เปิดวงคุย ‘6 ตุลา ในความทรงจำที่ไม่ลางเลือน’ กับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 4927 ครั้ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “Walk with Amnesty : ครบรอบ 47 ปี ชวนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลา 19” พร้อมจัดวงคุย ‘6 ตุลา 19 : ทบทวนความทรงจำที่ยังไม่ลางเลือน’

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “Walk with Amnesty : ครบรอบ 47 ปี ชวนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลา 19” พร้อมจัดวงคุย ‘6 ตุลา 19 : ทบทวนความทรงจำที่ยังไม่ลางเลือน’ มีเป้าหมายให้สมาชิก ประชาชน ย้อนรอยความทรงจำ ฟังเรื่องเล่าจากอดีตนักโทษทางความคิด ผู้ถูกทำร้ายและรอดชีวิตจากเหตุการณ์ และสมาชิกกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ในวงคุยเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่สะท้อนเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกในยุคนั้นที่น่าสนใจหลายประเด็น โดยมีขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่า การจัดวงคุยในหัวข้อ ‘6 ตุลา 19 : ทบทวนความทรงจำที่ยังไม่ลางเลือน’ กับกิจกรรม Walk with Amnesty ครั้งนี้ มีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมได้ฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ จากนั้นทุกคนจะได้เดินตามรอยประวัติศาสตร์การชุมนุมในจุดที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ ด้านหน้าอาคารโดมธรรมศาสตร์ สนามฟุตบอล และหน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แล้วมาจบที่ตึกนิติศาสตร์ ทุกพื้นที่มีความทรงจำที่เจ็บปวดและบทเรียนอยู่ในนั้น ทุกคนจะได้เรียนรู้เรื่องการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง ควบคู่กับการร่วมกันถอดบทเรียนว่าการชุมนุมในอดีตเหมือนหรือแตกต่างกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน

แอมเนสตี้เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19?

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า หากเกิดการตั้งคำถามว่า แอมเนสตี้เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงได้จัดงาน Walk with Amnesty ให้สมาชิก ผู้สนับสนุนและประชาชนเข้าร่วม เพราะหลังเกิดเหตุการณ์ แอมเนสตี้ได้ช่วยรณรงค์ให้ปล่อยตัว ‘นักโทษทางความคิด’ ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง พร้อมทั้งรณรงค์ให้คนทั่วโลกเขียนจดหมายส่งถึงรัฐบาลไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนที่ถูกจับจากการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในครั้งนั้นทุกคน ซึ่งทำให้ทั่วโลกได้รู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของแอมเนสตี้ในประเทศไทย

“ถ้าจิตวิญญาณคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นมีจริง ไม่รู้ว่าเขาเห็นความเคลื่อนไหวของพวกเราทุกวันนี้เป็นอย่างไร แต่ว่าวันนี้เมื่อ 47 ปีที่แล้ว ไม่ว่าใครก็ตามที่จะพยายามกลบ หรือทำให้ความจริงที่เกิดขึ้นถูกลบเลือน ไม่ว่าจะเป็นด้วยอคติ หรือการโฆษณาชวนเชื่อ แอมเนสตี้ยืนยันจะยังมองหาความจริงต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราพยายามทำงานเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอย คือการทำให้ทุกคนมีความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกัน ผ่านกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เช่น แคมเปญปล่อยเพื่อนเรา เขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ รวมทั้งการให้ความรู้ผ่านห้องเรียนสิทธิมนุษยชน ทำข้อเสนอเชิงนโยบายถึงหน่วยงานของรัฐ และส่งเสริมประเด็นการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เรายืนยันจะทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคนต่อไป”

เปิดใจแกนนำ ‘นักโทษทางการเมือง’ กับ เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เหมือนหนังเรื่อง The Empire Strikes Back

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อดีตนักโทษทางความคิด 6 ตุลา กล่าวว่า เหตุการณ์เคลื่อนไหวชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ตุลา 19 เป็นผลพวงหนึ่งของปัญหาสงครามในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีข่าวไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาครวมถึงเวทีระดับโลกนานาชาติว่า มีนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง จนมีผู้บาดเจ็บ ล้มตาย สูญหาย ถูกทรมาน และถูกกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จำนวนมาก ในมุมมองของอาจารย์สุรชาติเปรียบเหตุหารณ์วันที่ 6 ตุลา 19 เหมือนหนังเรื่อง The Empire Strikes Back ในเรื่องสตาร์ วอร์ส เพราะระหว่างการต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมีหลายเรื่องราว เช่น การต่อสู้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ การต่อสู้ที่ชนชั้นเข้ามาเดิมพันชีวิตและความอยู่รอด

อาจารย์สุรชาติเล่าว่า ตอนนั้นเขามีสถานะเป็น ‘นักโทษทางการเมือง’ ที่ออกมาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวชุมนุม เขายอมรับว่าสมัยนั้นผู้คนยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘นักโทษทางความคิด’ แต่เมื่อมีแอมเนสตี้เข้ามารณรงค์ ปลุกกระแส หลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ทำให้เขาและผู้ร่วมอุดมการณ์รู้จักคำว่านี้มากขึ้น สำหรับอาจารย์สุรชาติ เขาเป็นนักโทษทางการเมืองยุคที่ 2 ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำบางขวาง เขาเป็นหนึ่งในคนที่แอมเนสตี้เข้ามาร่วมปลุกกระแสสังคมรณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรม จนทำให้ผู้ต้องขังหลายคนในเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นที่รู้จักในระดับสากล จนทำให้รัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามถึงการกระทำต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมว่าเหมาะสมหรือไม่

“ภาพ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถ่ายภาพร่วมกับผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 19 ราย ภายหลังจากได้รับอิสรภาพ เมื่อ 17 กันยายน 2521 โดยนายกรัฐมนตรีชวนไปทานข้าว นายกทำอาหารพิเศษ ทำแกงไก่ใส่เขียวหวาน ชวนดื่มบรั่นดี ถามว่าอร่อยไหม ออกจากคุกกินอะไรก็อร่อย แต่จริงๆ แล้ว นี่คือสิ่งที่สะท้อนอีกมุมหนึ่งของเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยนั้น หากใครอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นจะเข้าใจดีว่า ภาพเหล่านี้ส่งสัญญาณใหญ่ทางการเมือง สื่อถึงความสมานฉันท์ในสังคมไทยได้”

ศิลปะการแสดง กับการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ อดีตนักโทษทางความคิด 6 ตุลา เล่าว่า ขบวนการนักศึกษาในตอนนั้น แบ่งสายตามสิ่งที่ถนัด คือ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งเขาอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรม ชอบเต้นกินรำกิน จึงใช้ความสามารถที่มีมาใช้ต่อสู้ทางการเมืองด้วยการแต่งกลอนเสียดสีเผด็จการ และแสดงละครล้อการเมือง สำหรับอาจารย์วิโรจน์มองว่างานด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ส่งเสริมทางการเมืองได้ มีหน้าที่รักษาเวทีไม่ให้เงียบ การใช้ศิลปะการแสดง แต่งกลอน ถูกนำมาใช้เพื่อดึงคนให้อยู่กับเราจนจบ เรียกว่าเราด่าการเมืองตอนนั้นด้วยการแสดงละคร และคิดว่าสิ่งนี้มันจะอยู่นาน เพราะมีทั้งภาพและเสียงที่ถูกบันทึกไว้

“ถ้ามีเดดแอร์ผู้ชุมนุมจะไม่อยู่ เราจึงต้องรักษาให้เวทีไม่เดดแอร์ ต้องมีต่อเล่น 24 ชั่วโมง งานวัฒนธรรมต้องโอบอุ้มม็อบไม่ให้ตกไป ต้องช่วยฝ่ายการเมืองอย่างแรง ไม่ให้อารมณ์แกนนำ อารมณ์คนเข้าร่วมตก เราเหมือนมีหน้าที่ทำให้พวกนั้นจิบน้ำ มีแรงต่อ เราก็ไปแสดง ผลัดกันกับคนที่ปราศรัย”

อาจารย์วิโรจน์เล่าอีกว่า ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา ยอมรับว่าไม่เคยได้ยินชื่ององค์กรแอมเนสตี้ หรือคำว่า “สิทธิมนุษยชน” (Human Rights) มาก่อน มารู้ทั้ง 2 คำนี้หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ สำหรับเขาตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทย ยุคนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีเฟคนิวส์ อะไรที่เห็นภาพคือภาพจริง ไม่มีรีทัช ภาพที่คือการทำการรณรงค์ฟรีสุธรรม ฟรีวิโรจน์ ที่เห็นบนศาลทหาร ล้วนเป็นของจริงทั้งสิ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา จดหมายที่เขียนด้วยลายมือก็ไม่ใช่เรื่องโกหก

ผู้ถูกทำร้าย และรอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

สมชาย หอมลออ ผู้ถูกทำร้ายและรอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เผยว่า เขาเป็นคนที่อยู่นอกธรรมศาสตร์ กำลังจะเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากถูกปิดล้อมเลยเข้าไปไม่ได้ ขณะที่กำลังหันกลับออกมาก็ถูกตีหัวแตก แขนหัก หน้าแตก และเลือดอาบ แต่โชคดีที่มีผู้หวังดีช่วยเขาส่งโรงพยาบาลรักษาตัวได้ทัน ตอนนั้นเขาต้องเย็บแผลถึง 32 เข็ม สำหรับสมชายแม้เหตุการณ์จะผ่านมา 47 ปี แต่เขาคิดว่าโครงสร้างทางการเมืองไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะแม้จะมีรัฐบาล มีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่พบว่ามีอำนาจน้อย ไม่สามารถควบคุมอำนาจต่างๆ ได้จริง ทั้งกองทัพและศาสนายังมีเงามืดบางอย่างอยู่เบื้องหลัง

สมชายยังเล่าถึงเรื่องการส่งจดหมายเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ถูกจับกุมช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาว่า หลังเกิดเหตุการณ์ข่าวในประเทศถูกปิดเป็นเวลานาน แต่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย ส่งภาพและข่าวไปที่สำนักข่าวต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้คนทั่วโลกเห็นภาพเหตุการณ์ หลายคนตกใจและช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เริ่มมีการรณรงค์ตั้งกลุ่มเรียกร้องในต่างประเทศ รวมทั้งมีคนไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และรัฐบาลไทยไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า คนที่เป็นเหยื่อในเหตุการณ์ชุมนุมรวมทั้งตัวเขา แทนที่จะได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องรัฐบาลไทย แต่ทำไมถึงกลายเป็นจำเลยที่ถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำ สำหรับเขามองว่าเป็นเรื่องแปลกและตลก ซึ่งปัจจุบันเขายังต้องการให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

“ในตอนนั้นไม่มีออนไลน์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ใช้วิธีเขียนจดหมาย อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณเล่าให้ฟังว่า มีจดหมายต่างประเทศส่งและหลั่งไหลไปถึงสำนักพระราชวังและสำนักนายกรัฐมนตรีหลายคันรถ จดหมายแต่ละฉบับเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ไม่ได้เรียกร้องให้ดำเนินคดีเป็นธรรม แต่ให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคน ในตอนนั้นถือเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อกระบวนการยุติธรรมไทย”

“แม้ในขณะนี้จะมีการส่งข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์แล้ว แต่ความเห็นของผมและแอมเนสตี้พบว่า การเขียนจดหมายด้วยลายมือ ลายเซ็น ยังมีความสำคัญอยู่มาก โดยเฉพาะกับผู้รับที่เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะว่าคนๆ หนึ่งกว่าจะเขียนจดหมายได้ ต้องใช้เวลาคิดและกลั่นกรอง การเขียนและเซ็นชื่อในจดหมาย มันแสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของคนๆ นั้นว่า ต้องการอะไร ถ้าจดหมายต้องการให้ปล่อยตัว แสดงว่าเขามีความแน่วแน่เรื่องนี้ สำหรับผมคิดว่าการเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์นั้นยังมีความสำคัญมากสำหรับนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมืองในเรือนจำ”

เหตุการณ์ 6 ตุลาในประเทศไทยสู่สายตาคนทั่วโลก

วณี บางประภา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม เผยว่า เธอทำหน้าที่ไปเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง แบ่งงานกันกับทีมงานไปฟังศาล ผลัดกันไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ งานที่ทำแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ การเยียวยา ในการช่วยจัดหาทนาย หาเงินประกัน และสนับสนุนให้กำลังใจผู้ต้องขังด้วยการเข้าไปเยี่ยมที่เรือนจำ รวมถึงประสานงานเครือข่ายทนายตามจังหวัดต่างๆ ฟังการพิจารณาคดี ไปเยี่ยมครอบครัวผู้ที่ถูกคุมขัง อีกอันคือการประสานงานกับสื่อต่างประเทศ

ตอนนั้นมีคำสั่งคณะปฏิรูปที่ 42 ห้ามเผยแพร่หนังสือ 200 เล่ม โดยการทำให้หนังสือต้องห้าม มีการห้ามสื่อเผยแพร่ข่าว เซ็นเซอร์เกือบทุกช่องทาง ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นอะไรได้ งานสำคัญที่ทำตอน 6 ตุลา คือการทำสื่อภาษาไทยเพื่อสร้างความสันติในสังคม และทำเป็นภาษาอังกฤษเน้นส่งไปต่างประเทศ เก็บสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความคืบหน้าคดี ทำสกู๊ป ไปตามจังหวัดต่างๆ เก็บข้อมูล เพื่อนำข้อมูลมาเรียบเรียงเขียนเป็นภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อทำให้ข่าวการชุมนุมและผู้ที่ถูกคุมขังไม่ถูกลืม

“เรื่องงานต่างประเทศมีหลายคนช่วยกันให้ข้อมูล มีการสนับสนุนช่วยเหลือกันจากหลายเครือข่าย มีการส่งข้อมูลให้กับแอมเนสตี้ เครือข่ายด้านศาสนา และองค์กรสันติวิธีที่สนใจด้านสิทธิมนุษยชน ตอนนั้นยุคเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ได้ขอให้มีการทำนิรโทษกรรม เราทำจดหมายนิรโทษกรรมไปที่นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น มันเป็นกระแสที่ต่อเนื่องมา รวมทั้งอาจารย์ป๋วยก็ช่วยก็ให้ข้อมูลต่างประเทศ ทำให้การรณรงค์ต่างๆ ส่งไปถึงทั่วโลก รูปนิสิตปี 1 ถูกแขวนคอ ถูกตี มันสะเทือนใจคนทั้งโลก เป็นรอยมลทินของประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐบาลไทยในตอนนั้น ทำให้คนทั่วโลกยิ่งสนใจประเทศไทย จนทำให้เกิดการรณรงค์นิรโทษกรรม และขอให้มีการปลดปล่อยนักโทษคดีอื่นๆ ตามมา”

เหตุการณ์ 6 ตุลา กับ “ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยา”

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ พูดถึงสิ่งที่เป็นความจริงในมุมของเขาในฐานะแกนนำคนหนึ่งว่า ต้องยอมรับว่าความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีหลายมิติ มีหลายบริบท เพราะวันเวลาผ่านไปอาจไม่รู้ได้ว่าคนอีกฝั่งเขาจะคิดอย่างไร หรือคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนเดิมหรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ “ความรู้สึกของเขาทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์จางหายไปตามกาลเวลาแน่นอน”

และอีกเรื่องที่ต้องขอชี้แจงข้อมูลในฐานะอดีตผู้ต้องขังคดี 6 ตุลาว่า ข้อมูลที่ถูกเขียนในนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับเขาและคนที่ถูกจับกุม 6 คน ในเช้าวันที่ 6 ตุลา ว่าทั้งหมดมอบตัวกับรัฐบาลไทย ไม่เป็นความจริง แต่เป็นการไปเจรจาและมีการนัดหมายล่วงหน้า แต่ท้ายที่สุดถูกจับกุม ส่วนการที่มีการตัดสินใจนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลา เชื่อว่ามาจากแรงกดดันในระดับสากลที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนอีกแรงกดดันที่ใหญ่ที่สุด ที่หลายคนไม่เชื่อก็คือมาจากในกองทัพในตอนนั้น เพราะถ้าทุกคนยังเดินต่อ บ้านเมืองจะไม่ต่างจากเวียดนาม

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่เรียนประวัติศาสตร์ มีคำๆ หนึ่ง คือ “ชำระประวัติศาสตร์” สำหรับเขามีข้อสรุปส่วนตัวว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ยังไม่ได้รับการชำระทางประวัติศาสตร์หรือทำให้ความจริงปรากฎเพื่อพิสูจน์ให้ผู้ร่วมขบวนการหลายคนพ้นมลทิน เขายอมรับว่าการจะทำให้ประวัติศาสตร์เจอความจริงเป็นสิ่งที่ยาก โดยเปรียบเทียบกับแนวคิดทางประเทศจีนว่า “คนที่ชนะเป็นอ๋อง คนแพ้เป็นโจร คนชนะจะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนจากราชวงศ์หนึ่ง ไปถึงราชวงศ์หนึ่ง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สิ่งที่ต้องการเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

“ไม่ว่าจะเหตุการณ์14 ตุลา 6 ตุลา ก็ดี ยังมีความเจ็บปวดอยู่ ยังมีอารมณ์อยู่ บางทีที่เราพูดมันไม่ใช่ข้อมูล มันเป็นอารมณ์ หลายเรื่องเป็นข้อมูล และข้อมูลยังต้องเก็บตกมาเยอะมาก ผมคิดว่าคำว่าชำระประวัติศาสตร์ ต้องใช้กาลเวลาพิสูจน์”

ด้านสมชาย หอมลออ ย้ำถึงการเยียวยาผู้เสียหายในเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่า คนที่ได้รับผลกระทบหรือต้องเป็นเหยื่อการละเมิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทุกคนต้องได้รับการเยียวยา เช่น ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ต้องมีพื้นที่ที่มีการเยียวยา ช่วยเหลือ เพื่อกอบกู้สถานะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ทุกคนยืนหยัดและมีชีวิตต่อได้โดยไร้มลทิน ส่วนตัวเขาเชื่อว่าตอนนี้มีครอบครัวผู้เสียชีวิตน้อยมาก ที่กล้าพูดความจริงหรือเปิดเผยตัวตน ว่าลูกหลาน สามี ภรรยา เป็นผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือเขาอาจจะได้รับบาดเจ็บ เพราะกลังถูกตราหน้าโดยประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งอยู่ว่า เป็นผู้ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมินิสต์

“ผมคิดว่าการเยียวยาสำคัญมาก การช่วยเหลือด้านชีวิตความเป็นอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การทำให้เขารู้สึกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยย์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่างไรเสียต้องมีการชี้ถูก ชี้ผิด แน่นอนการลอยนวลพ้นผิดยังมีอยู่ การนำคนผิดมาดำเนินคดีหรือลงโทษไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยสังคมต้องรู้ว่าคนที่ทำแบบนี้ คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับไม่ได้ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะเหตุการณ์ไหนหรือกับใครก็ตาม”

แอมเนสตี้ ประเทศไทยยังคงยืนหยัดช่วยเหลือนักโทษทางความคิดที่อยู่ในเรือนจำให้ได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทุกคนเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีและสิ้นสุดคดีแล้ว เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาที่อยู่ในนั้น คุณสามารถร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ที่นี่ https://bit.ly/3q9fQO

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: