นักวิชาการชี้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทอาจเกิดเงินเฟ้อ-หนี้สาธารณะ-ชนบทมีสินค้าได้น้อยกว่าในเมือง

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 2927 ครั้ง


รายงานพิเศษจากสื่อเบนาร์นิวส์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเริ่มใช้ก่อนเดือน ก.พ. 2567 แน่นอน แม้ว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแสดงความเห็นคัดค้าน ด้านนักวิชาการชี้เงินดิจิทัลอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อและสร้างหนี้สาธารณะ - ถ้ายังคงจำกัดพื้นที่การใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นในระยะ 4 กม. หรือเขตอำเภอ จะเป็นการจำกัดประเภทสินค้าของคนในชนบท

เบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยัน โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเริ่มใช้ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แน่นอน แม้ว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแสดงความเห็นคัดค้าน ในก่อนหน้านี้

นายเศรษฐา กล่าวในพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบาย และแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ยืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินนโยบายต่าง ๆ

“ในปี 2567 จะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในกรอบงบประมาณ 5.6 แสนล้าน จะเข้าไปกระตุ้นฝั่งดีมานด์ และซัพพลายให้โตขึ้น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้รับคืนมาคือภาษีที่จะกลับคืนสู่ภาครัฐ การจำกัดการใช้จ่ายให้อยู่ในชุมชนจะทำให้เงินหมุนเข้าไปอยู่ในระดับรากหญ้าก่อนเสมอ ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเศรษฐกิจนี้” นายเศรษฐา กล่าว

“ตอนนี้ ครม. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชัน การจัดหาแหล่งเงิน การกำหนดกฎระเบียบทั้งหมด และตอบคำถามจากทุก ๆ คน ไม่ต้องห่วงครับ ใช้ได้แน่นอนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้” นายเศรษฐา กล่าวเพิ่มเติม

นายเศรษฐา ระบุว่า ในปี 2567 รัฐบาลจะมีเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท จะดำเนินการเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำให้เป็น 400 บาทต่อวัน ให้เร็วที่สุด และจะเพิ่มให้เป็น 600 บาทต่อวัน และ 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน สำหรับผู้จบปริญญาตรี ภายในปี 2570 มีเป้าหมายจีดีพีของประเทศเฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ตลอด 4 ปี โดยหวังที่จะขยายตลาดใหม่ ๆ ด้วยการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) และช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการพักหนี้

นายกรัฐมนตรียังยืนยันดำเนินการตามแผนการเดิมที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเอาไว้ แม้ว่าในก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้เสนอแนะให้ดำเนินโครงการเงินดิจิทัลแค่เฉพาะบางกลุ่ม แทนที่โครงการของรัฐบาลที่จะแจกเงินดิจิทัลให้กับทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปี ซึ่งจะต้องใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท

กระทรวงการคลังรายงานสถานะยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 มีจำนวน 10,373,937.59 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ประเทศไทยคงระดับหนี้สาธารณะไว้ที่ 40% ถึง 50% ของจีดีพี มานานหลายสิบปี จนกระทั่งเศรษฐกิจถดถอยอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนี้สาธารณะในปัจจุบันเกิน 60% นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์

“สิ่งที่เราขาดจริง ๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการลงทุนมากกว่า การทำนโยบายต่าง ๆ ควรต้องเป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ need (ต้องการ) เงิน 1 หมื่นบาท… ก่อนหน้านี้ ธปท. เคยพูดมาตลอดว่าไม่สนับสนุนให้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็น digital payment (การจ่ายเงินระบบดิจิทัล) เพราะการทำอย่างนั้น จะเป็นการไม่เอื้อต่อเสถียรภาพในระบบการชำระเงินที่ควรมีเพียง 1 ระบบ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับสื่อมวลชน เมื่อ 14 กันยายน 2566

“เราก็ต้องให้ความสำคัญในเรื่องเสถียรภาพ เพราะเป็นเรื่องที่หลายที่จับตามอง ซึ่งเสถียรภาพมีหลายมิติ แต่อันหนึ่งที่มีความกังวลเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ เสถียรภาพในฝั่งการคลัง ภาพรวมของการคลังต้องมีเสถียรภาพ เราเห็นตัวอย่างแล้ว ขนาดประเทศอเมริกายังโดนเครดิตเรตติ้ง เขาดาวน์เกรด เพราะไม่ได้ใส่ใจเพียงพอกับเรื่องเสถียรภาพทางการคลัง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ นายเศรษฐา ได้เชิญนายเศรษฐพุฒิเข้าพบเพื่อหารือท่ามกลางข่าวลือว่ารัฐบาลอาจจะปลดผู้ว่าการ ธปท. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีความเห็นด้านเศรษฐกิจไม่ตรงกัน แต่สุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว และระบุว่า พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ

ต่อโครงการแจกเงินของรัฐบาล ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าหากรัฐบาลยังยืนยันที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว อาจมีผลกระทบตามมา

“ข้อดีคือ มันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็ว แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น และทำให้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และถ้าหนี้สาธารณะสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่จีดีพีไม่โตตามจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเปราะบาง และขาดความน่าเชื่อถือในการลงทุน” ดร. เอียชา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะไม่สำเร็จในทันที แต่ก็อยากเห็นสัญญาณเรื่องนี้ในรัฐบาลพลเรือน แต่สิ่งที่ยังคลุมเครือและเห็นการตอบคำถามที่ชัดเจนจากทีมเศรษฐกิจ คือ งบประมาณท้องถิ่น ความไม่ชัดเจนนี้ในระยะยาวอาจสะท้อนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ" ดร. เอียชา กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน นายดอน หอมมณี นักวิจัยอิสระด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า โครงการดังกล่าว ถ้ายังคงจำกัดพื้นที่การใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นในระยะ 4 กม. หรือเขตอำเภอ จะเป็นการจำกัดประเภทสินค้าของคนในชนบท

“เราอาจจะเห็นคนในเมืองสามารถซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือดี ๆ แต่คนในชนบทมีแค่ร้านชำ หรือพวกสินค้าเกษตร ทั้งนี้บางอำเภอในประเทศไทยร้าน 7-11 ยังมีแห่งเดียวในอำเภอเลย ขณะที่ร้านขนาดเล็กในชุมชนก็อาจไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะไม่สามารถแลกเงินดิจิทัลป็นเงินสดได้ ถ้าไม่ได้เข้าระบบภาษี” นายดอน ระบุ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา ถูกตั้งคำถามมากที่สุดเกี่ยวกับ โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนั้น คือ ที่มาของเงินที่จะใช้ทำโครงการ ซึ่งนายเศรษฐาถูกตั้งคำถามทั้งจากนักวิชาการ และ สส. ฝ่ายค้าน ซึ่งนายเศรษฐาได้ระบุว่าพร้อมชี้แจงที่มาของเงินภายในเดือน ต.ค. 2567 นี้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: