จับตา: 'การเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์' คืออะไร?

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2548 ครั้ง


ทุกวันที่ 27 ส.ค. ตรงกับ "วันยุติการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์" ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะจุดประกายประเด็นสำคัญนี้ขึ้น และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างเราและสัตว์

เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมเราจึงรักและเอ็นดูสัตว์บางชนิด แต่กลับมองสัตว์บางสายพันธุ์เป็นอาหาร วันที่ 27 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันยุติการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ได้เป็นโอกาสที่ดีที่จะจุดประกายประเด็นสำคัญนี้ขึ้น และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างเราและสัตว์ องค์กรและกลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิทธิสัตว์จากทั่วทุกมุมโลกจึงต่างเชิญชวนให้ผู้คนทบทวนความเมตตาที่เรามีต่อสัตว์แต่ละสายพันธุ์

คำว่า “การเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์” ถูกคิดค้นโดยนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ Richard D. Ryder ในยุค 70 และเป็นที่นิยมมากขึ้นจากหนังสือ “Animal Liberation” ซึ่งเขียนโดยนักปรัชญาชาวออสเตรีย Peter Singer และได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1975 หนังสือเล่มนี้สืบสวนและท้าทายถึงเหตุผลว่าทำไมมนุษย์จึงจัดลำดับค่าของสัตว์แต่ละชนิด และตัดสินว่าสายพันธุ์ใดสมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจมากกว่า

“เมื่อพูดถึงความสามารถในการรับรู้ความเจ็บปวด สัตว์แต่ละชนิดไม่แตกต่างกันขนาดนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์กลับต้องทุกข์ทรมานมากกว่าสัตว์เลี้ยง สัตว์ในฟาร์ม เช่น วัว หมู และไก่ ถูกปฏิบัติด้วยวิธีที่ถือว่าผิดหลักศีลธรรมของหลายๆ ประเทศ และถือว่าเป็นการกระทำที่น่าตกใจหากสัตว์ที่ว่านั้นเป็น         สัตว์เลี้ยง เช่น การใช้ทั้งชีวิตในกรงขังแคบๆ การโดนตัดอวัยวะโดยไม่ใช้ยาชา วันที่ 27 สิงหาคมนี้จึงเป็นวันสำคัญที่เราจะใช้เวลาไตร่ตรองประเด็นดังกล่าว” ชิสากัญญ์ อารีพิพัฒน์​ ผู้จัดการโครงการท้าลอง 22 วัน จากองค์กรพิทักษ์สัตว์สากลซิเนอร์เจีย แอนิมอลกล่าว

ยิ่งกว่าสองมาตรฐาน

ในทุกๆ ปี สัตว์บกกว่า 7 หมื่นล้านชีวิตทั่วโลกถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร จำนวนนี้มากกว่าจำนวนสัตว์ที่เราถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีขณะนี้ถึง 50 เท่า สำหรับคุณชิสากัญญ์แล้ว ความต่างระหว่างสองจำนวนนี้ควรเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียง “เรากำลังพูดถึงสิ่งมีชีวิตจิตใจหลายพันล้านชีวิต งานวิจัยแสดงให้เห็นแล้วว่าหมูเฉลียวฉลาดพอๆ กับสุนัข และพวกเขาเจ็บปวดได้เท่าๆ กัน”

นโยบายเพื่อปกป้องสิทธิสัตว์แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับประเทศ วัฒนธรรมและกาลเวลา และในบางครั้งนโยบายเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปในเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ในปี 2021 สหราชอาณาจักรให้การรับรองทางกฏหมายว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั้งหมดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและตระหนักรู้ได้ถึงคุณค่าของชีวิต หมายความว่าพวกเขาสามารถที่จะมีความรู้สึก เช่น ความสุข ความเจ็บปวด และเครียดได้ และในปีนี้ก็ได้เพิ่มสัตว์ไร้กระดูกสันหลังบางสายพันธุ์ เช่น ล็อบสเตอร์ ปลาหมึก ปู และสัตว์จำพวกครัสเตเชียนและหอยเซฟาโล พอดอื่นๆ เข้าไปในรายชื่อด้วยเช่นกัน กฏหมายใหม่นี้ช่วยทำให้เรามั่นใจว่าความต้องการและความเจ็บปวดของสัตว์ได้รับการพิจารณาในการร่างนโยบายต่างๆ 

และกฏหมายกำลังไล่ตามการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก การจัดอันดับสิทธิสัตว์แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของแต่ละประเทศทั่วโลกว่าสัตว์แต่ละชนิดได้รับการปฏิบัติและการปกป้องอย่างไรบ้าง ประเทศไทยได้อันดับที่ 43 โดยมีกฏหมายต่อต้านความโหดร้ายต่อสัตว์ และเห็นว่าสัตว์สามารถทุกข์ทรมานได้ แต่ไม่ถือว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตระหนักได้ถึงคุณค่าของชีวิตและไม่มีกฏหมายห้ามทำฟาร์มขนสัตว์

ลบเส้นแบ่งแยก

เป็นเวลาหลายสิบปีที่นักวิจัยต่างก็ให้ความสนใจเหตุผลด้านจิตวิทยาของการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ ในปี 2019 งานวิจัยเผยว่าความเห็นอกเห็นใจที่เรามีต่อสายพันธุ์อื่นเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับความสนิทชิดเชื้อของสายพันธุ์นั้นๆ กับมนุษย์และคุณลักษณะที่มีร่วมกัน Janis Driscoll นักวิจัยจาก University of Colorado ก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายกันในปี 1995 โดยเผยว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะจัดอันดับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมว่า "น่ารัก" มากกว่าปลาหรือนก

“การที่มนุษย์มองว่าสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ได้น่ารักเท่าอาจทำให้มนุษย์เฉยชาต่อความทุกข์ทรมานของสัตว์เหล่านี้ได้ ตัวอย่างเช่น แม้ว่ามนุษย์โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีความสงสารไก่เท่าสัตว์อื่น นั่นไม่ได้หมายความว่าไก่ไม่มีความสามารถในการรับรู้ความเจ็บปวด แต่กระนั้น ไก่กลับเป็นหนึ่งในสายพันธุ์สัตว์ที่ต้องทุกข์ทรมานมากที่สุดในระบบอาหารของเรา” ชิสากัญญ์กล่าว 

งานวิจัยของ Driscoll เผยว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังเชื่ออีกว่าสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ได้ ‘เฉลียวฉลาด’ อย่างที่เราเข้าใจกัน “ตัวอย่างที่ดีคือปลา แม้จะมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการรับรู้ความเจ็บปวดและความสามารถทางปัญญาที่ซับซ้อน รวมถึงการจดจำตนเองและความสามารถทางคณิตศาสตร์ แต่ถึงอย่างนั้น ปลากลับได้รับการคุ้มครองโดยนโยบายสวัสดิภาพสัตว์น้อยที่สุด เป็นเพราะความรู้สึกของพวกเขามักจะถูกละเลย” ชิสากัญญ์กล่าว

ในความเห็นของชิสากัญญ์แล้ว ยิ่งมีความรู้เกี่ยวกับความรู้สึกของสัตว์มากเท่าไร คนก็ยิ่งมีความรู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่บนจานอาหารของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น: “ถ้าใครรู้สึกแย่กับความคิดที่จะฆ่าสุนัข พวกเขาจะกินสายพันธุ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้และพฤติกรรมที่ซับซ้อนเท่าๆ กัน เช่น หมู ได้อย่างไร” 

นอกจากเหตุผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว การตั้งข้อสงสัยเรื่องการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์เป็นหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนเริ่มเปลี่ยนไปเลือกรับประทานอาหารที่เห็นอกเห็นใจสัตว์ในหลายปีที่ผ่านมา “ในประเทศไทย ซิเนอร์เจีย แอนิมอลช่วยกว่า 30,000 คนให้ตัดสินใจเลือกอาหารอย่างมีสติมากขึ้น พร้อมให้คำแนะนำออนไลน์จากนักกำหนดอาหาร และสูตรอาหารแพลนต์เบสง่ายๆ” ชิสากัญญ์กล่าว

 

เกี่ยวกับซิเนอร์เจีย แอนิมอล 

ซิเนอร์เจีย แอนิมอล เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ปฏิบัติงานในกลุ่มประเทศ Global South เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและส่งเสริมทางเลือกอาหารที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์  เราได้รับการจัดอันดับโดย Animal Charity Evaluators (ACE) ให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: