กระแส ‘เกษตรกรรมในร่ม’ สหรัฐฯ คึกคัก ท่ามกลางเสียงติงเรื่องความยั่งยืน

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 13777 ครั้ง

กระแส ‘เกษตรกรรมในร่ม’ สหรัฐฯ คึกคัก ท่ามกลางเสียงติงเรื่องความยั่งยืน

สื่อ VOA เผยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรหลายแห่งของสหรัฐฯ กำลังหันมาให้ความสนใจมากขึ้นต่อแนวคิดการทำฟาร์มเกษตรในร่ม แม้ว่าทิศทางการดำเนินกิจการแบบนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์และยังไม่มีความแน่นอนอยู่มาก | ที่มาภาพประกอบ: Eden Green Technology

VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2566 ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรหลายแห่งของสหรัฐฯ กำลังหันมาให้ความสนใจมากขึ้นต่อแนวคิดการทำฟาร์มเกษตรในร่มที่ได้ผลผลิตมาก ปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและใช้น้ำและพื้นที่อย่างน้อย แม้ว่า ทิศทางการดำเนินกิจการแบบนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์และยังไม่มีความแน่นอนอยู่มาก

Eden Green Technology คือหนึ่งในบริษัทเกษตรกรรมในร่มรายล่าสุดที่มุ่งพัฒนา “โรงงานผลิตพืช” ให้เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งปี โดยที่ผ่านมา บริษัทมีโรงเรือนปลูกผักแล้วสองแห่ง ก่อนจะเริ่มก่อสร้างเพิ่มอีกสองโรงที่เมืองเคลเบิร์น (Cleburne) รัฐเท็กซัส

บริษัทอื่น ๆ ที่ตัดสินใจลงทุนเดิมพันครั้งใหญ่ในด้านนี้ มีอาทิ บริษัท Plenty จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เพิ่งทุ่มทุนสร้างอาคารมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ และบริษัท Kroger หนึ่งในบริษัทร้านอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ที่ประกาศจะขยายการทำเกษตรกรรมแนวตั้งเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน บริษัท AeroFarms ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และบริษัท AppHarvest รัฐเคนตักกี ซึ่งเป็นสองบริษัทเกษตรกรรมในร่ม ที่ได้รับเงินตั้งต้นอย่างมากในช่วงแรก กลับต้องยื่นฟ้องล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ส่วนบริษัท Planted Detroit ในรัฐมิชิแกน ที่ทำธุรกิจมาได้ห้าปีก็เพิ่งปิดกิจการไปเมื่อฤดูร้อนของปีนี้เพราะปัญหาด้านการเงิน ไม่กี่เดือนหลังประกาศแผนเปิดฟาร์มแห่งที่สอง

ผู้เชี่ยวชาญบางรายให้นิยามการทำฟาร์มในร่มว่า เป็น "เกษตรกรรมที่ถูกควบคุมสภาพแวดล้อม" ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธี โดยหนึ่งในเทคนิคยอดนิยม คือ การทำฟาร์มแนวตั้ง ที่ทำการเพาะปลูกพืชไล่ตั้งแต่พื้นไปจนถึงเพดาน และใช้แสงสังเคราะห์และน้ำที่อุดมด้วยสารอาหารในการเลี้ยงดูพืชในร่มเหล่านี้

ผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดการปลูกพืชในร่มชี้ว่า นี่เป็นวิธีที่ใช้น้ำและที่ดินในปริมาณที่น้อยลง ลดระยะทางการขนส่งผลผลิตไปยังผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า เป็นการประหยัด “ไมล์ในการขนส่งอาหาร” อีกทั้งยังป้องกันผลผลิตจากสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

แต่บางฝ่ายยังคงสงสัยว่า การปลูกพืชในร่มจะมีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากต้องพึ่งพาแสงสังเคราะห์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา โดยแสงดังกล่าวต้องมีความสว่างที่เหมาะสมและมีราคาแพง ขณะที่ ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าพลังงานอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้กำไรใด ๆ เลย

ทอม คิมเมอเรอร์ นักชีวภาพพืช ให้ความเห็นว่า ต่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนจากแสงอาทิตย์ให้ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังแสงไฟสังเคราะห์ ที่เลียนแบบแสงจากดวงอาทิตย์อีกทอดหนึ่ง และนั่นหมายถึงต้นทุนไม่น้อย

ศูนย์ Center of Excellence for Indoor Agriculture (COE) ระบุว่า กระบวนการแปรสภาพพลังงานนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลายหมื่นหรือหลายแสนดอลลาร์ต่อปี ขึ้นอยู่กับขนาดของการดำเนินงาน

ทั้งนี้ บริษัทหลายแห่งยังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำเกษตรกรรมในร่ม และบริษัทต่างๆ กล่าวว่าในอนาคต วางแผนจะหันไปใช้พลังงานสะอาด ทันทีภาครัฐทำการเปลี่ยนถ่ายจากแหล่งพลังงานอย่างในปัจจุบัน ไปเป็นพลังงานสะอาดสำเร็จ

อย่างไรก็ดี คนจำนวนไม่น้อยยังเชื่อในอนาคตของการทำเกษตรกรรมในร่มอยู่ และเชื่อว่า การผสานอย่างเหมาะสมของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของคนในอุตสาหกรรม จะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้แนวทางการทำการเกษตรนี้ออกดอกออกผลที่คุ้มค่าในที่สุด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: