บันทึกเสวนา...เมื่อแรงงานข้ามชาติเผชิญสถานการณ์โควิดในไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ | 30 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4726 ครั้ง


บันทึกเสวนา: ปรัชญา ไชยแก้ว, กฤตเมธ สงวนพงษ์
เรียบเรียง: กนกวรรณ มีพรหม

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ณ ข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดนิทรรศการ "Story from 9%" [เรื่องเล่าจากประชากร 9% ในเชียงใหม่]​ จัดโดย มูลนิธิเสมสิกขาลัย, เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชนภาคเหนือ และ Lanna project โดยมีการนำเสนอภาพถ่ายและงานเขียนจากผู้เข้าร่วม “โครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในวิกฤติ COVID-19” จำนวน 9 ชิ้นงาน ของ 12 อาสาสมัคร เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้คนในสังคมเรียนรู้และเห็นปัญหาของพี่น้องแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีเสวนาในหัวข้อ “เมื่อแรงงานข้ามชาติเผชิญสถานการณ์โควิดในไทย” เวลา 16.30 – 18.00 น. ​ โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, พิสิษฐ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, แมท อัมพร : มูลนิธิประกายแสง (BEAM) ​ และ สุชาติ สุริยวงศ์:กลุ่มตี่ตาง Titang พิธีกรชวนคุย ชวนแลกเปลี่ยน ​ประภัสสร ​ คอนเมือง กลุ่มลานยิ้มการละคร​

ที่มาภาพ: วรรณา แต้มทอง

พิสิษฐ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบทางการศึกษาในช่วงโควิด

ต้องยอมรับว่าคำว่าลูกหลานแรงงานข้ามชาติครอบคลุมหลายกลุ่ม หลักๆ คือกลุ่มที่มาจากสามประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชาและเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญมาแบบทั้งผิดและถูกกฎหมาย ทำงานนอกระบบ มีรายได้น้อย และมีสถานะทางสังคมในระดับต่ำ แต่ทุกกลุ่มล้วนได้รับผลกระทบทางการศึกษาเหมือนกันในฐานะที่อยู่ในบริบทของการเป็นกลุ่มคนชายขอบในรัฐไทย แต่วันนี้จะโฟกัสในภาคเหนือและเชียงใหม่มากหน่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลายแรงงานชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน เช่นกัน เรายังมีทั้งกะเหรี่ยงพม่า คะฉิ่น มุสลิมพม่า และอื่นๆ จากเมียนมาในระบบการศึกษาด้วย เด็กเหล่านี้เรียนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กในเมืองเชียงใหม่ และกระจัดกระจายตามอำเภอหลักๆ

ก่อนหน้าการระบาดของโควิด19 ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา และคุณภาพทางการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติได้รับการวิเคราะห์ในงานวิชาการหลายชิ้นว่ายังมีข้อจำกัด  แม้ว่ารัฐไทยจะดำเนินนโยบายตามปฏิญญาระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน EFA ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 และในปี 2548 มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อประกันสิทธิทางการศึกษาของเด็กทุกคนที่พำนักอยู่ในประเทศไทยโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ และเป็นการจัดการศึกษาแบบให้เปล่าเป็นเวลา 12 ปี

การวิเคราะห์โครงสร้างทางการศึกษาของไทยทำให้เข้าใจปรากฏการณ์การเข้าสู่การศึกษาในระบบของลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลังจากนั้น ในกรณีของแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ พบว่าผู้ปกครองนิยม/กระตือรือร้นที่จะส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนในระบบเป็นหลัก เนื่องจากมีการอำนวยความสะดวกมากกว่า แบ่งเบาภาระ ทำให้เรียนรู้ภาษาไทยได้เร็วขึ้น พร้อมกับเป็นช่องทางเข้าสู่การเรียนในระดับที่สูงขึ้นได้และเพิ่มโอกาสในการทำงาน ทำให้หลายโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กใช้นโยบายรับทายาทแรงงานข้ามชาติเข้ามาเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียน เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงของคนไทยในพื้นที่ กลยุทธ์เช่นนี้ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กรอดพ้นจากการถูกยุบรวม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมาตั้งแต่ทศวรรษ 2540 อย่างไรก็ตามตัวเลขที่พบในปี 2563 จำนวนนักเรียนที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานทางทะเบียนราษฎร 69,184 คน อยู่ในระดับก่อนประถม 13,156 ประถม 46,496 ม.ต้น 8,549 และ ม.ปลายหรือเทียบเท่า 989 ทำให้เห็นว่านักเรียนกลุ่มประถมศึกษามีมากสุด และจะค่อยๆลดลงตามลำดับ ซึ่งหมายความว่ามีเด็กหลุดออกระบบการศึกษาเป็นระลอกๆ อยู่แล้ว และไม่สามารถสำเร็จการศึกษาในระดับพื้นฐาน 9 ปี ได้ตามที่ระบุไว้ใน พรบ การศึกษาภาคบังคับ 2545 เกินร้อยละ 50 แสดงให้เห็นว่ารัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของลูกหลานแรงงานอย่างครอบคลุม เน้นแต่เพียงกฎหมายไม่กี่อย่างเช่นการรับเข้าเรียน (ปริมาณ) แต่ยังไปไม่ถึงเรื่องคุณภาพทางการศึกษา ไปจนถึงการปรับปรุงกฎหมายการอยู่อาศัยที่ยังไม่มั่นคง และการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น พรบ การทำงานของคนต่างด้าว 2551 ที่อาจทำให้ครอบครัวและทายาทเป็นผู้แพ้ในระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขัน อีกทั้งยังไม่เอื้อต่อสภาพบริบทของการเป็นคนมาจากต่างภาษาต่างวัฒนธรรมจนไม่ต้องการเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น พร้อมๆกับประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม เช่น การนิยมแต่งงานเร็ว การขาดต้นแบบทางการศึกษา การต้องพึ่งพาแรงงานภายในครอบครัว และการย้ายตามผู้ปกครอง ทำให้เข้าสู่การศึกษาในระดับสูงน้อยมาก สุดท้ายก็จะวนกลับมาเป็นแรงงานรายได้น้อยต่อไป

เมื่อเกิดโควิดระรอกแรกในไทย เราเห็นนโยบายการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤตของรัฐบาลไทยที่ให้ปิดสถานศึกษาและให้เรียนออนไลน์และทางไกล ซึ่งไปตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและตอกย้ำภาวะความเป็นอื่นให้กับกลุ่มคนอีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะคนจนเมือง ชนบท แรงงานข้ามชาติ ปัญหาหลัก ๆ เช่น การที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีได้ (บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต) เพราะเครื่องที่จะใช้เรียนได้ดีต้องมีรุ่นที่สูงขึ้น ซึ่งราคาก็ต้องแพงขึ้น รวมถึงต้องรองรับสัญญาณคลื่นความถี่ที่มีระดับสูงขึ้น ค่าบริการก็ต้องสูงขึ้นด้วย แต่เราพบว่าแต่ละครอบครัวมีมือถืออยู่เครื่องหรือสองเครื่อง และไม่ได้อยู่ในสภาพร้อมใช้สำหรับการเรียน หลักๆ คือพ่อแม่ต้องใช้สำหรับติดต่องาน หรือในช่วงวิกฤติคือใช้เพื่อค้นหาว่ามีจุดแจกของหรือให้ความช่วยเหลือที่ไหนบ้าง ภาพที่ถูกบอกเล่าคือไม่ว่าจะเลือกอันใดก็ลำบากเหมือนกัน ต่อมาคือการเรียนแบบนี้มีความไม่พร้อมของโรงเรียนและครูอยู่ด้วย พ่อแม่แรงงานข้ามชาติหลายคนสะท้อนว่า ติดต่อครูได้ลำบากมาก บางทีถามไปหลายวันถึงจะตอบว่าต้องเรียนอะไร เวลาไหน บางกรณีคือกำหนดเวลาสอนแบบกะทันหัน คิดอยากจะสอนก็สอน เด็กและผู้ปกครองเตรียมตัวไม่ทันเพราะไม่ได้นั่งรอเรียนกันอยู่เฉยๆ บางกรณีสั่งงานแต่เด็กไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ แต่ไม่มีระบบให้ปรึกษา ขอความช่วยเหลือ ที่สำคัญทางโรงเรียนไม่ได้มีแผนเพื่อช่วยเหลือทางการเรียนใด ๆ มาจนถึงระลอกสองสามสี่ หรือห้า ที่มีนโยบายออกมาให้จัดสอนแบบ on hand หรือ on demand ซึ่งพบว่าสร้างภาระให้กับผู้ปกครองมากกว่าเนื่องจากปัญหาเรื่องอุปกรณ์สื่อสารและการเข้าถึงสัญญาณ (ค่าบริการ) ยังไม่ได้ปลดล็อกตั้งแต่ระลอกแรก แต่มีข้อจำกัดด้านเวลาในการเอาใจใส่และชี้แนะงาน และอุปสรรคด้านภาษาและความรู้ตามเนื้อหาที่ผู้ปกครองไม่สามารถช่วยชี้แนะได้ เด็กหลายคนเหมือนไม่ได้เรียนอะไรเลย

ครูในโรงเรียนในเมืองแห่งหนึ่งบอกอย่างเปิดใจว่าเด็กไม่ได้อะไรเลย ครูก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ สุดท้ายคือเฝ้ารอให้ได้กลับมาโรงเรียนและสอนกันใหม่อยู่ดี ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้เราไม่โยนความผิดให้ครูและโรงเรียนฝ่ายเดียวเพราะพวกเขาอยู่ในวัฒนธรรมสยบยอมและอ่อนแอไปมาก

ในระดับที่สูงขึ้นเช่นมัธยมพบว่าเด็กติด ร เยอะมากเพราะไม่สามารถทำงานส่งได้ตามที่ครูต้องการ การเปิดเรียนออนไซต์ที่ผ่านมานั้นคือภาพของเด็กกลุ่มนี้วิ่งหาครูแต่ละวิชาเพื่อแก้ ร ของเทอมก่อนและต้องเรียนของเทอมต่อมาด้วย ภาระเหล่านี้ผู้ปกครองและนักเรียนต้องแบกรับ อีกทั้งยังมีความกังวลว่าถ้าหากทำไม่ได้จะไม่ได้เลื่อนชั้น กระทบต่อเป้าหมายการเรียนของเขาและครอบครัวอีก อีกประเด็นซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอันคือบ้านที่พวกเขาอยู่ (บ้านเช่า, แคมป์คนงานไซต์ก่อสร้าง, หอพักเล็กๆ ที่อยู่กันหลายคน) ไม่เอื้อให้เด็กสามารเรียนรู้ได้เลย ดังนั้นการหวังให้บ้านเป็นสถานที่เรียนรู้ที่กระทรวงศึกษาบอกแทบเป็นไปไม่ได้ในกรณีของแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้บ้านยังอาจกลายเป็นพื้นที่อันตราย บางครอบครัวที่เราได้สัมภาษณ์พบว่าเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเนื่องจากความเครียดจากการถูกลดเวลางาน ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ จนถึงติดโควิดทั้งครอบครัว ส่งผลให้เกิดความรุนแรงกับเด็กและผู้หญิง เด็กหญิงอาจถูกคุกคามทางเพศจากญาติหรือคนที่อาศัยอยู่ในแคมป์หรือหอพักเดียวกัน ทำให้เด็กเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต และส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ต้องใช้บ้านเป็นฐานอีกด้วย หลายกรณีที่พบคือแม่ต้องแยกทางจากสามี และพาลูกออกมาเช่าหอ/บ้าน อยู่ตามลำพัง ในขณะที่ปัญหาเดิมๆ ยังไม่ได้หายไปไหน

พิสิษฐ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ในประเด็นเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงการบริการอินเทอร์เน็ตฟรีหรือราคาถูก โดยเฉพาะที่สามารถรองรับการเรียนแบบออนไลน์ในภาวะวิกฤตินี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เป็นโครงข่ายไร้สาย ในขณะที่ตอนนี้มีนโยบายการศึกษา 4.0 หรือการเรียนรู้ในอนาคตผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล แต่รัฐไทยยังคงผูกขาดคลื่นสัญญาณ และควบคุมใช้ในเชิงพาณิชย์หรือเน้นผลทางธุรกิจเป็นหลัก มากกว่าการกระจายสู่สาธารณะประโยชน์ โดยทำให้ครอบคุลมทั่วประเทศ แม้กระทั่งการเรียนผ่านดาวเทียมด้วยเช่นกัน ก็พบว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องโครงข่ายไร้สายที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่และขาดแคลนอุปกรณ์เทคโนโลยีอยู่มาก

ปัญหาความไม่พร้อมของสถานศึกษาและครูในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤติสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยยังอยู่ในระบบรัฐรวมศูนย์ที่ต้องรอคำสั่งจากกระทรวงศึกษาฯ แม้โรงเรียนและครูจะมองเห็นปัญหาอยู่ตรงหน้าเพราะทำงานในพื้นที่ แต่ก็ไม่มีอำนาจจะขยับได้ จนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่เคยเห็นนโยบายที่จะทบทวนประเมินผลทางการศึกษาของเด็กในช่วงวิกฤตินี้ ที่จะช่วยในการออกแบบแนวทางการศึกษาเพื่อช่วยให้เด็กทุกคน ทุกพื้นที่เกิดความต่อเนื่องทางการเรียนรู้ แม้จะเห็นและเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ในส่วนของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงแต่เรากลับยังไม่เห็นการขยับเพื่อเข้าหนุนเสริมในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตามเราพบว่าบางโรงเรียนในเขตเมืองพยายามจะให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องอุปกรณ์และการเข้าถึงบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม สำหรับเด็กที่ขาดแคลน แต่เราก็พบว่ายังมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนเช่น โรงเรียนกลับนำไปให้นักเรียนที่มีผลการเรียนดีแทน

ในส่วนของความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา มีการวิเคราะห์ตัวเลขออกมาแล้วว่ามีกว่า 1.6 ล้านคน แต่เราก็ยังไม่เห็นว่าจะมีมาตรการอะไรเข้ามาแก้ไข เรายังขาดตัวเลขว่าในกลุ่มลูกหลานแรงงานข้ามชาติตอนนี้เหลืออยู่กี่คนกันแน่ และแน่นอนการจะให้การเรียนรู้ของพวกเขาดำเนินต่อไปได้อย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของพวกเรา เราจะดูแค่ตัวเลขของการมีอยู่หรือหลุดออกไปไม่ได้ ต้องกลับไปทบทวนเรื่องของการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพที่แสนอไปข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหามาก่อนการเกิดวิกฤติโควิดแล้ว เราจะออกแบบยังให้ให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โครงสร้างตรงไหนที่จำเป็นต้องขยับและแผนการไปข้างหน้าเมื่อเกิดวิกฤติที่คล้ายกันตามมา วิกฤติครั้งนี้ช่วยให้เราเห็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นแต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้ช่วยกันระดมความคิดว่าจะปรับหรือออกแบบโครงสร้างใหม่ๆ กลไกใหม่ๆ ที่ดีขึ้น ให้มันเสมอภาคมากขึ้น เป็นองค์รวมตั้งแต่ต้นจนจบ ที่สำคัญกระบวนการที่ได้มาต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมออกแบบมากขึ้น

ที่พูดไปทั้งหมดเพื่อทำให้เห็นความสำคัญว่ากลุ่มลูกหลานแรงงานข้ามชาติซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นและจำนวนไม่น้อยเกิดและโตที่นี่ เรียนที่นี่ อีกทั้งไม่มีแนวคิดที่จะกลับไปยังประเทศต้นทางของพ่อแม่เขาแล้ว เขาจะใช้ชีวิตและจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป ดังนั้นอนาคตของไทยจึงสัมพันธ์กับอนาคตของเด็กชายขอบเหล่านี้ด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้ การพูดเรื่องปัญหาทางการศึกษาทั้งในช่วงโควิดและหลังจากนี้จึงไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล สังคมและรัฐจึงต้องหันมาทำความเข้าใจให้มากขึ้นและภาคประชาสังคมอย่างพวกเราต้องช่วยกระทุ้ง ตรวจสอบและผลักให้เกิดการปรับปรุงอย่างมีส่วนร่วมต่อไป

แมท อัมพร : มูลนิธิประกายแสง (BEAM) ​

#เด็กไร้สัญชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ​

การศึกษาสำหรับเด็กไร้สัญชาตินั้น ถือว่าเป็นใบเบิกทางสำหรับชีวิตที่ดีกว่าทั้งทางด้านการมีหน้าที่การงานที่ดี มีความคิดที่ดี การที่ลูกหลานแรงงานช้ามชาติจะเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้นั้นต้องต่อสู้กับปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็น ความยากจน ไม่มีเอกสาร ไม่มีสัญชาติ อีกทั้งยังถูกตีตราว่าเป็นแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันเด็กแรงงานข้ามชาติหลายๆคนเรียนสถานศึกษา ที่ใช้เอกสารรหัสGในการเรียน พวกเราหลายๆคน ไม่มีสถานะทางทะเบียนมาหลายปีแล้ว อีกทั้งยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีตัวตนในสังคมไทย เมื่อไหร่ที่ชื่อของพวกเราจะอยู่ในทะเบียนราษฎร ในประเทศที่พวกเราอาศัยอยู่ ในช่วงโควิด-19 พ่อแม่พี่น้องของพวกเราหลายๆคน ไม่มีงานทำ ตกงาน ถูกเลิกจ้าง หลายคนไม่ได้รับค่าแรงจากการถูกไล่ออก รายได้ในครอบครัวลดลง อีกทั้งยังไม่สามารถเรียนในห้องตามปกติ ทำให้ต้องมาเรียนออนไลน์ ซึ่งการเรียนออนไลน์มีค่าใช้จ่ายในการเรียนแบบปกติมากขึ้นกว่าเดิม

แมท อัมพร มูลนิธิประกายแสง (BEAM) ​

ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการออกกฎหมายจาก สำนักและกระทรวงต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่ไม่ได้รับสิทธิ์ตามสมควร แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขหรือบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงอยากเสนอข้อเรียกร้องให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย

1.รัฐต้องกระจายข้อมูลของการศึกษาให้เข้าถึงทุกภาคส่วนของสังคม สนับสนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชน ในค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนในทุกพื้นที่ โดยไม่แบ่งแยกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และสัญชาติ

2.รัฐต้องสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนแรงงานข้ามชาติตามศักยภาพและความสามารถสูงสุดของผู้เรียน

3.รัฐต้องจัดสวัสดิการทั้งการเยียวยาและวัคซีนให้แก่ประชาชนทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา : มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

#กระบวนการยุติธรรมไทยกับสิทธิแรงงานข้ามชาติและบุคคลไร้สัญชาติ

 กระบวนยุติธรรมแบบไทยๆ ได้สร้างความเหลือมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การเลือกปฎิบัติ การละเมิดสิทธิ์ของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ อคติทางความคิดของคนไทยบางกลุ่มต่อพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ถือบัตรไทย มองว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย สถานการณ์การละเมิดสิทธิของพี่น้องแรงงานข้ามชาติไม่ได้เกิดในช่วงโควิด แต่เกิดมานานนับ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่การเปิดรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติเข้าในประเทศไทย พี่น้องแรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็นประชาชนชั้นสองของประเทศ สถานการณ์การละเมิดของพี่น้องแรงงานข้ามชาติในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน โดยกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า ลูกจ้างภายในจังหวัดเชียงใหม่ต้องได้รับค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 325 บาท ทุกวันนี้ไม่มีการทำสำรวจเลยว่าพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ได้ค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แม้กฎหมายนั้นไม่ได้ระบุไว้ว่าใช้กับคนไทยเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่าใช้กับแค่คนไทย ทำให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติเกิดความกลัวไม่กล้าจะเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองในเวลาที่ไม่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

อีกทั้งในอดีตพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายกองทุนเงินทดแทน ประกันสังคมและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กองทุนเงินทดแทนเป็นกฎหมายที่ดี ในสถานการณ์ที่มีลูกจ้างขั้นต่ำ 1 คนขึ้นไป เมื่อทำงานแล้วประสบอุบัติเหตุหรือเกิดโรคเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างต้องได้รับการเยียวยารักษาหรือถูกตัดอวัยวะต้องได้รับการทดแทน แต่ปัจจุบันพี่น้องแรงงานข้ามชาติประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานแล้วสูญเสียอวัยวะ ทำให้พวกเขาถูกทอดทิ้งไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน หรือ การถูกเลิกจ้าง อีกทั้งแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานไม่สามารถที่จะไปใช้สิทธิเป็นผู้พิการได้ เพราะไม่ใช้ผู้มีสัญชาติไทย ทั้งที่คนกลุ่มดังกล่าวเป็นเรี่ยวแรงหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า สร้างรายได้ให้ประเทศ เมื่อพี่น้องแรงงานข้ามชาติกลายเป็นคนพิการ โดยไม่สามารถขึ้นทะเบียนคนพิการและต่อใบอนุญาตทำงานได้ โดยแรงงานข้ามชาติที่มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยได้ จะต้องมีใบอนุญาตทำงานเท่านั้นถึงจะอยู่ในประเทศได้

ในปัจจุบันกฎหมายประกันสังคม พี่น้องแรงงานข้ามชาติอีกเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้ เนื่องจากหากนายจ้างนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม จะทำให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มเป็นการสร้างต้นทุนให้กับธุรกิจ เพราะหลักประกันสังคมคือการจ่ายเงินสมทบร่วมกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล โดยหักจากรายได้ของลูกจ้าง ทั้งนี้กฏหมายที่ใกล้ตัวกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติมากที่สุดอีกหนึ่งฉบับ คือ พรบ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งให้สิทธิในการรวมตัวในการจัดตั้งของแรงงานเป็น สหภาพ สภา สหพันธ์ แต่ปัจจุบันพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ยังไม่ได้สามารถก่อตั้ง ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของตัวเองได้ ถ้าหากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังกีดกันการก่อตั้งสหภาพของแรงงานข้ามชาติอยู่ พวกเขาก็จะถูกกดขี่ ถูกกดรีด อย่างนี้ตลอดไป

อีกทั้งในปี พ.ศ. 2561 มี พรบ. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มีบางส่วนที่กำจัดสิทธ์ไม่ให้สามารถดำเนินการทางเอกสารของตัวเอง หรือการไม่มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพของตัวเอง เพราะมีการกำหนดอาชีพต้องห้ามของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ให้อำนาจกับบริษัทนำเข้าแรงงานในการจัดการแจ้งออก แจ้งย้าย แจ้งเข้า หลายขั้นตอนใน ในอดีตผู้คนที่มาอยู่ในประเทศไทยมานานและได้รับการสำรวจจากรัฐบาลไทยถือบัตรเลข 6 เลข 7 เลข 0 กลุ่มนี้ยังถูกบังคับจำกัดสิทธิไม่แพ้แรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถที่จะออกนอกพื้นที่อำเภอที่ตัวเองอยู่ หากได้รับการสำรวจอำเภอใด จะต้องอยู่ในอำเภอนั้น หากจะออกนอกอำเภอจะต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ถ้าตามหลักการสิทธิมนุษยชนแล้วต้องมีเสรีภาพในการเดินทาง ถึงปัจจุบันจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถข้ามจังหวัดได้

แม้ว่าปัจจุบันพี่น้องที่ถือบัตร เลข 6 เลข 7 เลข 0 ได้รับการยกระดับขึ้นมานิดหน่อย จากการทำงานร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาสังคมหรือเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านสถานะบุคคล มีการขับเคลื่อนเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิ์ในการเดินทางมากขึ้นเพียงแต่ถูกขยายแค่ภายในจังหวัด ยังคงถูกจำกัดสิทธิ์ไม่ให้เดินทางทั่วประเทศ หรือการผลักดันให้กลุ่มพี่น้องแรงงานข้ามชาติสามารถประกอบอาชีพได้เกือบทุกอาชีพ ยกเว้นเป็นเจ้าของธุรกิจ

 

 ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ​

ในสถานการณ์โควิด ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 มีการประกาศปิดสถานประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อสั่งปิดปุ๊บ พี่น้องแรงงานข้ามชาติต้องตกงานทันที กลายเป็นการเปิดรูปแบบการจ้างงานแบบยอมจำนนซึ่งตาม พรก. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว กำหนดว่าเมื่อลูกจ้างต้องออกจากนายจ้างเดิมและต้องย้ายนายจ้างใหม่ โดยแต่เดิมต้องย้ายภายใน15 วัน และขยับมาเป็น 60 วัน โดยหมดเขตเมื่อปี พ.ศ. 2564 ซึ่งปัจจุบันเป็น 30 วัน ที่ลูกจ้างจะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้

ในช่วงสถานการณ์ covid พี่น้องแรงงานข้ามชาติหางานใหม่ไม่ได้ จึงยอมจำนนในสภาพการจ้าง เช่น การขอร้องนายจ้างไม่ให้แจ้งออก ในขณะที่นายจ้างเก่าไม่แจ้งออกแต่ไม่มีงานให้ทำ พี่น้องแรงงานข้ามชาติต้องดิ้นรนไปหาแอบทำงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และทำให้เกิดการถูกจับ สิ่งที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการขาดรายได้ของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ หลายคนตกงานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถหางานทำได้ ทั้งขาดรายได้และกลายเป็นคนผิดกฎหมาย เพราะไม่มีเงินเพื่อดำเนินการทางเอกสารตามกฏหมายได้ ก่อให้เกิดการอยู่อย่างผิดกฎหมายของพี่น้องในประเทศไทย กลายเป็นช่องทางที่ให้บางหน่วยงานหากินกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นการซ้ำเติมพวกเขาในสถานการณ์โควิด

ผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ covid นโยบายการเยียวยาของรัฐไทยที่มีต่อพี่น้องแรงงานข้ามชาติหรือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน นโยบายแรกออกมาจากกระทรวงการคลังให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดได้รับเงินเยียวยาจากรัฐคนละ 5,000 บาท พี่น้องแรงงานข้ามชาติไม่มีใครได้รับสักบาทเดียวเพราะคนกลุ่มนี้ถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย กระทรวงการคลังช่วยแต่คนไทย สั่งปิดพื้นที่ของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ โดยไม่ได้รับการเยียวยา ที่ผ่านมาหากถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้พื้นที่แคมป์แรงงานที่ถูกสั่งปิด ยังพบเห็นทางภาครัฐเอาข้าวไปแจก แต่แจกเฉพาะคนไทยที่ถือบัตรประชาชน ซึ่งจะต้องนำบัตรประชาชนมาแลกข้าว ในทุกวันนี้สถานการณ์อย่างนั้นยังคงพอมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ และยังคงมีแคมป์คนงานที่ถูกสั่งปิดโดยไม่ได้รับการเยียวยา

สุชาติ สุริยวงศ์: กลุ่มตี่ตาง Titang ​

#สื่อกลางเพื่อการเข้าถึงกระบวนการยื่นขอรับรองสัญชาติไทยโดยเท่าเทียมและทั่วถึง ​

ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่มีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา มนุษย์เป็นผู้แสวงหาสิ่งที่ดีกว่าให้กับตัวเองคนรอบข้างและครอบครัวเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะเคลื่อนย้ายแล้วก็ไหลไปในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยมีการสำรวจจำนวนประชากรครั้งแรกในปี พ.ศ 2448 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นบัญชีพลเรือนสำรวจ จากนั้นอีก 4 ปีกระทรวงมหาดไทย เริ่มทำการจัดทำสำมะโนครัวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.  2452 จนถึงปี พ.ศ. 2490 ในการสำรวจนั้นต้องบอกว่ารัฐไทยเข้าไม่ถึงประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประชาชนจำนวนมากตกสำรวจ แม้จะมีการสำรวจบุคคลพื้นที่สูงซึ่งสันนิษฐานว่าเขาอาจจะเป็นคนไทยและอาจจะเป็นคนที่เพิ่งย้ายมาจากพม่าหรือจากที่อื่น โดยมีการสำรวจไว้แล้วแต่อยู่ในสถานะรอพิสูจน์ หลังจากนั้นมีการสำรวจอีกครั้งคือการสำรวจบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยสำรวจบุคคลที่ตกหล่น ในช่วงปีพ.ศ 2548 จนถึงพ.ศ 2552

 ก่อนอื่นอาจจะต้องถามว่าไทยแท้คือใคร ผมเป็นคนที่ถูกนิยามว่าเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำให้ถูกมองว่าเป็นภัยต่อฝ่ายความมั่นคงมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่สมัยเหตุการณ์เดือนตุลานักศึกษาเข้าป่า สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนมากจะเป็นพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่า ช่วงที่มีการอนุญาติให้ผู้คนกลับเข้าเมืองบางส่วนได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นคนไทย ขณะที่ยังคงมีพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่า ทำให้ไม่ได้เข้ากระบวนการรับรองว่าเป็นคนไทย ความเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นภัยต่อความมั่นคง ในปัจจุบันยังคงถูกฝังอยู่ในผู้คนบางองค์กรของรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ การสำรวจของรัฐที่ไม่ทั่วถึงในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีคนไร้สัญชาติ ตัวอย่างกรณีที่ทางกลุ่มพบคือพ่อแม่เป็นคนไทย แต่ไม่ได้รับการแจ้งเกิด จนอายุ 37 ปี แล้วยังไม่มีบัตรอะไรเลย จะพาไปอำเภอ ก็ถูกตะคอกไล่กลับมา การที่คนไทยคนหนึ่งถูกปฏิบัติแบบนี้ ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายหรือนโยบายไม่ดี แต่ต้องกลับมาถามว่าเพราะการกลัวภัยความมั่นคงกับความคลั่งชาติของเจ้าหน้าที่บางท่านจึงทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกแก้ไข

ปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในช่วง covid การยื่นขอสัญชาติหรือ update สถานการณ์เพื่อยื่นเปลี่ยนสถานะของตนในกฎหมายไทย ได้เปิดโอกาสให้เด็กที่เกิดในไทยสามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมีคนรับรองซึ่งคนรับรองจะต้องบุคคลที่น่าเชื่อถือจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือปลัดอำเภอ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ใหญ่บ้าน, กำนันหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำให้เกิดปัญหาคอรัปชั่นตามมา ปัญหาการเรียกรับเงิน บางรายต้องใช้เงินตั้งแต่ 50,000 - 100,000 บาท เพื่อที่จะได้ลายเซ็นในการยื่นขอสัญชาติไทย สำหรับนโยบายเกี่ยวกับการยื่นขอสัญชาตินั้นมีนัยยะของการจะต้องเป็นคนดี เช่น กำหนดว่าจะต้องมีความประพฤติดี มีอาชีพสุจริต ในปัจจุบันหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีระยะเวลาพิจารณาภายใน 90 วัน ซึ่งยังมีความกังวลถึงอิทธิพลบางส่วนที่หากินกับกระบวนการการยื่นขอสัญชาติ ปัญหาการเลือกถูกปฏิบัติเนื่องจากว่าเราไม่มีสัญชาติ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่บางคนให้บริการไม่เสมอภาคกับคนไทย

สุชาติ สุริยวงศ์ กลุ่มตี่ตาง Titang ​

สิ่งที่พวกเราพบระหว่างเข้าไปช่วยเหลือในการยื่นขอสัญชาติในช่วง covid ที่ผ่านมา เช่น จะไม่มีการรับคำร้อง หรือจะต้องสอบพยานบุคคลในการรับรองก่อน ซึ่งจะมีการใช้บุคคลจำนวนหลายคน เพื่อที่จะมารับรองว่าเป็นคนดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งในกระบวนการใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน อย่างกรณีที่ทางเราให้ความช่วยเหลือที่ใช้ระยะเวลาเกือบ 10 ปีในการยื่นขอสัญชาติ หรือความแตกต่างในการพิจารณาการขอสัญชาติของแต่ละอำเภอที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นกฎหมายข้อเดียวกัน แต่มีการตีความออกมาได้หลายรูปแบบมาก อย่างเช่นในพื้นที่อำเภอฝาง, อำเภอเวียงแหง ตอนนี้ได้รับการแก้ไขให้เด็กมีสถานะขึ้นต้นด้วยเลข ๐ ทั้งนี้บางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่ในเขตอำเภอเมือง ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนามากที่สุด มีความเปิดกว้างมากที่สุด กลับไม่มีการแก้ไขกับปัญหาเด็กกลุ่ม G

ปัญหาแรงงานข้ามชาติกับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาตินั้นแทบจะแยกจากกันไม่ออก เพราะว่าในเชียงใหม่ปัญหาของคนไร้สัญชาติที่ย้ายเข้ามาอยู่ในไทย ไม่ว่าจะมาจากปัญหาจากการสู้รบกันภายในประเทศพม่า ทั้งนี้คนไทใหญ่เองไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคนพม่า ขณะที่หลายคนเป็นประชากรของประเทศพม่า แน่นอนว่ายังคงมีการเคลื่อนย้ายของมนุษย์เป็นธรรมดา ซึ่งตนชื่อมั่นเหลือเกิน และเชื่อแบบสุดใจว่าถ้าโลกใบนี้ หากไม่ได้ถูกกำหนดด้วยเขตแดนหรือกฎหมายอะไรพวกนี้ ประเทศไทยเองก็น่าจะมีประชากรเดินทางออกไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า  

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: