ศอ.บต.ในมือ สมศักดิ์ เทพสุทิน และเลขาธิการคนใหม่: เสนอทบทวนบทเรียนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจจากสุไหงโกลก เบตง หนองจิกและจะนะ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) Shukur2003@yahoo.co.uk 12 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 16518 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่างานที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในนั้น การกำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เป็นงานครอบคลุม 5 จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมศักดิ์" หลังจากนั้นท่านก็ลงพื้นที่ "ยะลา-ปัตตานี" มอบนโยบาย ศอ.บต. พัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเล็งสร้างอาชีพ "เลี้ยงไก่-โคบาลชายแดนใต้-วัวกีฬา" พร้อมต่อยอด "ครัวอาหารฮาลาลโลก" หวังสร้างความยั่งยืนให้ประชาชน ภายใต้แม่บ้านคนใหม่พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ย้ายจากอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แทน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร ที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.66 ที่ผ่านมา

ความไม่ชอบมาพากล เอื้อประชาชนหรือนายทุน

โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ของรัฐบาล คสช. เมื่อปี 2559 ที่ต้องการเปลี่ยน 3 พื้นที่ ได้แก่ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ด้วยการตั้งเป้าว่าจะขยายรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่นั้นๆ

แต่แล้วเมื่อปี 2562 ครม.ก็อนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา กลายมาเป็นพื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พร้อมด้วยการนำของกิจการเอกชน 2 บริษัท ได้แก่ TPIPP และ IRPC และได้อนุมัติงบลงทุน 18,680 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้พูดคุยกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน จนชาวบ้านจะนะต้องออกมาประท้วงถึงรัฐสภา จนท้ายสุดต้องรอ ผล SEA

ในขณะที่ สนามบินเบตงก็มีปัญหาตามเป็นข่าวดังในขณะที่นายทุนที่ดินจากคนมีอำนาจทั้งนักการเมือง และอดีตผู้ใหญ่ในศอ.บต.ได้ประโยชน์ถ้วนหน้า "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร"อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งหลังโครงการนี้ศอ.บต.เอาไปขับเคลื่อนและดำเนินการพบปัญหาหลายประการเช่น ทุจริตซื้อขายที่ดินเอื้อประโยชน์แก่บางคน (อ่านเพิ่มเติม) การหลอกนักลงทุนนอกพื้นที่เพื่อเอื้อคนของรัฐและเครือข่ายจนนักลงทุนจำเป็นต้องหนี (อ่านเพิ่มเติม)

ส่วนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ที่จะเป็นเมืองต้นแบบในด้านการค้าชายแดนระหว่างประเทศ แต่กลับเต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจสีเทา การค้ามนุษย์และล่าสุดระเบิดดอกไม้เพลิงที่ตลาดมูโนะ ยิ่งสะท้อนว่า สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ของใครกันแน่ระหว่างชาวบ้านหรือนายทุน ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อจะต่อยอด อันเป็นภารกิจ ที่ท้าทายทั้งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และเลขาธิการคนใหม่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ข้อเสนอแนะ

1. ลงพื้นที่รับฟังทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคนในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

คนในพื้นที่ นักวิชาการ ประชาสังคม สะท้อนตรงกันว่า “โครงการใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นโดย ศอ.บต. ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีปัญหาอย่างมากนั้น โดยเฉพาะในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่คิดโดยส่วนกลาง แต่ไม่เคยคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบคนในพื้นที่ ซึ่งโครงการแบบนี้ ควรต้องยึดหลักสำคัญสำหรับพี่น้องใน 3 เรื่อง คือ 1.สุขภาพ 2.สิ่งแวดล้อม และ 3.เศรษฐกิจ

ชาวบ้านมิได้/ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่พวกเขาเห็นว่าการพัฒนาที่ดีประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ตกอยู่แต่กับนายทุน นักการเมือง คนที่มีอำนาจทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติเพียงอย่างเดียว?

2. ทำตามผลการศึกษา SEA โดยเฉพาะสองพื้นที่ จะนะและหนองจิก ทำไมอย่างไร? เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเชิงประจักษ์

การดำเนินงานต้องเพื่อให้มีกลไก "มีส่วนร่วม เป็นไปตามหลักวิชาการ โปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้"

ภายหลังมีคำสั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ 210/2565 ลงวันที่ 21 ก.ย.65 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี (ครอบคลุมสองพื้นที่จะนะและหนองจิก)จำนวน 21 คน

#ข้อสังเกตในคำสั่งนี้นั้นสภาพัฒน์ ทำแผนแม่บทเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลา และปัตตานี ทำให้จำเป็นที่SEA ภาคประชาชนนั้นควรขับเคลื่อนตั้งแต่คนจะนะยันถึงปัตตานีเพื่อให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกัยศักยภาพของพื้นที่ จริงๆ จะนำไปสู่ความสมดุลของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

กระบวนการทำ SEA ภาคประชาชน จะนะ ปัตตานี ใช้มิติมุมมองทางนิเวศน์ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล เป็นการเมืองระดับท้องทะเล ดังนั้น เมื่อทะเลเชื่อมโยงกันทั้งโลก การทำ SEA ไม่ใช่เฉพาะจะนะ มันมีขอบเขตที่กว้างกว่าพื้นที่อำเภอจะนะ และจังหวัดสงขลา เพื่อไม่ให้ติดปัญหาในเชิงเทคนิค นอกจากนี้ความหมายของทะเลมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างทะเลกับคนในจะนะและปัตตานี ทั้งที่ติดทะเลและไม่ติดทะเล เนื่องจากเมื่อเกิดผลกระทบจากปัญหาการพัฒนา จะเป็นผลกระทบสะสม

ที่กระทบต่อพื้นที่วงกว้าง ดังนั้นหน่วยของการวิเคราะห์ คือ คน สังคม พื้นที่ทะเล ภูเขา ในสัดส่วนที่ใหญ่ เนื่องจากจะมีการสะสมที่ยาวนาน นอกจากนี้ การสร้างข้อสรุปใหม่ ที่ให้ความใส่ใจกับผลกระทบที่ยาวนานและต่อเนื่อง โดยจะต้อง trade of ทุกๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มีตัวเลขที่ชัดเจน ในลักษณะผลกระทบเชิงซ้อนว่าโอกาสในการเกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหนถ้ามีการสร้างและไม่มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม

สอดคล้องกับ ทัศนะอาจารย์อารีลักษณ์ พูลทรัพย์ แห่งรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ซึ่งสะท้อนว่า “นิเวศทางทะเล เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมที่โยงใยกัน”กล่าวคือ อาจารย์อารีลักษณ์ พูลทรัพย์ได้ ฉายภาพในแผนที่กูเกิล และอธิบายชัดเจนว่า อ่าวจะนะคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางทะเลที่เชื่อมต่อกันตั้งแต่ปากทะเลสาบสงขลาจนถึงแหลมตาชีซึ่งครอบคลุมอ่าวปัตตานี หากดูจากแผนที่ก็เห็นชัดเจนว่านี่คือเวิ้งอ่าวรูปจันทร์เสี้ยวที่เป็นอ่าวเดียวกัน

นิเวศอ่าวจะนะจนถึงปัตตานีนี้ เป็นนิเวศที่มีสายน้ำจากภูเขาลงทะเลต่อเนื่องตลอดแนว ตั้งแต่คลองนาทับ คลองสะกอม แม่น้ำเทพา กลุ่มคลองตุหยงและพื้นที่ป่าชายเลนขนาดใหญ่แห่งหนองจิก และแม่น้ำปัตตานี สารอาหารและน้ำจืดจำนวนมากที่ไหลลงทะเล ทำให้ทะเลที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์และหนาแน่นไปด้วยประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่มีวิถีการทำมาหากินควบคู่การอนุรักษ์อย่างสมดุล ซึ่ง ผมฟังแล้วก็ชัดเจนว่าใช่เลย พื้นที่นิเวศตรงนี้มีจุดเด่นที่ต่างจากนิเวศคาบสมุทรสทิงพระที่เป็นนิเวศสองทะเลคือทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทยที่ตรงยาวไปจนสุดแหลมตะลุมพุก ดังนั้นการศึกษาทะเลจะนะโดยตัดขาดจากทะเลเทพา ทะเลหนองจิก ทะเลอ่าวปัตตานี ไปจนถึงทะเลยะหริ่งและปานาเระ นั้นไม่ควรอย่างยิ่งและไม่เฉพาะความสัมพันธ์เชิงนิเวศเท่านั้น สงขลาตอนล่างและปัตตานีต่างก็มีมิติเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมที่โยงใยกันอย่างมาก หาดใหญ่ สงขลา สะเดา จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย หนองจิก โคกโพธิ์ ปัตตานี ยะหริ่ง ยะรัง ปานาเระ ต่างก็มีมิติ ความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น มีระบบเศรษฐกิจที่ผูกโยง สังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างยิ่ง

ข้อเสนอแนะหลังทำเวที SEAสงขลา-ปัตตานี (ครึ่งปีแรกสามเวที)

ผศ.ดร.อลิสา หะสาเมาะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี สะท้อนว่า เวทีประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 1-4 SEAสงขลา-ปัตตานี มีข้อเสนอ ได้ดังนี้ เช่น

1. ประเด็นของจังหวัดสงขลาและปัตตานีที่เหมือนกัน และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมคือ ประเด็นด้านศาสนา วัฒนธรรม เช่น ศาสนาอิสลาม โรงเรียนปอเนาะ อันเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ

2. แต่ความแตกต่างของชาวปัตตานี คือ คนปัตตานีเป็นคนพูดน้อย อาจไม่แสดงความเห็นมากนัก ไม่พอใจก็ไม่แสดงออก แต่อาจก่นต่อว่าอยู่ในใจ ดังนั้น การเก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิและการจัดทำ Focus group จึงสำคัญมาก

3. การนำเสนอข้อมูลด้านศักยภาพของทีมศึกษา ควรนำเสนอให้เห็น ‘ฉากทัศน์’ (scenarios) เกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ว่าคืออะไร

4. ควรใช้ศัพท์และการอธิบายอย่างง่าย เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจความหมายของ ‘SEA’ ทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษาถิ่นใต้ ภาษามลายูปัตตานี เนื่องจากสังเกตเห็นว่า เวทีที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่า SEAสงขลา-ปัตตานี คืออะไร

5. SEAสงขลา-ปัตตานี ควรเป็น “กระบวนการ” และต้องให้ความสำคัญกับการเดินทาง “ระหว่างทาง” ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีความคิด ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม แตกต่างจากสงขลา และพื้นที่อื่น ของประเทศ โดยการทำ SEAสงขลา-ปัตตานี จะใช้กลไกที่มีอยู่เหล่านี้ได้อย่างไร ดังนั้นกระบวนการสื่อสารและกระบวนการมีส่วนร่วมต้องดำเนินไปด้วยกัน และคำถามสำคัญคือ “จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างไร”

สำหรับคำว่า SEA หรือ Strategic Environmental Assessment แปลตรงๆ ว่า การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์

แปลให้ง่ายเข้าไปอีกก็คือ เป็นการศึกษาภาพกว้างว่า สมควรดำเนินโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าควรสร้างควรจะสร้างที่ไหน เมื่อระบุคร่าวๆ แล้วว่าควรจะสร้างและสร้างที่ไหน จึงค่อยมาศึกษา EHIA หรือ EIA เพื่อลงรายละเอียดต่อไป

เนื้อหาเป็นไปตามข้อเรียกร้องที่พี่น้องจะนะ (รวมทั้งนาบอน) เสนอต่อรัฐบาลนั้นหัวใจสำคัญ คือ ทุนและรัฐ ต้องคืนอำนาจให้พี่น้องจะนะ การพัฒนาจะนะจะต้องมีรูปแบบที่หลากหลาย SEA “การประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแสวงหารูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรอำเภอจะนะเพื่อการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่นำไปสู่การกระจายและเป็นธรรมต่อประชาชนโดยรวมของอำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียง”

และที่สำคัญประเทศนี้หลังจากนี้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาหมดสมัยที่กลุ่มทุนจะมาชี้นิ้วสั่งการอีกต่อไป (ปรับจาก “บทเรียนจะนะควรถูกยกระดับให้เป็นวาระอนาคตของไทย”)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: