วช.หนุนนักวิจัย มทร.อีสานพัฒนาเตียงผู้ป่วยติดเตียง-สูงวัยสู้แผลกดทับสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2280 ครั้ง

วช.หนุนนักวิจัย มทร.อีสานพัฒนาเตียงผู้ป่วยติดเตียง-สูงวัยสู้แผลกดทับสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนนักวิจัยสาขาวิศกรรมไฟฟ้า ด้านระบบควบคุมไฟฟ้าและนวัตกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พัฒนาเตียงผู้ป่วยติดเตียง-สูงวัยสู้แผลกดทับสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 ว่า รศ.ดร.ศักดิ์ระวี ระวีกุล นักวิจัยสาขาวิศกรรมไฟฟ้า ด้านระบบควบคุมไฟฟ้าและนวัตกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เรื่อง “การพัฒนาต่อยอดระบบ software smart bed ควบคุมเตียงพลิกตะแคงและเบาะเจลยางพาราป้องกันแผลกดทับ Doctor N Medigel เพื่อให้ได้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ระดับสากล สำหรับใช้งานในหอผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19”

ซึ่งแนวคิดที่จะวิจัยพัฒนาต่อยอดงานวิจัยนี้ เป็นทางเลือกให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศได้พัฒนาขยายโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มช่องทางการแข่งขันทางการตลาดให้หลากหลาย ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง ร่วมถึงปัญหาการระบาดของโควิด -19 ซึ่งในจำนวนที่เกิดการระบาดนี้จะมีผู้ป่วยปอดอักเสบที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและการช่วยหายใจในท่าคว่ำจึงจะช่วยให้สามารถคงค่าออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยได้ ซึ่งการจะพลิกคว่ำเปลี่ยนท่าผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องใช้พยาบาลหลายคนในการเปลี่ยนท่าผู้ป่วย แต่หากใช้เตียงพลิกตะแคงและ software จะช่วยผ่อนแรงพยาบาลได้ และสามารถควบคุมการเปลี่ยนท่าจาก software central control ได้ ทำให้พยาบาลไม่ต้องเข้าไปเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อมากเกินไป

รศ.ดร.ศักดิ์ระวี กล่าวต่อว่า แต่การจะนำเตียงและ software นี้ใช้ในหอผู้ป่วยวิกฤตได้นั้นจำเป็นที่จะต้องผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานขั้นสูงสุด เตียงผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นสามารถส่งข้อมูล และ รับข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน ทำให้การเข้าถึงการควบคุมช่วยเหลือ ผู้ป่วย ผู้สูงวัยทำได้รวดเร็ว เช่น การกำหนดเวลาการปรับท่าทางการนอน การเปลี่ยนตำแหน่งจุดกดทับ การปรับให้ผู้ป่วยในท่าทางการรักษาที่เหมาะสม การกำหนดเวลาล่วงหน้า การพาผู้ป่วยผู้สูงวัยทำกายภาพบำบัด ในส่วนต่างๆที่มีความละเอียดอ่อน นวัตกรรมระบบควบคุมนี้ ได้รับจดทรัพย์สินทางปัญญา และ ผ่านการทดสอบมาตรฐาน ซอฟต์แวร์ ทางการแพทย์ ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยกับผู้ใช้งานและ ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: