วอนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยด้านอาหาร

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2660 ครั้ง

วอนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยด้านอาหาร

องค์กรภาคประชาสังคม วอนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยด้านอาหาร โดยการรณรงค์ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคในทวีปเอเชียมากกว่า 30,236 คนแล้ว

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ซิเนอร์เจีย แอนิมอล องค์กรพิทักษ์สัตว์สากลเปิดตัวโฆษณารณรงค์ บนเรือโดยสารคลองแสนแสบ วอนแมคโดนัลด์ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในไทย ให้เลิกใช้ไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงตับ ซึ่งก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายเนื่องจากกรงลักษณะดังกล่าวมี ขนาดเล็กมากเสียจนแม่ไก่แทบขยับตัวไม่ได้ องค์กรฯ คาดการณ์ว่าโฆษณารณรงค์จะมีผู้พบเห็นกว่า 170,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่สัญจรโดยเรือคลองแสนแสบเป็นประจำจากชานเมืองสู่ตัวเมืองกรุงเทพฯ โฆษณาดังกล่าวจะอยู่บนเรือจนถึงเดือน มิ.ย. 2565

การติดป้ายโฆษณาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทั่วทวีปเอเชียโดย Open Wing Alliance ซึ่งเป็นการ รวมตัวกันระหว่างองค์กรพิทักษ์สัตว์ทั่วโลกเพื่อยุติการใช้กรงขังสัตว์ โดยข้อเรียกร้องเพื่อขอให้แมคโดนัลด์ บอกลากรงขังนี้มีผู้สนับสนุนกว่า 30,236 คน จากหลายประเทศในทวีปเอเชีย (www.gocagefreemcdonalds.org/) เป้าหมายของการรณรงค์ครั้งนี้ คือการผลักดันให้อุตสาหกรรมไข่ไก่เปลี่ยนมาใช้ระบบปลอดกรง ซึ่งมีพื้นที่ให้ แม่ไก่เดินไปมาและแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ อย่างเช่น การคุ้ยเขี่ยได้

ก่อนหน้านี้แมคโดนัลด์ได้ประกาศนโยบายไข่ไก่ไร้กรงในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และลาตินอเมริกาแล้ว โดยให้เหตุผลว่าคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์และคุณภาพอาหาร แต่แบรนด์อาหาร ยักษ์ใหญ่รายนี้ยังไม่มีคำประกาศที่เป็นทางเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในทวีปเอเชีย กลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์ จึงเรียกร้องให้แมคโดนัลด์ปรับนโยบายในเอเชียให้สอดคล้องกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก และยุติการใช้ไข่ไก่จาก ฟาร์มระบบกรงตับ

“เราอยากให้แมคโดนัลด์ประกาศนโยบายที่ดีกว่าสำหรับทวีปเอเชีย และคำนึงถึงความกังวลของผู้บริโภค ในเอเชียด้วย ซึ่งผู้บริโภคในทวีปนี้ก็กังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหารและสวัสดิภาพสัตว์เหมือนกัน” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากซิเนอร์เจีย แอนิมอล กล่าว

การปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลลา

“ระบบกรงตับไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในการปฏิบัติที่โหดร้ายที่สุดในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยง ในการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาอีกด้วย” วิชญะภัทร์ กล่าว หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority) เผยว่าโอกาส การปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลลาน้อยกว่าในฟาร์มปลอดกรงเมื่อเทียบกับระบบกรง

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไข่ไก่และไข่เป็ดที่ใหญ่เป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแม่ไก่ไข่ กว่า 50 ล้านตัว ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระบบกรงตับ รายงานการเฝ้าระวังโรคซัลโมเนลโลซิส ที่เผยแพร่ในปี 2015 โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) ระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี แนวโน้มว่าจะพบเชื้อซัลโมเนลลาบ่อยที่สุด ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาจอันตรายถึงชีวิต

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบปลอดกรง

บริษัทอาหารหลายแห่ง รวมถึงเบอร์เกอร์ คิง และซับเวย์ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจหลักของแมคโดนัลด์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ยุติการใช้ไข่ไก่จากฟาร์มกรงตับในไทยแล้ว

ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้เปิดตัวเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานฟาร์มไข่ไก่แบบไม่ใช้กรง เพื่อผลักดัน ให้เกิดการผลิตไข่ไก่ไร้กรงในประเทศ​ “มีความคืบหน้าหลายอย่าง ไข่ไก่จากระบบปลอดกรงจะมีวางขาย มากขึ้น และเรารู้ว่าแมคโดนัลด์มีความสามารถมากพอที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ และช่วยสร้างระบบอาหารที่ทั้งเห็นอกเห็นใจสัตว์และปลอดภัยต่อผู้บริโภคในไทยและทวีปเอเชียมากกว่าเดิม” วิชญะภัทร์ กล่าว

ผู้ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับการรณรงค์และขอให้แมคโดนัลด์ปรับปรุงนโยบายจัดซื้อไข่ไก่ในทวีปเอเชีย เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ www.gocagefreemcdonalds.org/

 

ซิเนอร์เจียแอนิมอล เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ปฏิบัติงานในลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เห็นอกเห็นใจและยั่งยืนกว่าเดิมใน ค.ศ. 2018, 2019 และ 2020 ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกโดย Animal Charity Evaluators (ACE)
 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: