ม่อนแจ่ม: การเจรจาและการพิสูจน์สิทธิ์คือทางออก

เดชรัต สุขกำเนิด 9 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 3542 ครั้ง


*บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจ Think Forward Center - ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (6 ก.ย. 2565)

ความขัดแย้งล่าสุดที่ปะทุขึ้นที่ดอยม่อนแจ่ม อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในปลายเดือนสิงหาคม2565 ที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้แสดงเจตนาจะรื้อถอนและดำเนินคดีกับบ้านพักนักท่องเที่ยวที่ชุมชนชาวม้ง ในหมู่บ้านหนองหอย และหมู่บ้านปางไฮ จัดตั้งขึ้น

สำหรับราชการ พื้นที่แห่งนี้คือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม ที่ประกาศขึ้นในปี พ.ศ. 2507 และแม้จะรับรู้โดยนัยว่ามีชุมชนอยู่ในพิ้นที่นี้มานานแล้ว ราชการก็พยายามจะบอกโดยนัยว่า การอนุญาตให้ชุมชนอยู่เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวง (ในปัจจุบัน) และประกาศชัดเจนว่า อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ “เฉพาะเพื่อการเกษตร” เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ในมุมมองของรัฐ การสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยวในพื้นที่ม่อนแจ่ม จนกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของป่าไม้ (ตามภาพ) จึงเป็นการผิดเงื่อนไข และเข้าข่ายการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นจากที่ได้อนุญาตไว้

แต่ในมุมมองและหลักฐานของชาวบ้าน ชุมชนหนองหอยได้มีการตั้งถิ่นฐาน “ตามทะเบียนราษฎร” อย่างน้อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 (หรือประมาณ 118 ปีมาแล้ว) และได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก (นายว่าง แซ่ว่าง) ในปี พ.ศ. 2484 ตั้งโรงเรียนชายแดนสงเคราะห์ในปี พ.ศ. 2505 ทั้งยังปรากฎหมู่บ้านในหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2497 ด้วย

ดังนั้น ในมุมมองของชาวบ้าน ชุมชนแห่งนี้จึงอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2507 นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้เสด็จเยี่ยมชุมชนแห่งนี้ ก่อนที่จะการจัดตั้งโครงการหลวงในปี พ.ศ. 2527 และทางโครงการหลวงจะมาเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวดอยม่อนแจ่มในปี พ.ศ. 2552 และเติบโตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลก็ได้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ให้เว้นการจับกุมชุมชนแห่งนี้ พร้อมทั้งมีเอกสารยืนยันการใช้ประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่

เพราะฉะนั้น สำหรับประชาชน การดำรงอยู่ในพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน รวมถึงการตัดสินใจใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงควรจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง

ขณะเดียวกัน ทางราชการก็ได้ตั้งข้อหา/กล่าวหาพี่น้องในพื้นที่ใน 3 ประการด้วยกันคือ (ก) การใช้ประโยชน์ที่ดินผิดไปจากที่ตกลงกันไว้ (จากการเกษตร/การท่องเที่ยว) (ข) ขยายขอบเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ใหม่ เกินกว่าที่เคยตกลงไว้เดิม และ (ค) ขายสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ให้กับนายทุน

ในข้อกล่าวหาแรก ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยจึงตั้งคำถามว่า “แล้วทำไมต้องให้ชาวม้งทำแต่การเกษตรอย่างเดียว” ในขณะที่ การลงทุนด้านการท่องเที่ยวให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และมั่นคงมากกว่า และประเด็นสำคัญ (ที่โยงมาสู่ข้อกล่าวหาที่สอง) ก็คือ “ในเมื่อชาวบ้านใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมที่ราชการอนุญาตไว้ โดยไม่ได้บุกรุกที่ดินเพิ่มแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ดี ผู้ใหญ่บ้านหนองหอยใหม่ก็ยังยืนยันว่า พี่น้องในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังทำการเกษตรควบคู่กับการท่องเที่ยว และการออกแบบที่พักนักท่องเที่ยว ก็ยังไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ทำการเกษตรได้เช่นเดียวกัน

ในการหาข้อมูลเบื้องต้น (ย้ำว่า เป็นเบื้องต้น) จากโปรแกรม google earth Timelapse พบว่า ในพื้นที่มีลักษณะการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง (มองเห็นเป็นสิ่งปลูกสร้าง) แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เคยมีการใช้ประโยชน์เดิม เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมีการดำเนินคดี (และความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก) การพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินแต่ละแปลง และการใช้ประโยชน์จริงในปัจจุบัน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ชุมชนม่อนแจ่มได้เคยมีการทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละแปลงไว้แล้ว (ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ซึ่งสามารถนำพิกัดทาง GPS มาเทียบเคียงกับการใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนหน้า ไปจนถึงแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2497 ชุมชนจึงมีความพร้อมและเรียกร้องในการพิสูจน์สิทธิ์ แต่ฝ่ายราชการกลับยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง

เพราะฉะนั้น แทนที่จะปล่อยให้เกิดข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น การเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของชาวบ้าน และการกำหนดกติกาชั่วคราวในการใช้ประโยชน์ในที่ดินของม่อนแจ่ม โดยยังไม่ต้องรื้อถอนบ้านพักนักท่องเที่ยว และการดำเนินคดีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในสถานการณ์นี้

จริงๆ แล้ว ราชการเองก็เคยมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการพื้นที่เช่นนี้ เช่น กรณีการจัดทำแผนแม่บทการจัดการที่ดินเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดอยอินทนนท์ บ้านขุนกลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งสามารถจัดทำเป็นแผนแม่บทและกติกาที่ใช้ในการควบคุมการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชนและทางราชการได้ และน่าจะนำมาเป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่ม่อนแจ่มได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การจัดทำแผนแม่บทการจัดการที่ดินเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน ยังมีประโยชน์สำหรับชุมชนม่อนแจ่มเอง ในการวางแผนการใช้ที่ดินและการพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน ไม่ให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยว/ที่พักเกินกว่าขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (หรือ carrying capacity) รวมถึงการวางแผนป้องกันผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น การจัดการขยะ การจัดการน้ำใช้) ในพื้นที่ด้วย และเท่าที่ทราบชุมชนม่อนแจ่มก็มีความตั้งใจในการจะจัดทำแผนแม่บทฯ นี้

เพราะฉะนั้น Think Forward Center เชื่อว่า การเจรจาเพื่อหาแนวทางในการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดิน และการจัดทำแผนแม่บทการจัดการที่ดินเพื่อการท่องเที่ยวจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย

ส่วนประเด็นเรื่องการทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรงแรมนั้น Think Forward Cente เห็นว่า การนำพระราชบัญญัติโรงแรมมาบังคับใช้กับการท่องเที่ยวของชุมชนน่าจะไม่เหมาะสม และอาจเป็นการปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาของธุรกิจรายย่อยและธุรกิจของชุมชนด้วย

Think Forward Center เห็นว่า เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของชุมชน และขณะเดียวกัน ก็เป็นการรักษาสิทธิ และรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการ และสมาชิกอื่นๆ ในชุมชน (ซึ่งอาจไม่ได้ดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยว) จึงควรมีการยกร่างกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนและโฮมสเตย์ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและควบคุมคุณภาพในการพัฒนาและการดำเนินงานของการท่องเที่ยวชุมชนต่อไป

Think Forward Center เชื่อว่า หากทุกฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจา แทนที่การเผชิญหน้า และเปลี่ยนวิกฤตความขัดแย้งในครั้งนี้ เป็นเส้นทางสู่การพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดิน และการจัดการการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: