สั่งนายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเรือประมงชาวเมียนมา 4 ราย กรณีละเมิด กม.คุ้มครองแรงงาน 193,896 บาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 19003 ครั้ง

สั่งนายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเรือประมงชาวเมียนมา 4 ราย กรณีละเมิด กม.คุ้มครองแรงงาน 193,896 บาท

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เผยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปัตตานี ออกคำสั่งนายจ้างเรือประมง 2 ราย จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเรือประมงชาวเมียนมา 4 ราย กรณีละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมเป็นเงิน 193,896 บาท

8 ก.ย. 2566 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงชาวเมียนมา จำนวน 4 ราย จากพื้นที่จังหวัดปัตตานี กรณีนายจ้างละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยการไม่จ่ายค่าจ้าง และมีข้อเท็จจริงที่อาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทางมูลนิธิฯได้ดำเนินการตามกลไกส่งต่อระดับชาติ ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 โดยกลไกนี้จะเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือคุ้มครองบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเบื้องต้นได้
ภายหลังการดำเนินการคัดแยกผู้เสียหายนำโดยคณะสหวิชาชีพและกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 คณะสหวิชาชีพให้ความเห็นว่า มีลูกเรือประมง 2 รายเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจาการค้ามนุษย์ และลูกเรือประมงทั้งหมด 4 รายมีข้อเท็จจริงที่นายจ้างละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในส่วนค่าจ้างค้างจ่ายและไม่จ่ายค่าจ้างในวันหยุดวันลา และการละเมิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ในส่วนของการยึดเอกสารแรงงาน

ต่อมาพนักงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่รับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 2 ฉบับ เลขที่ 3/2566 ลงวันที่ 18 เมษายน 2566 และ เลขที่ 4/2566 ลงวันที่ 18 เมษายน 2566 เรื่องค่าจ้างระหว่างลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องกับนายจ้าง โดยคำสั่งทั้งสองฉบับ ให้นายจ้างเรือประมงจ่ายค่าจ้างที่ค้างให้แก่ลูกจ้างประมงชาวเมียนมารวมถึงค่าจ้างในวันลาป่วย ให้ลูกจ้าง ทั้ง 4 ราย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับตั้งแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กรณีที่ 1 ลูกจ้างเรือประมง 2 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้น ทางพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดปัตตานี ได้ออกคำสั่งเรื่องค่าจ้าง ให้นายจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการประมงทะเล และเป็นเจ้าของเรือประมง ที่ทำการประมงในน่านน้ำพื้นที่อ่าวไทยจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช จ่ายค่าจ้างกับลูกเรือประมงที่เป็นลูกจ้างชาวเมียนมา 2 โดยสั่งจ่ายให้ลูกจ้างเรือประมงรายแรก เป็นเงินจำนวน 53,058.67 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระสำเร็จ และสั่งจายให้ลูกจ้างเรือประมงรายที่ 2 จำนวน 54,558.67 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระสำเร็จ ในการนี้ นายจ้างได้ดำเนินการจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจฯ โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปัตตานีนำเงินสดจากนายจ้างมาจ่ายกับลูกจ้างทั้ง 2 คน ณ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (Stella Maris) จังหวัดสงขลา ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา และลูกจ้างเรือประมงทั้ง 2 ราย ได้รับเงินค่าจ้างและดอกเบี้ยครบถ้วน ลูกจ้างเรือประมงรายแรก ได้รับเงินยอดรวม 57,527 บาท และลูกจ้างเรือประมงรายที่สอง ได้รับเงิน จำนวน 60,265 บาท

กรณีที่ 2 ลูกจ้างเรือประมงชาวเมียนมา 2 ราย พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งเรื่องค่าจ้าง แก่นายจ้างเรือประมงให้นำเงินชำระแก่ลูกจ้างทั้ง 2 คน กรณี นายจ้างได้ค้างค่าจ้างแก่ลูกจ้างบางส่วนตามจำนวนที่ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องไว้ และยังเชื่อได้ว่านายจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันที่ลาตลอดระยะเวลานั้นเป็นความจริง ดังนั้น ลูกจ้างที่ยื่นคำร้องจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย โดย รายที่ 1 นายจ้างยังคงค้างค่าจ้าง 27,060 บาท ค่าจ้างวันลาป่วย 9,800 บาท รายที่ 2 นายจ้างยังคงค้างค่าจ้างอีก 27,200 บาท ค่าจ้างวันลาป่วย 4,800 บาท รวมค่าจ้างทั้งสิ้น 54,260 บาท และค่าจ้างในวันลาป่วยจำนวนทั้งสิ้น 14,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จให้แก่ลูกจ้างเรือประมงทั้ง 2 คน ในการนี้ นายจ้างได้ดำเนินการจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจฯ โดยนายจ้างนำเงินสดมาจ่ายให้ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกระบี่ ซึ่งในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และลูกจ้างเรือประมงทั้ง 2 ราย ได้รับเงินค่าจ้างและดอกเบี้ยครบถ้วน

จากการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติครั้งนี้ มูลนิธิฯ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติตามกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินการตามกลไกการส่งต่อระดับชาติเพื่อการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย (National Referral Mechanism: NRM) ยังคงเป็นข้อท้าทายสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจาการค้ามนุษย์หรือเป็นแรงงานบังคับโดยเฉพาะผู้เสียหายที่มีความเปราะบางอย่างแรงงานข้ามชาติ เช่น แนวการถามของกระบวนการสอบคัดแยกผู้เสียหาย มีลักษณะเป็นการถามนำ คล้ายกับการซักค้านพยานที่อยู่ในการพิจารณาคดีในชั้นศาลเพื่อลดความน่าเชื่อถือของพยาน ทำให้แรงงานเกิดความสับสนและต้องตอบในกรอบของการถามในลักษณะของคำถามนำ คำถามที่ถามมีความเข้าใจยากและซับซ้อน การคัดแยกที่มีจำนวนของเจ้าหน้าที่จำนวนมากเกิดการกดดันทำให้แรงงานเกิดความกังวลของแรงงานซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมในห้องคัดแยก รวมทั้งปัญหาความเข้าใจการตีความทางประเด็นและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในส่วนของกระบวนการในเรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งในด้านความพร้อม และการเตรียมความรู้ทางกฎหมายให้เข้าใจมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการยึดเอกสารของแรงงานทั้ง 4 ราย โดยไม่สมัครใจ และยึดไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ นอกจากเป็นการละเมิด มาตรา 131 ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แล้ว ยังเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานเป็นแรงงานบังคับ แต่กระบวนการพิจารณาเพื่อดำเนินคดีต่อนายจ้างในกรณีนี้ไม่ได้ถูกพิจารณาว่ามีการกระทำความผิดแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเป็นข้อท้าทายต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานบังคับ นับแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีส่วนเสริมอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 ขององค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ได้ลงนามส่วนเสริมอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แต่การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่ร้องเรียนว่ามีการยึดเอกสาร โดยเฉพาะการจงใจยึดเอกสารเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ยังมีสถิติการดำเนินคดีที่ต่ำ ถือเป็นความไม่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะเอาจริงเอาจังในการยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานให้เป็นสากล และพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างจริงจังในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: