ผู้นำประเทศยากจนเผยความอัดอั้นในใจใส่ประเทศร่ำรวยบนเวทีสหประชาชาติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1191 ครั้ง

ผู้นำประเทศยากจนเผยความอัดอั้นในใจใส่ประเทศร่ำรวยบนเวทีสหประชาชาติ

ผู้นำจากประเทศยากจนที่สุดในโลกขึ้นเวทีการประชุมสุดยอดองค์สหประชาชาติ (UN) ระบายความอัดอั้นและผิดหวังต่อประเทศร่ำรวยทั้งหลายปฏิบัติต่อประเทศของพวกเขา พร้อมเรียกร้องให้ทำตามสัญญาที่จะมอบความช่วยเหลือมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในการต่อสู้กับความยากจนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

VOA รายงานว่าผู้นำจากประเทศยากจนที่สุดในโลกขึ้นเวทีการประชุมสุดยอดองค์สหประชาชาติ (UN) ที่กรุงโดฮาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2566 พร้อมระบายความอัดอั้นตันใจและความผิดหวังต่อวิธีที่บรรดาประเทศร่ำรวยทั้งหลายปฏิบัติต่อประเทศของตน พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำทั้งหลายทำตามสัญญาที่จะมอบความช่วยเหลือมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในการต่อสู้กับความยากจนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

หนึ่งในผู้นำประเทศที่ถูกจัดว่ายากจนที่สุดในโลกที่ใช้เวทีที่ประชุมกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุดที่จัดโดยยูเอ็น ระบายความในใจคือ โฟสตอน-อาร์คานจ์ ทูอาเดรา ประธานสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ที่ระบุว่า ประเทศซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรแต่มีฐานะยากจนมากของตนถูก “มหาอำนาจตะวันตก” ทำการ “ปล้มสะดม” มาอย่างต่อเนื่อง

อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเพิ่งออกมาให้ความเห็นเมื่อวันก่อนเกี่ยวกับประเด็นการที่ธนาคารระหว่างประเทศทั้งหลายเรียกเก็บดอกเบี้ย “แบบล่าเหยื่อ” จากประเทศยากจน แสดงความเห็นสนับสนุนข้อเรียกร้องของประเทศยากจนด้วยการระบุว่า จากนี้ไป ไม่ควรมี “ข้อแก้ตัวใด ๆ” ที่ประเทศร่ำรวยต่าง ๆ จะไม่ส่งมอบความช่วยเหลือที่เคยสัญญาไว้

อย่างไรก็ดี ในวันเปิดการประชุมนี้ซึ่งจัดขึ้น 10 ปีครั้ง ไม่มีประเทศใดออกมาประกาศความพร้อมส่งมอบเงินช่วยเหลือที่ประเทศยากจนทั้งหลายเฝ้ารออยู่ นอกจากงบประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ที่ประเทศกาตาร์ซึ่งเป็นเจ้าภาพงานนี้ระบุว่า จะมอบให้กับโครงการต่าง ๆ ของยูเอ็น

ทั้งนี้ ผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำทั้งหลายไม่ได้มาร่วมการประชุมอภิปรายในครั้งนี้ที่มีกำหนดจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน เพื่อหารือปัญหาต่าง ๆ ของประเทศยากจน

ขณะที่ กูเทอเรซ ซึ่งเข้าร่วมประชุมกับผู้นำประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดในวันที่ 4 มี.ค. เรียกร้องให้มีการระดมเงินช่วยเหลือมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยในกระบวนการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศยากจน ผู้นำประเทศเหล่านี้ใช้โอกาสวันเปิดงานการประชุมอภิปรายในวันที่ 5 มี.ค. ยืนยันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายส่งมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ที่สัญญาไว้ เพื่อนำมาใช้จัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย

นายกรัฐมนตรี ชีค ฮาซีนา แห่งบังกลาเทศซึ่งมีประชากร 170 ล้านและใกล้จะหลุดพ้นจากภาวะประเทศด้อยพัฒนาที่สุดในเร็ว ๆ นี้ ให้ความเห็นด้วยว่า ประเทศยากจนนั้น “มีสิทธิ์” ที่จะหาความมั่นคงด้านการเงินเพื่อใช้ในงานด้านการพัฒนาและจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเช่นกัน พร้อมระบุว่า “ประเทศของพวกเราไม่ได้กำลังขอความกรุณาจากการกุศล สิ่งที่พวกเราเรียกร้องคือ การทำตามข้อผูกพันระหว่างประเทศที่(เรา)มีสิทธิ์ควรได้รับ”

ในเรื่องนี้ ประธานาธิบดีไฮคานเด ฮิชิเลมา แห่งแซมเบีย กล่าวว่า การที่ประเทศร่ำรวยส่งมอบความช่วยเหลือทางการเงินนั้น เป็น “เรื่องของความน่าเชื่อถือ” ขณะที่ รองนายกรัฐมนตรีนารายัน คาจิ เชรษฐา แห่งเนปาล กล่าวเสริมว่า “(ประเทศด้อยพัฒนาที่สุด) ไม่สามารถจะปล่อยเวลาอีกทศวรรษให้เสียเปล่าไปได้อีก”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: