ประชาชนกว่า 30,000 คน ลงชื่อเรียกร้องให้ห้างใหญ่ฯ ยกเลิกขายไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่ในกรงตับ

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 11181 ครั้ง

ประชาชนกว่า 30,000 คน ลงชื่อเรียกร้องให้ห้างใหญ่ฯ ยกเลิกขายไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่ในกรงตับ

องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากลซิเนอร์เจีย แอนนิมอล (Sinergia Animal) เผยประชาชนกว่า 30,000 คนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ห้างใหญ่ฯ ยกเลิกการจำหน่ายไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่ในกรงตับ

ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากลซิเนอร์เจีย แอนนิมอล (Sinergia Animal) ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมายจากการทำกิจกรรมที่ประกอบไปด้วยรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ต ตกแต่งด้วยขนนกและถาดใส่ไข่เปื้อนเลือด หน้าสวนเบญจสิริใจกลางกรุงเทพฯ กิจกรรมการรณรงค์นี้เน้นให้เห็นว่าถึงแม้ประชาชนกว่า 30,000 คนได้ลงนามในข้อเรียกร้องขอให้แม็คโครบอกลากรงตับสำหรับแม่ไก่ แต่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่รายนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศนโยบายปรับปรุงสวัสดิภาพของสัตว์ดังกล่าว

กิจกรรมรณรงค์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ซิเนอร์เจีย แอนนิมอลได้เจรจาและรณรงค์กับแม็คโครมาถึงสี่ปีโดยซิเนอร์เจีย แอนนิมอล โดยข้อเรียกร้องคือให้บริษัทประกาศว่าจะไม่จัดหาและจัดจำหน่ายไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไว้ในกรงตับอีกต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่ากรงตับเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่โหดร้ายที่สุดต่อสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหาร

“เว็บไซต์ของแม็คโครระบุถึงความตั้งใจที่จะจัดจำหน่ายไข่ไก่ปลอดกรงเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าในทุกสาขา แต่นี่ยังไม่เพียงพอ” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยซิเนอร์เจีย แอนนิมอล กล่าว “ระบบปลอดกรงไม่ควรเป็นเพียงทางเลือก แต่ควรเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของอุตสาหกรรมไข่ บริษัทอื่นๆ ในไทยหลายแห่งได้ให้คำมั่นเพื่อแม่ไก่แล้ว และแม็คโคร ซึ่งมีศักยภาพในการบรรเทาความทุกข์แสนสาหัสของแม่ไก่ ก็สามารถปฏิบัติตามได้ และเปลี่ยนมาตรฐานอุตสาหกรรมไปสู่ระบบที่โหดร้ายน้อยลง” วิชญะภัทร์ให้ความเห็นข้อกังวลที่น่าตกใจเกี่ยวกับกรงตับ

กรงตับเป็นระบบการผลิตไข่ทางอุตสาหกรรมที่ขังแม่ไก่หลายตัวไว้ในกรงโลหะขนาดเล็ก แม่ไก่แต่ละตัวใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 และไม่สามารถเดินได้อย่างอิสระหรือกางปีกออกจนสุดได้ การถูกกักขังเช่นนี้ทำให้แม่ไก่รู้สึกหงุดหงิดอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะกระดูกเปราะ

กรงตับยังอาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนได้เช่นกัน หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (European Food Safety Authority) ได้ทำการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกี่ยวกับปัญหานี้ และสรุปว่าฟาร์มระบบกรงมีโอกาสพบเชื้อ Salmonella สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบที่ไม่มีกรง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก คาดว่า "เชื้อ Salmonella spp. ที่ไม่ใช่ไทฟอยด์จะทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กอักเสบเฉียบพลันได้ 93.8 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 155,000 รายในแต่ละปี โดยประมาณ 85% ของจำนวนนี้คาดว่าจะเกิดจากอาหาร"

เนื่องจากข้อกังวลด้านสวัสดิภาพสัตว์ กรงตับแบบดั้งเดิมจึงถูกห้ามใช้แล้วในสหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศ ในขณะเดียวกันประเทศไทย ซึ่งมีแม่ไก่ประมาณ 60 ล้านชีวิตในอุตสาหกรรมไข่ ยังไม่มีกฎข้อบังคับที่ห้ามใช้กรงตับ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทมากมาย เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต Lotus's ซึ่งเดิมชื่อ เทสโก้ โลตัส ซูกิชิ อินเตอร์กรุ๊ป และแอสคอทท์ในการเป็นผู้ริเริ่มในประเทศไทยและเริ่มเปลี่ยนระบบสู่การใช้ไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรง 100% “เราเพียงขอให้แม็คโครทำเหมือนกับบริษัทอื่นๆ ที่ได้ประกาศความมุ่งมั่นแล้ว” วิชญะภัทร์แสดงความคิดเห็น

ผู้บริโภคไม่ต้องการให้แม่ไก่อยู่ในกรงขัง

การสำรวจในปี 2565 ที่จัดทำโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สวัสดิภาพสัตว์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์เห็นตรงกันว่าการที่แม่ไก่ไข่ไม่ต้องทนทุกข์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา และพวกเขาต้องการซื้อไข่จากแม่ไก่ที่ไม่ถูกขังกรงมากกว่า บริษัทหลายแห่งในประเทศไทยและต่างประเทศก็ได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะไม่จัดหาหรือจัดจำหน่ายไข่จากระบบกรงอีกต่อไป

“เราพยายามเจรจากับแม็คโครมากว่าสี่ปีแล้ว จนถึงตอนนี้เราได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมากในการเปลี่ยนไปใช้ไข่ไก่ปลอดกรงในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่แม็คโครไม่ตามให้ทันความก้าวหน้า เราขอเรียกร้องให้พวกเขาประกาศความมุ่งมั่นที่จะไม่สั่งซื้อไข่ไก่จากกรงขังทันที” วิชญะภัทร์กล่าวสรุป และยังเชิญชวนผู้บริโภคแสดงความกังวลถึงสยามแม็คโครและร่วมลงนามในข้อเรียกร้องร่วมกับประชาชนกว่า 30,000 รายชื่อที่ www.siammacroeggs.org

 

เกี่ยวกับซิเนอร์เจีย แอนนิมอล
ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ซึ่งปฏิบัติงานในกลุ่มประเทศ Global South เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และส่งเสริมทางเลือกอาหารที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์ เราได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกโดย Animal Charity Evaluators (ACE)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: