ทำไมประเด็นการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ควรอยู่ในโต๊ะพูดคุยสันติภาพภายใต้หัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) | ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเจรจาสันติภาพและข้อเสนอทางออกทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ 12 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 15083 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

27 พฤศจิกายน 2566 ดร.ขดดะรี บินเซ็น นายกสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้และที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา ได้ทราบข่าวในขณะที่ทำภารกิจกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา ณ ประเทศสิงคโปร์ ว่า

"วันจันทร์ที่ 27 พ.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งนายฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย”ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 344/2566 เรื่องแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื้อหาของคำสั่งระบุว่า โดยที่รัฐบาลมีนโยบายการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสิทธิภาพและมีผลเป็นรูปธรรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงแต่งตั้งคณะพูดพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Peace Dialogue Panel” มีองค์ประกอบดังนี้

1.นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุย
2.เลขาธิการศูนย์อำนายการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะพูดคุย
3.ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ คณะพูดคุย
4.ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม คณะพูดคุย
5.ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะพูดคุย และเลขานุการร่วม
6.ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 คณะพูดคุย และเลขานุการร่วม"

[ที่มา: https://www.isranews.org/article/south-news/other-news/124145-chatchaisouth.html]

จากการแต่งตั้งดังกล่าว “สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้และสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลายินดีกับนายฉัตรชาย บางชวดในฐานะพลเรือนคนแรกที่ได้รับมอบหมายพร้อมฝากประเด็นการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที ชายแดนภาคใต้ ในโต๊ะพูดคุยสันติภาพ อีกทั้งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะ YAB Dato Seri Dr. Ahmad Zahid Hamidi รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย ซึ่ง“ขอให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพราะมีบทบาทสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก”เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ย.66 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนำคณะผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

สิทธิมนุษยชนอย่างไรก็แล้วแต่ประเด็นการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ ควรถูกพูดถึงบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ทำไม อย่างไร?

พื้นที่ปาตานี/ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทางการศึกษา โดยสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการศึกษาทางอิสลาม และเป้าหมายของการเรียนรู้ที่คาดหวัง (Learning Outcomes; LOs) ประการสำคัญ คือ การพัฒนามนุษย์ทั้งทางกายและทางจิตใจอย่างสอดประสานกัน ด้วยเหตุนี้ การจัดโครงสร้างของระบบการศึกษา ตลอดทั้งหลักสูตร และรายวิชา ตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษา จึงจำเป็นต้องคิดออกแบบให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นเลิศทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างมีดุลยภาพ รวมทั้งระบบของการบริหารจัดการหลักสูตร ผู้เรียน บุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ตลอดทั้งโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ จำเป็นต้องถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลาง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในส่วนของระบบการศึกษาระดัลประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา โดยเฉพาะการบริหารจัดการศึกษาด้วยระบบปอเนาะ และทั้งกระทรวงวัฒนธรรม ในส่วนของระบบการศึกษาปฐมวัยในรูปแบบศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือตาดีกา เพื่อนำมาสู่การออกแบบกลไกบริหารจัดการการศึกษาระดับท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง อันจะรับประกันการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของพื้นที่และยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ตนเองได้โดยแท้จริง

ดังนั้น ภาพอนาคตรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาที่ปรารถนา รวมทั้งตัวแบบและแนวทางการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ จึงมีความสำคัญยิ่ง

สำหรับหัวใจของการกระจายอำนาจทางการศึกษานั้นต้องกระจายทั้งอำนาจการบริหารจัดการ คนและงบประมาณ เพื่อสามารถร่วมออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ มิใช่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นแต่ทุกพื้นที่การศึกษาในทุกภูมิภาคของประเทศไทยอันจะนำไปสู่พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษามากมายและจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่เท่ากับสถาการณ์โลกในอนาคตที่สำคัญสุดมันจะเป็นรากฐานการกระจายอำนาจการปกครอง/เขตปกครองพิเศษในโต๊ะพูดคุยที่ฝ่ายเห็นต่างกับรัฐไทย

ข้อเสนอเหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างสันติภาพในพื้นที่ โดยการผลักดันของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสงนั่งเป็นประธาน มีนายสุธรรม แสงประทุม -นายรอมฎอน ปัญจอร์-นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ-นายซูการ์โน มะทานั่งรองประธาน และคณะกรรมการ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ในกระบวนการสันติภาพ หากทั้งสองฝ่ายในโต๊ะพูดคุยไม่สนใจก็คงจะเสียโอกาสสร้างผลงานแก้ปัญหาหนึ่งในปัญหาใจกลางของพื้นที่ไป

อย่างไรก็แล้วแต่ภาคประชาชนกำลังล่า 5 หมื่นเสนอให้มี พรบ.สันติภาพรองรับ

องค์ประกอบและข้อเสนอแนะบนโต๊ะเจรจา

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ผู้เขียนได้เข้าร่วมเวทีการปรึกษาหารือสาธารณะ ประเด็นสิทธิมนุษยชนกับกับข้อเสนอแนะบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปซึ่งมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1. ประเด็นในการพูดคุยบนโต๊ะเจรจาควรครอบคลุมและได้รับการคุ้มครองให้มีความปลอดภัย
2. กลุ่มสตรี เด็ก และเยาวชน ขาดโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนสันติภาพ จะทำอย่างไรให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
3. กลุ่มไทยพุทธอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และความเข้าใจในด้านความมั่นคง ควรมีการให้คำแนะนำและปรึกษาหารือกับกลุ่มไทยพุทธเฉพาะ เพื่อรับฟังเสียง

ข้อเสนอแนะ

1. ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ตั้งแต่การตั้งด่าน ปิดล้อม ควบคุมตัว เพราะเอื้อต่อหลายอย่างควรมีการตรวจสอบเพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดแก่ชาวบ้าน จึงอยากให้มีการตรวจสอบทวนดุลเป็นพิเศษหากไม่เช่นนั้นก็ยกเลิกกฎหมายพิเศษ
2. บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม มีการพูดคุยในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริง
3. คำนึงถึงการดำรงชีพของบริบทพื้นที่อย่างแท้จริง
4. ยุติการตรวจค้นจับกุมโดยอำนาจพิเศษ แต่ต้องผ่านการกลั่นกรองของศาลในขณะที่มีการเจรจา
5. อยากได้กรอบเจรจาที่ชัดเจนขึ้น 3 ข้อตกลงมันกว้าง จึงอยากให้มีการพูดถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
6. การสร้างความไว้วางใจ
7. ทำอย่างไรให้นักโทษที่ได้รับโทษสิ้นสุดมีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพ การนิรโทษกรรม
8. การสื่อสารกับประชาชน ทั้งรัฐบาลและผู้แทนราษฏร
9. การมีส่วนร่วมขององค์ภายในและภายนอกประเทศในการสนับสนุน สังเกตการณ์ในกระบวนการสันติภาพ

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: