หวังผลักดันตั้ง 'ท่าอวกาศยาน' (Spaceport) ในประเทศไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 2964 ครั้ง

'Spaceport' หรือ 'ท่าอวกาศยาน' คือ ฐานปล่อยจรวดหรือดาวเทียม สู่ห้วงอวกาศเพื่อการทำวิจัย ในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอวกาศต่างมีตั้งอยู่ภายในประเทศ - คณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศ เสนอสภาพิจารณาตั้ง 'ท่าอวกาศยานไทย' หวังสร้างดาวเทียม-บุคลากร สามารถส่งดาวเทียมสู่ห้วงอวกาศได้เอง เกิดงานใหม่กว่า 400 อาชีพ ชี้ 'ธุรกิจอวกาศ' มูลค่ามหาศาล และจะไม่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป | ที่มาภาพประกอบ: Orbital Today

'Spaceport' หรือ 'ท่าอวกาศยาน' คือ ฐานปล่อยจรวดหรือดาวเทียม สู่ห้วงอวกาศเพื่อการทำวิจัย ในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับโลก จึงต่างมี Spaceport อยู่ภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยของตนเอง

ทั้งนี้หากประเทศไทยมีท่าอวกาศยานเป็นของเราเอง นอกจากจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศแล้ว จะยังทำให้เกิดการสร้างรายได้ทางตรงจากอุตสาหกรรมอวกาศ และหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อเนื่องตามมา

คณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศ เสนอสภาพิจารณาตั้ง 'ท่าอวกาศยานไทย'

เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศ เพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร มีมติให้นำผลการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการทำธุรกิจ Outer Space Launching Service และการทำธุรกิจ Outer Space Launching Infrastructure เข้ารายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจัดส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจนำส่งดาวเทียมและวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจรได้สร้างรายได้มหาศาลให้กับหลายประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศ และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานอวกาศหลัก ที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ จากการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดทำธุรกิจดังกล่าว พบว่า หัวใจหลักของการทำธุรกิจประเภทนี้ คือ การจัดตั้ง "ท่าอวกาศยาน" หรือ "Spaceport" ภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการในทุกมิติที่สมบูรณ์แบบ โดยจุดเริ่มต้นดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตให้จัดทำพื้นที่พิเศษ เพื่อการทดลองจรวดความเร็วเสียง หรือ Sounding Rocket Sandbox ที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา วิศวกร นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จะสามารถใช้เพื่อทำการทดสอบ ประกอบ และสร้างจรวดความเร็วเสียง ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ถึงปัญหา ข้อติดขัด และวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งในด้านภูมิประเทศของไทยนับว่าเป็นทำเลทองในการจัดตั้งท่าอวกาศยานเป็นอย่างมาก เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งการหมุนของโลกจะช่วยเหวี่ยงเพิ่มแรงขับเคลื่อนของจรวดส่งออกสู่อวกาศได้เร็วขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิง

เพื่อนบ้านอย่าง 'อินโดนีเซีย' ตั้งเป้ามีในประเทศภายในปี 2588

หนึ่งในภารกิจที่น่าจับตาของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของไทยเราอย่าง 'อินโดนีเซีย' ก็คือก่อนครบรอบ 100 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพ (วันที่ประกาศเอกราช 17 ส.ค. 2488) อินโดนีเซียหวังที่จะการสร้างท่าอวกาศยานเป็นของตนเองให้ได้

ทั้งนี้หากพูดในเรื่องของการแข่งขันด้านอวกาศที่มีทั่วโลก อินโดนีเซียเองก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2506 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ก่อตั้งสถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซีย (National Institute of Aeronautics and Space) หรือมีชื่อเรียกว่า LAPAN ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียม รวมไปถึงเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศ

ศ. ดร. Thomas Djamaluddin นักวิทยาศาสตร์ด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ LAPAN ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 ว่า “โครงการอวกาศเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณมาก ความเสี่ยงสูงและมีต้นทุนสูง เพราะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งอินโดนีเซียในฐานะประเทศกำลังพัฒนาย่อมมีข้อจำกัดอย่างแน่นอน”

แม้จะมีปัญหาสำคัญคือข้อจำกัดด้านงบประมาณและเทคโนโลยี ดังนั้นอินโดนีเซียจึงเริ่มโครงการอวกาศเป็นระยะๆ แต่เป้าหมายการสร้างท่าอวกาศยานของตนเองก็อาจไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมของอินโดนีเซีย

“เราหวังว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีการปล่อยจรวดด้วยการสร้าง Spaceport ในพื้นที่ประเทศอินโดนีเซีย และสามารถปล่อยยานสำรวจอวกาศได้จากอินโดนีเซีย” ศ. ดร. Thomas กล่าวอย่างมีความหวัง

“เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับภารกิจของอินโดนีเซียในแผนแม่บทสำหรับอวกาศ โดยแผนนี้มีภารกิจสำคัญ ก่อนครบรอบ 100 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพ ซึ่งก็คือก่อนปี ค.ศ. 2045 (พ.ศ. 2588) เราจะสามารถสร้างดาวเทียมของเราเองได้ และสิ่งนี้ก็สำเร็จไปแล้ว”

“ถัดมาคือการผลิตจรวด ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแล้ว โดยเป้าหมายอยู่ที่ระดับความสูง 200-300 กิโลเมตร และสุดท้ายคือการที่เราจะมีท่าอวกาศยานหรือ Spaceport เป็นของตัวเอง ด้วยตำแหน่งของอินโดนีเซียที่เส้นศูนย์สูตร จึงเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะปล่อยดาวเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ศ. ดร. Thomas กล่าวทิ้งท้าย

เกิดงานใหม่กว่า 400 อาชีพ ชี้ 'ธุรกิจอวกาศ' มูลค่ามหาศาล และจะไม่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป


หากมี 'ท่าอวกาศยานไทย' ไทยก็จะมีศักยภาพสร้างดาวเทียม-บุคลากร สามารถส่งดาวเทียมสู่ห้วงอวกาศได้เอง เกิดงานใหม่กว่า 400 อาชีพ | ที่มาภาพประกอบ: U.S. Bureau of Labor Statistics

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ เปิดเผยด้วยว่า ท่าอวกาศยานประเทศไทย หรือ Spaceport Thailand จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศขนาดใหญ่ ที่จะส่งเสริมและผลักดัน ธุรกิจอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ การยกระดับเศรษฐกิจและสังคม การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศ ยกระดับวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ การสร้างบุคลากรในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศ ผลักดันให้เกิดการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรมอวกาศใหม่ๆ ส่งผลกระทบที่ดีในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ การจัดตั้งท่าอวกาศยานจะทำให้ประชาชนมีแหล่งประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 300-400 อาชีพ อาทิ ช่างประกอบจรวด ช่างประกอบเพย์โหลด ช่างขัดท่อจรวด ช่างอิเล็กทรอนิกส์ระบบจรวด ช่างไฟฟ้าระบบจรวด เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าจรวด พนักงานขายตั๋วเที่ยวบินไปอวกาศฯลฯ ซึ่งยังไม่เคยมีตำแหน่งงานเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศมาก่อน ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ที่มาข้อมูล
อวกาศไม่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป คณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศ เตรียมเสนอสภาพิจารณาตั้ง "ท่าอวกาศยานไทย” (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 3 ม.ค. 2566)
Spaceport อินโดนีเซีย ฉลอง 100 ปี แห่งอิสรภาพ (NSTDA SPACE Education, 24 ก.พ. 2565)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: