ช่วง 10 ปี (2012-2021) คอรัปชั่นในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ลดลง

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2390 ครั้ง

ช่วง 10 ปี (2012-2021) คอรัปชั่นในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ลดลง

จากรายงาน '2021 Corruption Perceptions Index' ของหน่วยงาน Transparency International ชี้ว่าปัญหาคอรัปชั่นทั่วโลกยังอยู่ที่ระดับคงเดิมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2012-2021) โดย 86% ของประเทศซึ่งอยู่ในการสำรวจแทบไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องนี้เลย 'ไทย-ฟิลิปปินส์' เป็น 2 ประเทศของอาเซียนซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดด้วย

VOA รายงานเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2022 ว่ารายงาน Corruption Perceptions Index หรือ CPI ของหน่วยงาน Transparency International จัดอันดับประเทศและดินแดนต่างๆ 180 แห่งทั่วโลกจากระดับความรู้สึกเกี่ยวกับหรือการมองปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐของแต่ละประเทศโดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งภายนอก 13 แหล่ง ซึ่งรวมทั้งจากธนาคารโลก จาก World Economic Forum จากบริษัทที่ปรึกษาและประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจากหน่วยงานคลังสมอง เป็นต้น โดยมีการให้คะแนนในเรื่องนี้ตั้งแต่ศูนย์ซึ่งหมายถึงมีปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับสูงไปจนถึงคะแนน 100 ซึ่งสะท้อนถึงความใสสะอาดในการทำงานของระบบการบริหารภาครัฐ และคะแนนดังกล่าวก็เป็นเครื่องสะท้อนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งจากผู้ประกอบธุรกิจด้วย

Transparency International พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2012-2021) คะแนนเฉลี่ยของเรื่องนี้ในระดับโลกอยู่ที่ 43 จาก 100 โดยไม่เปลี่ยนแปลง และมีประเทศถึงราว 2 ใน 3 ที่อยู่ในการสำรวจซึ่งได้คะแนนต่ำกว่า 50 จาก 100 คะแนนด้วย

สำหรับประเทศซึ่งได้คะแนนสูงสุดในแง่ความใสสะอาดปราศจากปัญหาคอร์รัปชั่นเมื่อปีที่แล้วนั้นคือเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ที่ 88 คะแนน โดยทั้งสามประเทศนี้อยู่ในกลุ่ม 10% แรกของประเทศที่มีเสรีภาพพลเมืองอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะเดียวกันสามประเทศที่ติดอันดับรั้งท้ายก็ได้คะแนนต่ำในแง่เสรีภาพของพลเมือง คือซีเรียที่ได้ 13 คะแนนจาก 100 รวมทั้งโซมาเลียกับเซาท์ซูดานซึ่งก็ได้ 13 กับ 11 คะแนนตามลำดับ

ที่น่าสังเกตก็คือตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมามี 23 ประเทศที่ได้คะแนนจากดัชนี CPI นี้ลดลง และในกลุ่ม 23 ประเทศดังกล่าวก็มีสามประเทศซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอันได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา กับสหรัฐฯ ด้วย โดยสหรัฐฯ ซึ่งได้คะแนนลดลงมาอยู่ที่ 67 จาก 100 คะแนนไม่ติดกลุ่ม 25 ประเทศแรกที่ได้คะแนนสูงสุดอีกต่อไป

Transparency International พบว่าประเทศที่มีการละเมิดสิทธิพลเมืองอยู่เป็นประจำมักจะมีคะแนนดัชนี CPI นี้ในระดับต่ำ และการละเลยเพิกเฉยเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจะทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นรวมทั้งยังบั่นทอนประชาธิปไตยเป็นผลให้เกิดวงจรที่ชั่วร้ายตามมา และเมื่อสิทธิกับเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนและความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง แนวคิดแบบผู้เผด็จการที่ใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จก็จะเข้าครอบงำทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับสูงมากขึ้นไปอีก

ในส่วนของประเทศไทยนั้น Transparency International พบว่าไทยอยู่ในกลุ่ม 27 ประเทศซึ่งได้คะแนนต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบเมื่อปี 2012 เป็นต้นมา โดยในกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำนี้นอกจากประเทศไทยซึ่งได้คะแนนจากดัชนี Corruption Perceptions Index ที่ 35 จาก 100 และถูกจัดอยู่ที่อันดับ 110 จาก 180 ประเทศซึ่งมีการสำรวจในแง่ปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐแล้ว ฟิลิปปินส์ก็ติดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกันด้วยคะแนน 33 จาก 100 คะแนนหรืออยู่อันดับที่ 117 รวมทั้งยังมีประเทศอื่นๆ ซึ่งพัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา อิสราเอลเนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

ผลการวิเคราะห์ล่าสุดของ Transparency International บ่งชี้ว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะประเทศที่มีการคุ้มครองสิทธิพลเมืองเป็นอย่างดีมักจะได้คะแนนค่อนข้างสูงในดัชนี CPI ซึ่งชี้วัดถึงความใสสะอาด ในขณะที่ประเทศซึ่งไม่เคารพสิทธิพลเมืองนั้นก็มักจะได้คะแนนเกี่ยวกับการปลอดปัญหาคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: