จับตา: 'พาราเซตามอล' ต่างกับ 'ไอบูโพรเฟน' อย่างไร

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 18113 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าหากพูดถึงยาแก้ปวดหลายคนก็นึกถึงยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่เรียกได้ว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมีติดบ้านแทบทุกบ้าน ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาที่มีฤทธิ์แก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถใช้ได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ รวมถึงปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรเมื่อใช้ในขนาดที่เหมาะสม นอกจากนี้หากพูดถึงยาแก้ปวด ก็จะมียาแก้ปวดอีกหนึ่งชนิดที่หลายคนนึกถึง นั่นก็คือ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งตัวอย่างของความแตกต่างระหว่างยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) มีดังนี้

ข้อบ่งใช้ เช่น
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol): บรรเทาอาการปวด ลดไข้
ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen): บรรเทาอาการปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ

การรับประทาน เช่น
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol): 10 – 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยรับประทานทุก 4 - 6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ในผู้ใหญ่)
ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen): สำหรับบรรเทาอาการปวดหัว ลดไข้ ผู้ใหญ่ : รับประทานครั้งละ 200 - 400 มิลลิกรัม ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน

ระยะเวลาในการใช้ยา
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol): ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน
ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen): ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 10 วัน

ผลข้างเคียง/ข้อควรระวัง เช่น
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol): ผู้ป่วยโรคตับไม่ควรใช้ยา ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงเกิดพิษต่อตับจากยาได้มากขึ้น ผู้ที่แพ้ยาพาราเซตามอลเกิดผื่น ลมพิษ บวมที่บริเวณหน้า ริมฝีปาก ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ มียาหลายชนิดที่มีตัวยา Paracetamol เป็นส่วนผสมอยู่ เช่น ยาแก้ไข้หวัดแบบเม็ดรวม ซึ่งมียา Paracetamol และยาลดน้ำมูกร่วมด้วย ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ยาให้เหมาะสมเพื่อให้ไม่ได้รับยาเกินขนาด เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen): ทำให้เกิดแผล มีเลือดออกในทางเดินอาหาร และทางเดินอาหารทะลุ จึงควรรับประทานยาทันทีหลังอาหาร หรือพร้อมกับอาหาร นม หรือยาลดกรด ควรระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เลือดออก

จะเห็นได้ว่าทั้งยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ถึงแม้ว่าจะมีข้อบ่งใช้ในการแก้ปวดเหมือนกัน แต่การใช้และรายละเอียดด้านอื่น ๆ เช่น ข้อควรระวัง หรือผลข้างเคียงนั้นมีความแตกต่างกันมาก ในการใช้ยาแต่ละประเภทจึงควรให้ความสำคัญในการอ่านฉลากยาก่อนบริโภค เพื่อที่จะสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/drug_doc/Ibuprofen_tab-syr_SPC_7-2-60_edit_14-4-61.pdf

https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/472/%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%94(NSAIDs)/

https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/knowledge_general_population/paracetamol

https://www.drugs.com/paracetamol.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: