จับมือสร้างเครือข่าย 'ครูวิเศษสอนเด็กพิเศษ' I teach Superhero

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 3687 ครั้ง

จับมือสร้างเครือข่าย 'ครูวิเศษสอนเด็กพิเศษ' I teach Superhero

มศว จับมือ สมาคมครูการศึกษาพิเศษไทย สร้างเครือข่าย 'ครูวิเศษสอนเด็กพิเศษ' I teach Superhero หวังส่งเสริมวิชาการและความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี วิริยางกูร นายกสมาคมครูการศึกษาพิเศษไทย ณ มศว ประสานมิตร กทม. โดยมีความมุ่งหวังร่วมกันว่าจะสร้างเครือข่ายการศึกษาและพัฒนายกระดับ “ครูวิเศษสอนเด็กพิเศษ” ให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มีการหารือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษร่วมกับสมาคมครูการศึกษาพิเศษไทยและมีความเห็นร่วมกันที่จะยกระดับความร่วมมือให้ครอบคลุมในหลายบริบทและประสานความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานเป็นไปด้วยความเกื้อกูล ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย โดยอาศัยศักยภาพของทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ ภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการส่งเสริมศักยภาพความเข้มแข็งทางวิชาการและความเป็นเลิศ โดยนำองค์ความรู้ด้านการศึกษาพิเศษไปประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อีกทั้งเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิตและเปิดโอกาสให้คณาจารย์ได้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันอันจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรให้ได้รับการพัฒนาทางด้านวิชาการ วิจัย นวัตกรรม อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป และเชื่อมั่นว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกับสมาคมครูการศึกษาพิเศษไทยในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันทั้งในด้านการส่งเสริมวิชาการและความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี วิริยางกูร (นายกสมาคมครูการศึกษาพิเศษไทย) ศิษย์เก่าปริญญาโทคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เล่าว่า “ก่อนหน้านี้ เราได้พบเด็กพิเศษอยู่บ้าง และประทับใจที่เขาทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าที่เราคิด จึงตัดสินใจมาเรียนในสาขาวิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพราะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีชื่อเสียงในด้านนี้มายาวนาน เมื่อได้เรียนไประยะหนึ่ง ก็หลงรักเด็กพิเศษและอยากหาวิธีช่วยเด็ก ๆ ให้มากขึ้น จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อด้านการศึกษาพิเศษที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะชักชวนกัลยาณมิตรในวงการการศึกษาพิเศษมาร่วมกันก่อตั้งสมาคมครูการศึกษาพิเศษไทย เพราะอยากให้ความรู้กับครูที่ต้องสอนเด็กพิเศษหรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นเด็กพิเศษ เพื่อให้ครูและผู้ปกครองได้เห็นว่าการสอนเด็กพิเศษนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ตอนนี้สมาคมฯ มีอายุ 3 ปีแล้ว เรามีโอกาสได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการสอนเด็กพิเศษมากขึ้นเรื่อย ๆ

วิธีการสอนเด็กทั่วไป ไม่สามารถนำมาใช้สอนเด็กพิเศษได้ แต่วิธีการสอนเด็กพิเศษ กลับนำมาใช้กับเด็กทั่วไปได้ ความรู้ด้านการศึกษาพิเศษจึงเป็นวิชาที่มีประโยชน์สำหรับครูทุกคน และการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเด็กพิเศษ คือ การเรียนรวม เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กทั่วไป ได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป เด็กพิเศษจะพัฒนาขึ้นมาก สมาคมฯ จึงมีเป้าหมายที่จะสร้าง ‘ครูวิเศษ สอนเด็กพิเศษ’ ทั่วประเทศไทย เพื่อให้ครูทุกคน(ไม่จำเป็นต้องเป็นครูการศึกษาพิเศษ) สามารถสอนนักเรียนที่มีความสามารถหลากหลายได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เด็กพิเศษมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สพฐ รายงานว่าโรงเรียนเรียนรวมทั่วประเทศมีเด็กแอลดีอยู่สี่แสนกว่าคน และยังมีเด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กเรียนรู้ช้า ฯลฯ อีกด้วย อันที่จริง “ความแตกต่าง” เป็นธรรมชาติของมนุษย์ โลกนี้จึงมีทั้งคนเรียนเก่งและคนเรียนอ่อนปะปนกัน มนุษย์แต่ละคนก็มีความสามารถหลากหลาย ความต้องการพิเศษจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าครูและผู้ปกครองเข้าใจลักษณะของนักเรียนหรือบุตรหลาน และปรับการสอนให้สอดคล้องกับลักษณะของเด็ก การสอนเด็กพิเศษก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าผู้ใหญ่สอนเป็น เด็กพิเศษจะแสดงความสามารถออกมา แต่ถ้าเราไม่สอน เขาก็จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องพึ่งพาคนรอบข้างตลอดเวลา

มศว มีชื่อเสียงมายาวนานในการเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชาชีพครูชั้นสูงแห่งแรกของประเทศไทย ที่ผลิตครูจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ การที่สมาคมฯ มีความร่วมมือกับ มศว ครั้งนี้จะเป็นการสร้างเสริมความเข้มแข็งในวงการการศึกษาพิเศษ และยังเป็นการขยายเครือข่ายให้คนทั่วไปได้รู้จักการศึกษาพิเศษมากขึ้นด้วย ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้เด็กพิเศษได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี วิริยางกูร กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: