ซีรีส์วายกับช่องว่างในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 5 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 14410 ครั้ง


ทุกปีในเดือน “มิถุนายน” หลายประเทศทั่วโลกจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เช่นเดียวกัน ประเทศไทยที่มีการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศเช่นกัน เห็นได้จากเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อกรุงเทพมหานครจัดงาน BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022 และได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

             หากพิจารณาสถานะของคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยผ่านทางสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ พบว่า คนหลากหลายทางเพศได้ปรากฏในรายการต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “ซีรีส์วาย”  จากบทความเรื่อง “หรือ ‘ซีรีส์วาย‘ นี่แหละคือซอฟต์พาวเวอร์ของไทย” โดย สันติชัย อาภรณ์ศรี (2565) กล่าวว่า ซีรีส์วายไทยได้ส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก เช่น เมื่อปี 2017 แฟนคลับชาวจีนของหนุ่มสิงโต ปราชญา (นักแสดงซีรีส์วาย SOTUS The Series) ได้ซื้อดาวพร้อมตั้งชื่อดาวว่า ‘Singto Prachaya Ruangroj’ ให้กับเขา หรือแม้กระทั่งการจัดแฟนมีตติ้งในประเทศจีน  แต่ยังรวมไปถึง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้วย

             แม้จะได้รับความนิยม แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมซีรีส์วายไทยถึงยังถูกตั้งคำถามจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ด้วยข้อสงสัยว่าซีรีส์วายขับเคลื่อนและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หรือแค่เป็นเครื่องมือทางการตลาด บทความชิ้นนี้จะชวนผู้อ่านร่วมวิเคราะห์ถึงบทบาทของซีรีส์วายไทยกับการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในสังคม

ซีรีส์วายขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ?

              ในบทสัมภาษณ์เรื่อง “ซีรีส์วาย และความหลากหลายทางเพศ” โดย Media Alert (2564)  ผศ.ดร. ปุรินทร์ นาคสิงห์ ได้ให้ความเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับ ซีรีส์วายและการยอมรับความเสมอภาคทางเพศ ไว้ดังนี้

ซีรีส์วายแต่ละเรื่อง ถ้าจําไม่ผิด เยอะมาก มีหลายสิบเรื่อง ถ้าเป็นหนังสือ คงหลายร้อยเล่ม เหล่านี้มีการพูดถึงสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ มันไม่ได้บอกว่าเราสามารถอยู่ท่ามกลางความหลากหลายอย่างไร เราจะยอมรับกลุ่ม LGBT ที่มีความแตกต่างได้อย่างไร แต่เรากําลังพูดถึงผู้ชายที่มาเจอกันในเรื่อง ทะเลาะกัน รักกัน คนดูก็จะชอบดูแต่ฉากจิ้น ฉากโรแมนติกจิกหมอน ฉากเลิฟซีน อาจไม่ต้องถึงขั้นถึงพริกถึงขิง แค่กุ๊กกิ๊ก คือพล็อตมันฟินแล้วก็จบ ไม่มีตรงไหนที่พูดถึงสิทธิ พูดถึงในเรื่องของการเคารพกัน หรือการให้ความรู้กับคนดูในการปฏิบัติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ มีเเค่บางรูปแบบของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่ถูกนํามาผลิตซ้ำ เพราะมีผู้ชายหน้าตาดี หุ่นดี ขายได้ มีเด็กใหม่ ๆ ที่เดินทางเข้าสู่วงการบันเทิงที่มีลักษณะเดียวกัน คือรูปร่างหน้าตาดีพิมพ์นิยม มีความเป็นชาย หรือมีความเป็นเกาหลี วนอยู่อย่างนั้น

ซีรีส์วาย ทำขายใคร?

             แล้วความหมายที่แท้จริงของคำว่า “วาย” มีที่มาอย่างไร ทำไมซีรีส์วายจึงไม่สามารถเป็นหนทางสร้างการยอมรับและความเสมอภาคทางเพศในสังคมได้ บทความเรื่อง “วายคือวาย ไม่ใช่ LGBTQ? การปะทะกันของความหมายเพศชายรักกัน” โดย Chanan Yodhong (2021) ได้อธิบายความหมายของ ‘วาย’

‘วาย’ มาจากป๊อปคัลเจอร์สัญชาติญี่ปุ่น Yaoi หรือ BL (boy love) เดิมเป็นนิยายและมังงะ ก่อนจะเพิ่มแพลตฟอร์มเป็นซีรีส์ในทีวีในยุคหลัง เล่าเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ โรมานซ์ ๆ ระหว่างชายหนุ่ม ที่ตัวละครเป็นชายรักต่างเพศซึ่งมักจะชอบนิยามตัวเองว่า ชายแท้’ แต่มาตกหลุมรักใส ๆ กันเอง

 

             เมื่อการยอมรับรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย ไปพร้อมกับรสนิยมทางวรรณกรรม วัฒนธรรมการบริโภค ‘วาย’ ก็เดินทางออกจากใต้ดินขึ้นมาสู่บรรณพิภพบนดิน ก่อนจะขยายแพลตฟอร์มมายังสื่อโทรทัศน์ เกิดซีรีส์วายที่กลุ่มผู้บริโภค ‘วาย’ หรือ ‘สาววาย’ เป็นตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิง ดังนั้นแล้ว เพศวิถีรักเพศเดียวกัน เพศสภาพเกย์ และวัฒนธรรมวาย อาจจะสัมพันธ์กันหรือไม่สัมพันธ์กันก็ได้ สาววายหรือผู้ที่ชื่นชอบบริโภค วาย ๆ อาจจะสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ เคารพสิทธิเสรีภาพเกย์กะเทย หรือไม่สนอะไรใดๆ เลย จิ้นฟินประโลมโลกย์อย่างเดียว เก้งกวางกะเทยก็อาจจะเป็นแฟนคลับซีรีส์วาย หรือไม่อินก็มี (Chanan Yodhong, 2021)

สาววาย กลายเป็นวัฒนธรรมย่อยและกลุ่มผู้บริโภคหลักของซีรีส์วาย หลายครั้งที่ผู้จัดฯซีรีส์ คนเขียนบท หรือผู้กำกับซีรีส์ต่างพัฒนาแนวทางของซีรีส์ให้ตอบโจทย์กลุ่มสาววายที่เป็นเป้าหมายหลักของการตลาดซีรีส์วาย

ชูเรื่อง LGBTQ แต่ไม่ใช้นักแสดง LGBTQ

               เช่นเดียวกับบทความเรื่อง “กระแสวายมาแรง เข้าใจ “เพศสภาพ” หรือแค่สนองความฟิน?” โดยเว็ปไซต์ Sanook (2563) กล่าวว่า ซีรีส์วายของไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้นักแสดงนำที่เป็นคนกลุ่ม LGBTQ จริง ๆ แต่จะเลือกชายจริงหญิงแท้มารับบท แล้วให้คนกลุ่ม LGBTQ ไปเป็นตัวประกอบ หรืออยู่ในฐานะตัวตลกแทน ทำให้มีประเด็นถกเถียงทางสังคมกันบ่อยครั้งว่าชายหญิง สเตรต’ (Straight) หรือ ผู้ที่มีความชื่นชอบในเพศตรงข้ามตามที่สังคมกำหนด (หรือ Heterosexual man/woman) ยอมมารับบทนี้ก็เพราะเงินดีและแจ้งเกิดได้เร็ว ทั้งที่ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อคนกลุ่ม LGBTQ และไม่ช่วยชี้นำให้สังคมเข้าใจเรื่องเพศสภาพของคนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งขัดแย้งกับการรณรงค์เรื่อง LGBTQ

                เมื่อตัวละครหลักในซีรีส์วายที่ได้รับการตอบรับดี ส่วนใหญ่มักมีรสนิยมทางเพศในชีวิตจริงแบบชาย-หญิง ดังนั้น การที่วงการซีรีส์วายยังไม่ยอมให้นักแสดงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รับบทตัวละครหลัก  แต่ให้แสดงเป็นตัวประกอบหรือตัวตลกเท่านั้น  อาจสะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ อย่างแท้จริง

                ขณะที่บทความเรื่อง “มอง ‘ซีรีส์วายไทย’ อีกด้าน กับสารพัดคำถามที่คนดูอาจต้องการคำตอบ” โดย ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ (2565) ในเว็ปไซต์ไทยรัฐพลัส ได้กล่าวว่า การจับคู่ชาย-ชาย (หรือหญิง-หญิง) ในสื่อวายนั้น ไม่ได้ถูกคิดขึ้นบนพื้นฐานว่าตัวละครนั้น ๆ มีเพศสภาพอะไร แต่แค่เป็นการจับคู่กันเพื่อผูกเรื่องให้ดูน่าดึงดูดใจก็เท่านั้น และหลายครั้ง การสร้างตัวละคร ‘ผู้ชายฝ่ายรับ’ ที่มีความเป็นหญิงอยู่สูง ก็เกิดมาจากการมองโลกผ่านสายตาของผู้หญิงที่เป็นผู้เล่าเรื่อง และความคลุมเครือของตัวละครชาย-หญิงในสื่อที่มีอยู่ก่อนหน้ามาผสมผสานกันนั่นเอง ซีรีส์วายในมุมของ ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ จึงแตกต่างจากสื่อแนวโฮโมอีโรติกอันดุเดือดเลือดพล่านของญี่ปุ่น ที่เกย์หรือคนเพศอื่นๆ เป็นผู้เขียน เพื่อต้องการหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงเช่นกัน

บทพระเอกหรือนายเอกของเรื่อง ที่ตามปกติมักมีรูปร่างหน้าตาที่ชวนมอง และมาพร้อมกับฉากโชว์เรือนร่าง ไม่ก็แสดงความสัมพันธ์แบบถึงเนื้อถึงตัว หรือที่เรียกรวมกันสั้นๆ ว่าเป็น ‘ซีนเซอร์วิส’ (ฉากขายแฟนคลับ) เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การทำสื่อบันเทิงยังคงมีพื้นฐานอยู่บนการทำธุรกิจตอบสนองรสนิยมของผู้ชมกระแสหลักเพื่อสร้างรายได้มาหล่อเลี้ยงทุกองคาพยพในกระบวนการผลิต และเมื่อสื่อวายได้กลายมาเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถ ‘ทำเงิน’ ได้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน การขับเน้นจุดขายผ่าน ‘จุดเด่น’ ของวายจึงอาจไม่ใช่เรื่องเสียหายอย่างที่ใครคิด

              เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับซีรีส์วาย แม้การให้นักแสดงสเตรต’ (Straight) มาเป็นตัวละครหลักที่มีความหลากหลายทางเพศ จะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เมื่อซีรีส์เรื่องนั้นสร้างรายได้ดี ก็ตามมาด้วยการยืนยันใช้นักแสดง Straight ในซีรีส์วาย จึงนำมาซึ่งความเห็นของกลุ่มและผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศต่อซีรีส์วายว่าไม่สะท้อนแสดงความเป็นจริงเพื่อตัวตนคนหลากหลายทางเพศที่ควรมีสถานะทางสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

เพศหลากหลายหรือชายเป็นใหญ่?

          จากบทความเรื่อง “ภาพจำของซีรีส์วายในประเทศไทย: เมื่อความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏบทหน้าจอ” โดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น (2564) ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจซีรีส์วายไทยที่ออกอากาศในปี 2020 และต้นปี 2021 ของ Rocket Media Lab บนแพลตฟอร์มไลน์ทีวี ทั้งหมด 13 เรื่อง พบว่าเกือบทั้งหมดยังคงเสนอภาพของชายตรงเพศ (Straight) ที่รักกัน และทั้ง 100% จะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ดูมีความเป็นชายมากกว่าอีกฝ่าย ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาที่มีแต่ความเกี่ยวข้องกับเพศชายนั้นสร้างภาพจำให้คนดูยึดติดว่านักแสดงจะต้องเป็นชายตรงเพศเท่านั้น การนำเอานักแสดงที่อยู่ในกลุ่มชายรักชายมาเล่นซีรีส์วายกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดแปลก และนับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกีดกันให้กลายเป็นคนชายขอบ หรือหากเป็นตัวละครที่มีลักษณะอ่อนหวาน (Feminine) ก็อาจได้รับบทบาทสำคัญในเรื่อง แต่ก็ต้องถูกนำเสนอในลักษณะเป็นตัวตลก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแต่สะท้อนชุดความคิดที่ผู้ชายต้องเป็นใหญ่เท่านั้น

จากค่านิยมเหล่านี้ทำให้มองเห็นได้ว่า สังคมยังคงนิยามคำว่าเพศเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ใช้สำหรับการจำกัดความเป็นคนเอาไว้ สังคมยังคงมีความเข้าใจว่าความรักนั้นเป็นเรื่องของผู้ชายและผู้หญิง สังคมไม่ได้มองลึกลงไปในตัวบุคคล เพราะหากเรามาลองวิเคราะห์ดูดีๆ ก็จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตจริงกับความเป็นซีรีส์วายในจอทีวีอย่างชัดเจน โลกแห่งความเป็นจริงของกลุ่มคน LGBTQIA+ นั้นแทบจะกลายเป็นโลกคู่ขนานของคนทั่วไป แต่ในซีรีส์กลับกลายเป็นอีกแบบ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของเหล่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

แล้วสุดท้ายแล้ว การจะขับเคลื่อนความเสมอภาคและความหลากหลายทางเพศให้ปรากฏในซีรีส์ไทยนั้นต้องทำอย่างไร ในบทความเรื่อง “เรียนรู้ รับฟัง ความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ผ่านสื่อบันเทิง” โดย เอกชัย สุทธิยั่งยืน (2563) กล่าวไว้ว่า

หากมีการผลิตภาพยนตร์ หรือผลงานที่พูดถึง LGBTQ+ แต่ไม่ได้มีการโปรโมตออกมาอย่างตรงไปตรงมา เช่น นี่คือภาพยนตร์เกย์ นั่นคือภาพยนตร์เลสเบี้ยน แต่เป็นการนำเสนอความหลากหลายทางเพศผ่านความลื่นไหล (Gender Fluidity) หรือแม้กระทั่งการไม่ใช่หญิง หรือชาย และไม่อยู่ในกรอบบรรทัดฐานของสังคม (Non-binary) ที่ไม่ได้เป็นตัวบังคับว่าคนคนหนึ่งจะต้องมีเพศสภาพ หรือเพศวิถีทางใด อาจจะเป็นส่วนช่วยให้คนทั่วไปสามารถซึมซับและรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของคนอีกกลุ่มในสังคมแบบที่ไม่ต้องพยายามอะไรมากมาย หรืออาจเป็นการลดอคติที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้วก็เป็นได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่จะให้คำตอบนี้ได้ก็คือตัวคุณเอง ว่าคุณพร้อมจะเปิดกว้างขนาดไหน ซึ่งเราอยากบอกอีกครั้งว่าแค่เพียงการรับรู้และรับฟังกลุ่มคนที่แตกต่างไปจากตัวคุณ ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ทำไมถึงต้องเป็นแค่ความรักชาย-ชาย เมื่อชีวิตจริงหลากหลายกว่านั้น

            LGBT เป็นคำที่หลาย ๆ คนรู้จัก แต่แท้ที่จริงแล้วนิยามความหมายของคนหลากหลายทางเพศไม่ได้มีเพียงแค่นั้น แต่ยังรวมไปถึง QIAN+ แล้วทำไมซีรีส์ไทยถึงให้ความสำคัญแค่ความรักของชาย–ชายเท่านั้น ในเมื่อยังมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มากกว่าความรักชาย–ชาย

            ในบทความเรื่อง “เปิดจักรวาลภาพยนตร์ ‘หญิงรักหญิง’ เมื่อพวกเธอถูกมองข้ามจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ” โดย Peeranat Chansakoolnee (2564) กล่าวว่า เพราะอะไรกันที่ทำให้ภาพยนตร์แนวหญิงรักหญิงยังไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่าสื่อบันเทิงแนวชายรักชาย… อนึ่ง โลกสมมติอย่างโลกภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจมาจากโลกจริง และโลกแห่งความจริงก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เช่นเดียวกัน เมื่อ 2 สิ่งสะท้อนหาซึ่งกันและกันเช่นนี้แล้ว หากในโลกแห่งความเป็นจริงที่เลสเบี้ยน และความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงยังคงถูกมองข้าม ลืมเลือน และยังไม่เป็นที่คุ้นชินเหมือนดั่งความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ก็เป็นไปได้ที่ความนิยมในภาพยนตร์ และสื่อบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงก็จะแปรผันตามกัน

            เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถนำเสนอความหลากหลายทางเพศที่มีความหลากหลายจริง ๆ ในซีรีส์เรื่องเดียว บทความเรื่อง “Heartstopper ซีรีส์โอบรับความหลากหลายผ่านการค้นหาและยอมรับตัวตนของวัยรุ่น” โดย กุลธิดา สิทธิฤาชัย (2565) ได้หยิบยกเรื่องราวของตัวละครในซีรีส์เรื่อง Heartstopper ที่ซีรีส์นี้นำเสนอตัวแทนความหลากหลายทางเพศผ่านตัวละคร อย่างที่รู้ว่าชาร์ลี คือตัวแทนของเกย์ (Gay) และเพื่อน ๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็น เทา ซวี (วิลเลียม เกา) ตัวแทนของคนที่ชอบเพศตรงข้าม (Straight) แม้จะอยู่ภายใต้บุคลิกออกสาว แอลล์ อาร์เจนท์ (ยัสมิน ฟินนีย์) ตัวแทนของคนข้ามเพศ (Transgender) และไอแซค แฮนเดอร์สัน (โทบี้ โดโนแวน) ตัวแทนของคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ (Aesexual) พวกเขาคือคนที่คอยให้คำปรึกษาและเป็นเซฟโซนให้กับชาร์ลีจนสามารถผ่านเรื่องร้ายๆ มาได้ นอกจากนี้ยังมี ทารา โจนส์ (คอรินนา บราวน์) และดาร์ซี่ โอลซ์สัน (คิซซี่ เอ็ดเจล) เป็นตัวแทนของเลสเบี้ยน (Lesbian) ด้วย

 

            การขับเคลื่อนและสร้างความเสมอภาคทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สำคัญ คือการสร้างความสำคัญและความหมายทางเพศให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างความปกติให้กับความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด แต่เมื่อมองผ่านการสร้างสรรค์ของสื่อที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือละครไทย จะวายหรือไม่วายนั้น ส่วนใหญ่พยายามชูประเด็นความรักเพศเดียวกัน มาเป็นจุดขายให้กับเรื่องนั้น ๆ หรือช่วงชิงอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นสินค้าในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพียงกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติให้ผู้ชมได้ซึมซับและรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

แม้จะมีจุดขายเรื่องความรักชาย-ชาย แต่สิ่งที่ซีรีส์วายอาจทำได้ คือการไม่ละทิ้งกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไว้ข้างหลัง หรือเลือกนำเสนอเพียงนักแสดงที่เป็น ‘สเตรต’ (Straight) เท่านั้น เพราะการบอกเล่าเรื่องราวจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจริง ๆ อาจสร้างการขับเคลื่อนและความเสมอภาคทางสังคมได้ดีกว่า หรือการพูดคุยอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ที่มากกว่าชาย-ชาย ที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นช่องว่างที่สื่อยังขาดการหยิบยกขึ้นมานำเสนอหรือบางเรื่องที่สื่อทำได้ดีแล้วแต่ยังไม่หนักแน่นเพียงพอ หากสื่อยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศและรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายตั้งแต่ต้นทางการสร้างสรรค์ อาจเป็นหนทางในการลดอคติทางเพศ รวมไปถึงเป็นหนทางที่สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมที่ดีได้จะไม่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

*เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 09/06/2022

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: