จับตา: ถนนพังทำคนเจ็บ-ตาย ฟ้องศาลปกครองชดใช้ค่าเสียหายได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 13668 ครั้ง


เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่าถนนหนทางที่พังเสียหาย-เป็นหลุม เป็นบ่อ รถวิ่งผ่านมาหัวทิ่มตกถนน บางคนก็เจ็บ บางคนถึงตาย เหตุการณ์แบบนี้อาจไม่ใช่ความผิดของผู้ขับขี่ เพียงอย่างเดียว แต่ถนนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะต้นเหตุของอุบัติเหตุในกรณีนี้ คือถนนที่ไม่พร้อมใช้งาน หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงมีหน้าที่เข้ามาดูแลให้ถนนพร้อมใช้งานด้วย และดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

ลักษณะถนนที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ

• เป็นหลุมเป็นบ่อมีน้ำขังจนไม่สามารถมองเห็นได้ว่าลึกแค่ไหน

• ถนนทรุด หรือขาด เป็นพื้นที่กว้าง

• ถนนที่อยู่ระหว่างการวางท่อระบายน้ำ หรือมีการซ่อมแซมบำรุงต่างๆ

• ความเสียหายต่างๆ ของถนน ไม่มีการตรวจสอบดูแล หรือติดตั้งป้ายแจ้งเตือน ป้ายห้ามผ่านที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีแสงไฟส่องสว่างให้เห็นยามค่ำคืน

แล้วชาวบ้านอย่างพวกเราจะเรียกร้องอะไรได้ !? ได้สิ...บอกเลย ไปที่ “ ศาลปกครอง “ ทำเรื่องฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย และ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

แล้วสามารถฟ้องใครได้บ้าง? ก็หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาถนนหลวง นั่นไง! แต่จะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของใคร ?

ดังนั้น เราต้องมาทำความรู้จักกับ ลักษณะทางหลวงแต่ละประเภทและหน่วยงานที่รับผิดชอบ หากมีปัญหาจะได้ฟ้องร้องกันถูกหน่วยงาน ซึ่งถูกแบ่งไว้ 5 ประเภท ได้แก่

1.ทางหลวงพิเศษ คือ ทางหลวง ที่จัด หรือ ทำไว้ เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น อยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมทางหลวง

2.ทางหลวงแผ่นดิน คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็น ทางหลวงแผ่นดิน อยู่ในความรับผิดชอบ ของ กรมทางหลวง

3.ทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท ถนนประเภทนี้มีตัวอักษรกำกับ 2 ตัว เช่น นบ หมายถึงนนทบุรี อยู่ในความรับผิดชอบ ของ กรมทางหลวงชนบท

4.ทางหลวงท้องถิ่น คือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น ถนนประเภทนี้มีตัวอักษรกำกับ ตัว เช่น นบ.ถ. หมายถึงท้องถิ่นนนทบุรี อยู่ในความรับผิดชอบ ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

5.ทางหลวงสัมปทาน คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน อยู่ในความรับผิดชอบ ของ กรมทางหลวง

เมื่อเรารู้แล้วว่า หน่วยงานไหน รับผิดชอบถนนเส้นไหน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้บาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต จะได้รู้ว่า จะฟ้องกันถูกหน่วยงาน โดยผู้เสียหาย สามารถไปร้องขอความเป็นธรรมกับ “ศาลปกครอง”

เมื่อเราเข้ากระบวนการร้องขอความเป็นธรรม ศาลปกครองจะดำเนินการพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ และถ้าหากต้นเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากถนนที่ไม่พร้อมใช้งานจริง ศาลก็จะให้หน่วยงานที่ดูแลถนนเส้นนั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายต่อไป ... สิ่งสำคัญ อย่าลืมเก็บหลักฐานจากจุดเกิดเหตุให้ครบ , การแจ้งความกับ ตำรวจ , การเคลมประกัน , ประวัติการรักษา , ที่สำคัญอย่างยิ่ง ใบรับรองแพทย์

มีตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลปกครอง คดีดำ เลขที่ อ970/2560

เหตุเกิดขึ้นที่ทางหลวงชนบท นบ. 1002 มุ่งหน้าไทรน้อย โดยผู้ฟ้องได้ทำการฟ้องทางหลวงชนบทเป็นจำเลยที่ 1 และกระทรวงคมนาคมเป็นจำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุ รถยนต์ผู้เสียหายได้วิ่งไปบนถนนดังกล่าวตามหลังรถสิบล้อ ซึ่งเมื่อถึงจุดเกิดเหตุรถสิบล้อชะลอตัวเพื่อจะเลี้ยวขวาเข้าร้านวัสดุก่อสร้าง รถคันที่เกิดเหตุจึงตบไฟเลี้ยวซ้าย เพื่อทำการหลบแซงขึ้น

แต่ในขณะนั้นถนนได้ทรุดตัวลงอย่างกะทันหัน ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวต้องหักหลบหลุม ทำให้เสียหลัก พุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้รถยนต์เสียหาย ซึ่งจากการซ่อมแซมรวมค่ารถยก ต้องเสียเงินไปจำนวน 228,350 บาท บริษัทประกันภัยเป็นผู้ดูแลข้ารับผิดชอบที่เกิดขึ้น

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจึงทำการฟ้อง ทางหลวงชนบท และ กระทรวงคมนาคม ตามพระราชบัญญัติทางหลวง มาตรา 9 การกระทำละเมิด ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติ โดยทางหลวงชนบทเป็นทางหลวงที่จดทะเบียนไว้ มีสถานะที่ต้องตรวจตราดูแล ตามมาตรา 21(7 ) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ที่ระบุภารกิจไว้

จากการพิจารณาของศาล จากคำให้การต่อสู้ทางคดี กรมทางหลวงอ้างว่า ในปี พ.ศ.2554 ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน ทำให้ดินใต้ถนน เกิดความเปลี่ยนแปลงในขณะที่หลังจากน้ำท่วม ปี 2554 แล้ว ทางกรมทางหลวงได้มีการเปิดก็ประมาณปี 2555 เข้าทำการซ่อมผิวการจราจร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ศาลได้พิจารณาคำให้การของจำเลยแล้วเห็นว่า ทางหลวงมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลบำรุงรักษาให้ถนนพร้อมที่จะใช้งาน ให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน จะตรวจตราเพียงสภาพภายนอกไม่ได้ ต้องตรวจสภาพของโครงสร้าง ตามหลักวิศวกรรมสถาน ให้เกิดความพร้อมใช้งาน และความปลอดภัย

ดังนั้น ศาลจึงมีคำสั่งพิพากษาให้ทางหลวงชนบทชดใช้ค่าเสียหายตามที่จำเลยร้องฟ้อง จำนวนเงิน 228,350 บาท รวมทั้งดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับจากวันที่มีคำสั่งจนกว่าจะชดใช้แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูล อ้างอิง จาก สำนักงานกิจการยุติธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุ รายละเอียดของ “พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2549 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” มาตรา 420 ผู้ใดจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ตามกฎหมาย มาตรา 420 หากผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดอุบัติเหตุบนถนนที่ชำรุดเสียหาย หรืออยู่ในช่วงซ่อมแซม และไม่มีป้ายแจ้งเตือนให้เห็นชัดเจน หน่วยงานหรือผู้ที่มีหน้าที่ซ่อมแซม ดูแล บำรุงถนนต้องรับผิดชอบตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

แต่หากไม่มีใครรับผิดชอบผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องเพื่อเข้ากระบวนการร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง และศาลปกครองจะดำเนินการพิจารณาหลักฐานต่างๆ หากพิสูจน์ได้ว่าต้นเหตุของอุบัติเหตุมาจากถนนที่ไม่พร้อมใช้งานจริง ศาลจะให้หน่วยงานที่ดูแลถนนเส้นนั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย

จากบทความนี้ หวังว่าผู้ใช้รถใช้ถนน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางฟ้องร้องให้ #รัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อเราเข้ากระบวนการร้องขอความเป็นธรรม ศาลปกครองจะดำเนินการพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ และถ้าหากต้นเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากถนนที่ไม่พร้อมใช้งานจริง ศาลก็จะให้หน่วยงานที่ดูแลถนนเส้นนั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายต่อไป

อย่าให้เหตุแบบนี้เป็นเรื่องปกติของประเทศไทย และที่สำคัญผู้บริโภค ต้องรักษาสิทธิ์ของตัวเองอย่าให้ใครมาละเมิด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: