"ภาษีที่ดิน" จุดเริ่มต้นของการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 11 ก.ค. 2566 | อ่านแล้ว 20496 ครั้ง


จากก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลได้ลดหย่อนการจัดเก็บ ‘ภาษีที่ดิน’ ลง 90 เปอร์เซ็นต์ เหลือจัดเก็บเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยลดภาระของผู้เสียภาษี ทว่าปัจจุบันเจ้าของที่ดินทุกคนจะต้องกลับมาเสียภาษีที่ดินเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ดินแต่ละประเภทจะเสียภาษีตามลักษณะการใช้ประโยชน์ต่างกัน เช่น เกษตรกรรม อัตราภาษีปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.01-0.1 เปอร์เซ็นต์ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตราภาษีปัจจุบัน ตั้งแต่ 0.3-0.7 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่า ‘ที่ดินรกร้างว่างเปล่า’ อัตราภาษีสูงถึง 0.3-0.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าหากไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ไม่มีรายได้จากที่ดินรกร้างเหล่านี้ จะถูกจัดเก็บเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก จนส่งผลให้เจ้าของที่ดินเริ่มตื่นตัวและนำที่ดินรกร้างมาทำการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อช่วยลดภาระภาษีที่ดินให้เหลือ 0.01-0.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่พืชที่ปลูกและจำนวนปลูกต่อไร่ และหากปล่อยรกร้างเป็นเวลานานติดต่อกัน 3 ปี จะปรับอัตราภาษีที่ดินรกร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีก 0.3 เปอร์เซ็นต์ ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าการเป็นการกระตุ้นให้ผู้ครอบครองที่ดินใช้ประโยชน์จากที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มรายได้เข้ารัฐบาลนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

แต่ผลที่ได้กลับกลายเป็นว่ากฎหมายนี้ยิ่งเอื้อประโยชน์ให้คนรวย จนเกิดบริษัทรับจ้างพัฒนาที่ดินรกร้าง เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่การเกษตร เห็นได้จากพื้นที่ต่าง ๆ มีการลงกล้วย ลงมะนาว กันยกใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี กฎหมายตัวนี้จึงไม่สามารถทำตามได้ในสิ่งที่หวังไว้ หนำซ้ำตัวบทกฎหมายนี้ ยังไปซ้ำเติมทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เนื่องจากการตีความหมายของคำว่า ‘ที่รกร้าง’ กลับสร้างปัญหาแก่พื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าอยู่แล้ว หรือกำลังฟื้นคืนสภาพ ต้องถูกแปรสภาพเป็นสวนกล้วย สวนมะนาว หรือสวนป่า เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจึงเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่รกร้าง ที่ถูกมองว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ แท้จริงแล้วมันมีประโยชน์ในตัวของมันเอง เป็นแหล่งระบบนิเวศขนาดเล็กให้สัตว์นานาชนิด แหล่งดูดซับคาร์บอน ทั้งยังเป็น Ecology Corridor หรือสะพานระบบนิเวศ ที่เปิดทางให้พรรณไม้ท้องถิ่นได้กลับมาเจริญเติบโตได้ด้วยตนเองหรือผ่านการปลูกใหม่ เพื่อคุ้มครองพันธุกรรมของพันธุ์พืชเหล่านี้จากการคุกคามของพืชต่างถิ่น ทั้งยังช่วยให้สัตว์บางชนิดอย่าง นกย้ายถิ่น นกอพยพ ได้มีที่พักที่หากิน ป้องกันการสูญพันธุ์อีกด้วย

หากมองในแง่ของเศรษฐกิจ พื้นที่เหล่านี้คงถือไม่ว่าไม่มีมูลค่าและเกิดประโยชน์ใด ๆ ผู้คนที่มีพื้นที่จึงต้องเข้ามาจัดการกับพื้นที่เหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี แต่ก็มีกลุ่มคนบางคนที่ยอมรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ไม่ทำอะไร หากแต่ใช่ว่าทุกคนจะยอมเสียภาษีแพงๆ แบบนั้นได้ ในคือในแง่ของตัวเงิน แต่ในแง่สิ่งแวดล้อมนั้นพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและต่อตัวเรา โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปทำอะไร หรือเสียเงินเพื่อลงทุนจัดการ

การปรับนิยามของคำว่า ‘ที่ดิน’ ให้มีข้อยกเว้นที่ดินบางพื้นที่ ที่ควรค่าเก็บไว้ไม่ควรแก่การพัฒนาควรเป็นที่ควรยกขึ้นมาพิจารณาก่อนพื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นเพียงสวนกล้วย สวนมะนาว


เผยแพร่ครั้งแรกในเพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: