ห้ามเขย่าขวด เพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศ สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังตามบริเวณต่าง ๆ คือ หน้าท้อง ต้นแขน หน้าขา และสะโพก โดยตำแหน่งที่ดีที่สุด คือ หน้าท้อง เนื่องจากการดูดซึมของยาคงที่ แต่ควรฉีดห่างจากรอบสะดือ 1 - 2 นิ้ว และควรหมุนเวียนเปลี่ยนจุดที่ฉีด ไม่ควรฉีดซ้ำตำแหน่งเดิมทุกวัน 

การฉีดยาอินซูลินมีความสัมพันธ์กับมื้ออาหารและชนิดของยา ถ้าฉีดอินซูลินชนิดที่ออกฤทธิ์สั้นมากควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 15 นาที และถ้าฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที ส่วนอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลางหรือออกฤทธิ์ยาวอาจฉีดก่อนอาหารหรือก่อนนอน ซึ่งในการฉีดอินซูลินนั้นควรฉีดเวลาใกล้เคียงกันในแต่ละวันเพื่อให้ระดับน้ำตาลมีความสม่ำเสมอ

หลักการใช้ยารักษาเบาหวาน คือ

1. ต้องรับประทานยา และ/หรือ ฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอทุกวันตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะอื่น ๆห้ามหยุดยา ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง

2.ยารักษาเบาหวานส่วนใหญ่ออกฤทธิ์สัมพันธ์กับมื้ออาหารควรตั้งนาฬิกาปลุกหรือการแจ้งเตือน เพื่อให้รับประทานยา และ/หรือ ฉีดอินซูลินได้ตรงเวลา

3. ไม่ควรนำยาของคนอื่นมารับประทาน

4. ควรพบแพทย์ตามนัดและแจ้งแพทย์ทุกครั้งเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของการใช้ยา เพราะอาจมีผลต่อค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไป

5. หากมีผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาควรไปพบแพทย์ทันที

6. ไม่ควรหาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อหวังลดระดับน้ำตาลในเลือดมารับประทานเอง เนื่องจากอาจมีผลกับยาปัจจุบันที่ใช้รักษา และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง

7. เก็บรักษายาให้เหมาะสมสำหรับยารับประทานหากต้องการแบ่งรับประทานยา ควรแบ่งใส่ตลับสำหรับบรรจุยาให้พอใช้ในแต่ละวัน ไม่ควรแบ่งยาล่วงหน้าโดยเฉพาะยาที่อาจชื้นง่ายหรือจำเป็นต้องเก็บพ้นแสง ส่วนยาฉีดอินซูลินควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส โดยวางในตู้เย็นยกเว้นฝาตู้เย็นและช่องแช่แข็ง และแยกบริเวณเก็บยาออกจากบริเวณเก็บอาหาร สำหรับอินซูลินที่เปิดใช้แล้วสามารถวางไว้นอกตู้เย็นได้หากอุณหภูมิไม่สูงมาก แต่ต้องใช้ขวดนั้นให้หมดภายใน 30 วัน 

 

ข้อมูลอ้างอิง 

New tab (mahidol.ac.th)
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_specify/714
https://somdej.or.th/?p=7015
https://www.nur.psu.ac.th/nur/file_unit/134120181018155740.pdf (Page 42-47)
https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-802
https://www.doctor.or.th/article/detail/4749
https://www.rajavithi.go.th/rj/wp-content/uploads/2017/02/00-Title-Cont-Diabetic1.pdf
(Slide 71-74)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: