'วันงานที่มีคุณค่าสากล' แรงงานเรียกร้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 17323 ครั้ง

'วันงานที่มีคุณค่าสากล' แรงงานเรียกร้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

'วันงานที่มีคุณค่าสากล' เครือข่ายแรงงานเรียกร้องยกเลิกรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง รับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ - ‘ไรเดอร์’ ขอหน่วยงานดัน กม.คุ้มครองสิทธิ | ที่มาภาพ: Confederation of Industrial Labour of Thailand

7 ต.ค. 2566 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาไอแอลโอ 87, 98 นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย นำเครือข่ายแรงงาน จัดกิจกรรม เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล : World Day for Decent Work โดยมีการเดินขบวนแรงงานจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังสำนักงาน UN เพื่ออ่านแถลงการณ์ เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว จึงหวังว่ารัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และรมว.การคลัง รวมถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน คนใหม่ จะเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน มีการรับฟังข้อเสนอของเรา โดยเฉพาะการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับ ที่ 87 และ 98 สนับสนุนให้มีเสรีภาพรวมตัว เจรจต่อรอง ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ เพื่อให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญแก่คนทำงาน

สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อรัฐบาล มีทั้งหมด 3 ข้อ คือ

1. การยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งการจ้างงานในปัจจุบันเป็นการจ้างงานแบบการจ้างระยะสั้น เช่น เหมาค่าแรง เหมางาน จ้างงานบางช่วงเวลา การจ้างงานนักศึกษาฝึกงาน ตามชิ้นงาน หรือ จ่ายรายวัน ซึ่งการจ้างงานดังที่กล่าวมา ได้แพร่ระบาดไปทั่ว ทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยงานราชการ บางแห่งจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ลูกจ้างในภาครัฐในทุกกระทรวง

2. ขอให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ค.ศ. 1948 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ค.ศ. 1949 ว่าด้วยการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งขบวนการแรงงานเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานทั่วโลกที่บัญญัติไว้ในกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากล ILO และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่มีมา แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นเหตุให้คนงานต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง ทำให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดแซงหน้าทุกประเทศในโลกนี้ และส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง และระบอบประชาธิปไตย... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/2787135/

3. ให้รัฐบาลหยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ เช่น เรื่องพลังงานน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง การธนาคาร การสื่อสารโทรคมนาคม รัฐควรดำเนินการเองเพื่อกำหนดราคาไม่ให้ราคาแพง เพราะจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่ายประชาชน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เกิดการผลิต การจำหน่าย เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีกำลังซื้อ ลดหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องเกือบเท่าจำนวนผลิภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยขอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแทนการแปรรูป

‘ไรเดอร์’ ขอหน่วยงานดัน กม.คุ้มครองสิทธิ

มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ห้างเมเจอร์รังสิต เครือข่ายแรงงานไรเดอร์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ร่วมกับมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดขบวนรถจักรยานยนต์ไรเดอร์กว่า 100 คัน วิ่งรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ เนื่องในโอกาส “วันแรงงานที่มีคุณค่า” (Day for Decent Work) เพื่อสะท้อนถึงความยากลำบากของแรงงานไรเดอร์ ความไม่เป็นธรรมในการจ้างงาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรับมอบหมวกนิรภัยจากผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อกระตุ้นให้ไรเดอร์ตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย

ศรีไพร นนทรี ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ครั้งที่ 87 พ.ศ.2547 กำหนดให้ทุกวันที่ 7 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันแรงงานที่มีคุณค่า เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกมีการรณรงค์ให้เกิดการจ้างงานที่ดีและมั่นคง เป็นธรรม ดังนั้น ในปีนี้กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้ร่วมกับเครือข่ายแรงงานไรเดอร์และภาคีเครือข่าย จัดขบวนรถไรเดอร์วิ่งรณรงค์บนถนนพหลโยธิน ลำลูกกา และมาที่เมเจอร์รังสิต โดยมีการปราศรัยและแจกสื่อสติกเกอร์ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความเป็นธรรมในการทำงานทั้งเรื่องค่าตอบแทน สิทธิ สวัสดิการที่เหมาะสมจะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

“โดยเฉพาะปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป ทำให้คนงานจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการคุ้มครอง จึงต้องทำงานหนัก เสี่ยงอันตราย ความสัมพันธ์กับสังคมและครอบครัวถูกตัดขาดไป เช่น ลูกจ้างแพลตฟอร์ม คนงานไรเดอร์ ที่ต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อได้รอบวิ่งงานให้มากที่สุดถึงจะได้มีเงินเพียงพอในการดูแลครอบครัว ทำให้เกิดอุบติเหตุ เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการจำนวนมาก ซึ่งในช่วงที่ต้องพักรักษาตัวก็ไม่มีสวัสดิการดูแล ขาดรายได้ ทำให้ชีวิตติดลบ หรือกรณีคนงานหญิง ก็มีจำนวนหนึ่งที่ถูกลูกค้าลวนลาม ความมั่นคงในการทำงานไม่มีเลย ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือระยะสั้นมีมาตรการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน ส่วนระยะยาวต้องมีการผลักดันกฎหมายการเข้าถึงสิทธิคุ้มครอง และสิทธิการรวมตัว เพื่อให้คนงานได้สิทธิการดูแล คุ้มครองและมีสวัสดิการและมีชีวิตเหมือนแรงงานภาคส่วนอื่นๆ โดยยังคงสภาพชั่วโมงการทำงานในรูปแบบที่คนงานพอใจ” ศรีไพร กล่าว

ขณะที่ ประภาพร ผลอินทร์ แรงงานไรเดอร์ย่านฝั่งธน กล่าวว่า สังคมปัจจุบันมองไรเดอร์เป็นแค่คนส่งอาหาร ไม่มีความสำคัญอะไร แท้ที่จริงแล้วเราคือคนทำงานคนหนึ่งทำงานบนความเสี่ยง โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนถนน ที่ผ่านมามีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อช่วยกันออกเงินช่วยเหลือให้กับไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุเป็นรายกรณี แต่ไม่เคยมีกองทุนทดแทนหรือเงินชดเชยเข้ามาดูแลช่วยเหลืออะไรทั้งสิ้น หรือแม้จากทางแพลตฟอร์มก็ไม่มีมาเยียวยา ทั้งๆ ที่เราก็เป็นคนทำงานและมีนายจ้าง

“อาชีพไรเดอร์ ที่มีออฟฟิศอยู่บนท้องถนน อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ด้วยความเร่งรีบหรือการกดดันจากลูกค้าเพื่อที่จะได้รับหรือส่งอาหารได้เร็วที่สุด อีกทั้งทางแพลตฟอร์มจ่ายงานซ้อน2-3 จุด จึงทำให้เร่งรีบสุดท้ายก็จะเกิดอุบัติเหตุ และไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีหน่วยงานใดมาช่วย แม้กระทั่งบริษัทแพลตฟอร์ม แม้แต่ค่าตอบแทนก็ไม่เป็นธรรมและลดลงทุกวัน จึงทำให้เวลาทำงานของไรเดอร์มากขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าน้ำมันแพงขึ้น จึงอยากให้สังคมและลูกค้าได้เข้าใจว่าการทำงานของเราลำบากมาก ในปีนี้เราก็เริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องของอุบัติเหตุมากขึ้น และขอขอบคุณสสส.ที่ยังเห็นความสำคัญและสนับสนุนหมวกนิรภัย กว่า 100 ใบ” น.ส.ประภาพร กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: