จุดยืนที่ถูกต้องของสภาองค์กรชุมชนต่อร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ 8 มี.ค. 2565 | อ่านแล้ว 5008 ครั้ง


แรงจูงใจของสภาองค์กรชุมชนจำนวนหนึ่งที่ร่วมคัดค้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ยังมีชื่อว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....’ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา  จนกระทั่งได้เปลี่ยนแปลงชื่อมาเป็น ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....’ ตามที่ ครม. เห็นชอบเมื่อ 4 มกราคมปีนี้  โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้  เพื่อส่งกลับไปให้ ครม. มีมติเห็นชอบส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาเป็นกฎหมายใช้บังคับในลำดับต่อไปนั้น  สภาองค์กรชุมชนจำนวนหนึ่งก็ยังร่วมคัดค้านอยู่เพราะเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับต้องการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง  จงใจละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ  อีกทั้งเป็นการขัดขวางการรวมกลุ่มรวมตัวขององค์กรสาธารณะประโยชน์ที่เป็นภาคเอกชน  ภาคประชาชน  และภาคประชาสังคม  ถือว่าเป็นทัศนคติและการกระทำที่ดีของสภาองค์กรชุมชนซึ่งเป็นกลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชนที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 เพราะเห็นพิษภัยร่วมกันกับกลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชนอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สังกัดตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนฯ

แต่การที่ในระดับตัวบุคคลหรือองค์กรของสภาองค์กรชุมชนบางแห่งที่เข้าร่วมในขบวนการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับที่กล่าวไปมีความเห็นคล้อยตามเอ็นจีโอกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่เข้าไปเจรจากับวุฒิสภาบางคนและประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ช่วยล้ม ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....’ (หรือถ้าล้มไม่ได้ก็ขอเข้าไปเป็นกรรมาธิการแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา)  โดยให้เสนอ ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อขึ้นมาพิจารณาแทน  เพราะเห็นว่าร่างฯฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อมี ‘กองทุน’ ที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาสภาองค์กรชุมชนให้ก้าวหน้า  มีศักยภาพ  มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้น  ตรงจุดนี้เอง  ต้องขอทำความเข้าใจต่อระดับตัวบุคคลหรือองค์กรของสภาองค์กรชุมชนบางแห่งที่ยังมีความเห็นเช่นนี้ว่าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

เพราะความเห็นที่ถูกต้อง  ก็คือ  สภาองค์กรชุมชนทั้งหมดต้องร่วมไม้ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการแก้ไข 'พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551'  เพื่อให้เกิด ‘กองทุน’ ที่เป็นอิสระที่ได้บัญญัติหรือมีรากฐานไว้แล้วในกฎหมายของสภาองค์กรชุมชนเอง  ไม่ใช่หวังน้ำบ่อหน้าจากกฎหมายฉบับอื่น  ต้องสร้างบ่อน้ำของตัวเองจากกฎหมายของตัวเอง

เพราะความผิดพลาดของพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนฯในเรื่องของกองทุนอยู่ตรงที่บัญญัติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  เข้ามามีอำนาจและหน้าที่ในการดูแลบริหารบัญชีรายชื่อและการเงินของสภาองค์กรชุมชน  รวมถึงเข้ามากำกับและควบคุมทิศทางการทำงานของสภาองค์กรชุมชนด้วยการให้ พอช. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ  และแบบการจดแจ้งการจัดตั้งชุมชน  ชุมชนท้องถิ่น  ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม  และการจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนด้วย

จึงทำให้อิสรภาพที่จะดำเนินการใด ๆ ของสภาองค์กรชุมชนถูกผูกขาดและครอบงำโดย พอช. ทั้งหมด  ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลย  ถึงขั้นที่ระบุให้ พอช. มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดข้อบังคับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมในระดับชาติ  ระดับจังหวัดและระดับตำบลของสภาองค์กรชุมชนทั้งหมด  รวมถึงมีอำนาจและหน้าที่ประสานและดำเนินการให้มีการจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชนตำบล  ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชนในทุกระดับ  แล้วเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติและรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 

นี่คืออำนาจและหน้าที่ที่ผูกขาดและครอบงำทั้งหมดของ พอช. ต่อสภาองค์กรชุมชน (ถ้าไม่นับเรื่องการจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลที่เอาอำนาจและหน้าที่ที่ผูกขาดและครอบงำอีกส่วนหนึ่งไปให้ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และผู้อำนวยการเขตในกรณีเขตกรุงเทพฯเป็นผู้รับจดแจ้งแล้ว  ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญอีกประเด็นหนึ่งถึงความสมควรมีหรือไม่มีอยู่ของกฎหมายฉบับนี้)  ซึ่งเป็นการให้อำนาจและหน้าที่แก่ พอช. เพื่อครอบงำ  ควบคุม  กำกับ  แทรกแซง  ชี้นำ  บงการสภาองค์กรชุมชนมากเกินควร

คำถามสำคัญก็คือ  ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานับแต่พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนฯประกาศใช้บังคับ  ทำไมสภาองค์กรชุมชนจึงจะเป็นองค์กรอิสระในการดำเนินการบริหารจัดการสภาองค์กรชุมชนด้วยตัวเองไม่ได้ ?

ถ้าจะให้สภาองค์กรชุมชนอยู่ต่อไปได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี  ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนฯเพื่อไม่ให้ พอช. เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชนอีกต่อไป  โดยเฉพาะเรื่องกองทุนหรืองบประมาณของสภาองค์กรชุมชนต้องเป็นของสภาองค์กรชุมชนจริง ๆ  ไม่ใช่ไปฝากไว้กับ พอช.  แล้วให้ พอช. เป็นเจ้าของเงินเพื่อมีอำนาจควบคุมบงการสภาองค์กรชุมชนอีกทอดหนึ่งแบบที่เป็นอยู่นี้อีกต่อไป

ดังนั้น  จุดยืนที่ถูกต้องของสภาองค์กรชุมชนเมื่อพ้นไปเสียจากความคาดหวังต่อเรื่อง ‘กองทุน’ ในร่างฯฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อ  หรือ ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อแล้ว  เพราะข้อเท็จจริงที่เห็นอยู่ก็คือไม่มีทางที่รัฐจะไม่เสนอร่างกฎหมายฉบับอื่นประกบ  ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ  ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค  วุฒิสภา  และประธานรัฐสภา  นายชวน หลีกภัย  ที่แจ้งอย่างชัดเจนต่อเอ็นจีโอกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่ไปเข้าพบเมื่อ 20 และ 31 มกราคมที่ผ่านมาตามลำดับว่าจะเสนอให้รัฐบาล/ครม. หยิบยก ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ  และร่างพระราชบัญญัติชื่อเดียวกันแต่เป็นฉบับของ พม. (ที่ตัดเรื่องกองทุนออกไปแล้ว) ทั้งสองฉบับขึ้นมาพิจารณาแทน  ก็คือ  ต้องคัดค้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ 

ไม่ใช่คัดค้านเฉพาะแค่ ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....’ ที่ พม. กำลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้  แม้แต่ ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อก็ต้องคัดค้านด้วย  ด้วยเหตุผลสองประการ  ได้แก่  (1) เพื่อตัดเชื้อไฟไม่ให้ฝ่ายรัฐเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับอื่นประกบ

และ (2) ควรนำร่างฯฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อมาทบทวนใหม่ด้วยการสร้างการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างแพร่หลายและกว้างขวางกว่าเดิมในกลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชน  เอ็นจีโอและประชาสังคมที่แตกต่างและหลากหลายเพื่อแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น (ไม่ใช่เรื่องเสียหน้า  เสียหายหรือน่าเสียดายแต่อย่างใดเลยที่ร่างฯฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อจะไม่ถูกผลักดันต่อไป)  เพราะในเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘กองทุน’ นี่แหละที่ยังมีเนื้อหาเป็นไปในทาง ‘ส่งเสริม’ หรือให้คุณต่อกลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชน  เอ็นจีโอและประชาสังคมบางกลุ่มที่ประสงค์จะทำตัวดีต่อรัฐเท่านั้น  แต่ ‘เลือกปฏิบัติ’ หรือให้โทษต่อกลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชน  เอ็นจีโอและประชาสังคมอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ประสงค์ยืนอยู่บนประโยชน์สาธารณะแล้วถูกเกลียดและกลั่นแกล้งจากรัฐ

ซึ่ง ‘กองทุน’ ในร่างฯฉบับที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อนี่แหละจะนำมาซึ่งการแบ่งแยก  แตกแยกในกลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชน  เอ็นจีโอและประชาสังคมด้วยกันเอง  จนทำให้พลังของประชาชนที่จะต่อรอง  ต่อสู้  ต้านทาน  ลด  คาน  หรือแม้กระทั่งจะร่วมมือทำงานกับอำนาจรัฐและทุนอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: