ม.มหิดลสร้าง 'เครื่องมือวัดการนับถือตัวเอง' เพื่อสะท้อนความสุขและปัญหาสุขภาพจิต

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 13174 ครั้ง

ม.มหิดลสร้าง 'เครื่องมือวัดการนับถือตัวเอง' เพื่อสะท้อนความสุขและปัญหาสุขภาพจิต

จากสถานการณ์ที่ "โรคซึมเศร้า" มีแนวโน้มพบในเด็กวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ม.มหิดลสร้าง 'เครื่องมือวัดการนับถือตัวเอง' เพื่อสะท้อนความสุขและปัญหาสุขภาพจิต

ปัจจุบันด้วยสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ "โรคซึมเศร้า" มีแนวโน้มพบในเด็กวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงเด็กวัยรุ่นที่ได้เข้าถึงกระบวนการรักษามีเพียงร้อยละ 1

ช่วงเดือน ก.ค. 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ เสรี อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กพิเศษ เปิดเผยถึงข้อจำกัดของเด็กวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่ขาดความนับถือตัวเอง (Self - esteem) ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของมนุษย์

"Self - esteem" เป็น "บันได" สู่การสร้าง "Self Resilience" หรือ "ความแข็งแกร่ง" ที่จะคอยผลักดันให้ทุกชีวิตก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน

ในขณะที่เมื่อทดลองใช้ "เครื่องมือวัดการนับถือตัวเอง" กับเด็กเล็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ เสรี พบว่าเด็กมีการนับถือตนเองในระดับดีมาก แต่กลับลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากครอบครัว และสถานศึกษา ซึ่งมีอิทธิพลโดยตรงต่อสุขภาพจิตของเด็ก และจะส่งผลต่อบุคลิกภาพและอารมณ์เมื่อเติบโต โดยพบว่าเด็กที่มีสุขภาพจิตดี จะพร้อมต่อสู้ปัญหาและอุปสรรคต่อไปในอนาคตได้มากกว่า

นอกจากนี้ "วิธีการมองตัวเอง" ของแต่ละคน สามารถสะท้อนได้ถึงมุมมองที่มีต่อผู้คน และสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่ง "ค่าของคน" ที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "เงาในกระจก" ที่สะท้อนจากการมองโดยผู้อื่น แต่คือภาพที่สะท้อนความเป็นจริงแม้ยามหลับตา ในมุมที่ทำให้เกิดความสุข จากการรู้จักนับถือตัวเอง และผู้อื่น

เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติทั่วไป หรือเป็นเด็กที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย และจิตใจ ล้วน "มีสิทธิที่จะมีความสุข" ขึ้นอยู่กับ "การฝึกคิดบวก" ที่พร้อมแปรเปลี่ยนเป็น "พลัง" ให้สามารถ "ก้าวข้ามผ่าน" ข้อจำกัดของตัวเอง พร้อมสู้ต่อไป เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: