อีกเหยื่อนโยบายทวงคืนผืนป่ายุค คสช. กับกฎหมายป่าไม้ที่ไม่เคยยุติธรรมกับคนชุมชนชาติพันธุ์

มานพ คีรีภูวดล 29 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4481 ครั้ง


ความเจ็บปวดหลังได้ทราบข่าวว่าศาลฎีกาตัดสินจำคุกนางวันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ในวัย 50 ปี ด้วยโทษ 2 ปี 8 เดือน โดยที่ “ไม่รอลงอาญา” ซ้ำยังมีโทษปรับอีก 3.1 แสนบาท รวมถึงให้รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เกิดเหตุ

คดีนี้ เกิดขึ้นวันที่ 16 ส.ค. 2561 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้จับกุมและแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นการยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน เข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าและเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่

แม้ที่ดินผืนนี้จะเป็นมรดกตกทอดมาจากแม่และได้อยู่อาศัยทำกินมาก่อน !

ในศาลชั้นต้น ได้พิพากษาให้จำคุก 3 ปี 8 เดือน ให้ออกจากที่ดิน รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้าง และจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ 2,124,060 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำตัดสินพิพากษาของศาลชั้นต้น ยกฟ้องคดี ซึ่งเป็นความหวังว่าในการได้รับความเป็นธรรม

แต่พนักงานอัยการได้ยื่นฎีกา จนมีคำตัดสินอันเจ็บปวดในวันนี้ ?

นี่คืออีกหนึ่งโศกนาฏกรรมของผืนป่าในอุทยานฯ แก่งกระจานไม่ต่างจากกรณีบิลลี่ ปู่คออี้หรือพะตี่หน่อแอะแห่งใจแผ่นดิน-บางกลอยและเป็นสิ่งยืนยันความเลวร้ายของนโยบายยุคเผด็จการและกฎหมายของรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจนิยมที่ยังคงเกาะกินสังคม

จากข้อเท็จจริงนั้น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศเมื่อปี 2524 เส้นแนวเขตในพระราชกฤษฎีกาที่ คือเส้นที่วันเสาร์และชาวบ้านท่าเสลารับรู้ทั่วกันและไม่เคยรุกล้ำเข้าไป

แต่ต่อมากรมอุทยานฯ ได้ลากเส้นแนวเขตใหม่ โดยอ้างนโยบายในปี 2558 ภายใต้อำนาจของประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการหรือโครงการ “One Map” จึงยึดเอาเส้นแนวเขตที่ถูกขีดขึ้นใหม่เป็นเส้นทางการและเส้นแนวเขตใหม่นี้เองได้รวมเอาพื้นที่ของวันเสาร์เข้าไปอยู่ในเขตอุทยานฯ ด้วย

และยังอ้างอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้หรือนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ตลอด 8 ปีที่ผ่านได้สร้างคดีความมากกว่าสามหมื่นคดี

หากข้อมูลนี้เป็นจริงมันยุติธรรมแล้วหรือไม่ เหตุใดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐกลับมาทำร้ายชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยมาก่อนได้อย่างเลือดเย็นเช่นนี้ ? แล้วสังคมไทยได้อะไร ? หรือใครกลุ่มใดได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจเช่นนี้ ?

ข้อมูลจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟเผยว่ามีกรณีผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2557-2565) มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ รวมกันอย่างน้อย 34,692 คดี

ทำไม ? พี่น้องชนพื้นเมือง ชุมชนชาติพันธุ์ที่ต่างอยู่อาศัยในพื้นที่ป่ามาช้านานและส่วนใหญ่อยู่มาก่อนการประกาศกฎหมายป่าไม้ของรัฐ อีกจำนวนไม่น้อยมีหลักฐานการอยู่อาศัยมาก่อนการเกิดขึ้นของเส้นแนวเขตรัฐชาติสมัยใหม่เสียด้วยซ้ำ

แต่พวกเรากลับถูกอำนาจของกฎหมาย “ประกาศทับ” กลายเป็นผู้ที่ต้องอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกพรากสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมือง ต้องอยู่อาศัยตามยถากรรม ถูกบีบให้รอคอยการสงเคราะห์ และต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีด้านป่าไม้อยู่ทุกลมหายใจ

จนถึงยุคปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยมีกฎหมายจากรัฐฉบับใดให้การรับรองสิทธิการอยู่อาศัยกับฐานทรัพยากรเพื่อคืนความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมและปกป้องวิถีชีวิต นิเวศวัฒนธรรมอันหลากหลายเหล่านี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะให้การรับรองหลักการนี้มาไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ แม้ว่ารัฐบาลจะไปร่วมรับหลักการหรือปฏิญญาสากลกับนานาประเทศมาโดยตลอด แม้พวกเราและเพื่อนในสังคมจะพยายามต่อสู้ผลักดันให้นโยบาย-กฎหมายของประเทศนี้มองเห็นหัวเรามากกว่านี้

แต่ความเลวร้ายของอำนาจนโยบาย-กฎหมายที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อพวกเราก็ยังคงทำร้ายชีวิตของผู้คนอย่างไม่หยุดหย่อนมาโดยตลอด

ขอให้ทุกความเจ็บปวดคับแค้นแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการโค่นล้มอำนาจอยุติธรรม

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ก Manop Keereepuwadol-มานพ คีรีภูวดล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: