จับตา: กฎระดับโลก 20 ข้อ เพื่อยุติการใช้ไม้กระบองตำรวจในทางที่ผิด

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2494 ครั้ง


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่รายงานสั้นฉบับใหม่ ก่อนถึง “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) หรือที่เมืองไทยคุ้นเคยกันในนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” โดยในรายงานฉบับนี้มีการเสนอกฎ 20 ข้อของการใช้ไม้กระบองในลักษณะที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนเอาไว้ด้วย | ที่มาภาพ: Valery Sharifulin\TASS via Getty Images (อ้างใน Amnesty International)

วิดีโอที่เผยแพร่ภาพตำรวจในประเทศอินเดียใช้ไม้กระบองทำร้ายผู้ชุมนุมและผู้ถูกควบคุมตัวเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกจะต้องแก้ปัญหาการใช้ไม้กระบองอย่างไม่ถูกต้องและแพร่หลาย รวมทั้งการใช้อาวุธในลักษณะตีแบบเดียวกันอย่างอื่นด้วย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เผยแพร่รายงานสั้นฉบับใหม่ ก่อนถึง “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) หรือที่เมืองไทยคุ้นเคยกันในนาม วันต่อต้านการทรมานสากล” (26 มิถุนายนของทุกปี) เพื่อกำหนดแนวทางและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้อาวุธเหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่เน้นให้เห็นถึงหลักการสำคัญในแง่ของความถูกต้องตามกฎหมาย ความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความรับผิด

ตามมาตรฐานระหว่างประเทศจะต้องไม่ใช้ไม้กระบองเป็นเครื่องมือเพื่อการลงโทษ เพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบ หรือเพื่อทำร้ายบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว แต่จากการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ยังคงใช้ไม้กระบองอย่างไม่ถูกต้องในลักษณะที่อาจเข้าขั้นเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมามีผู้ถ่ายวิดีโอขณะที่ตำรวจใช้ไม้กระบองกระหน่ำตีผู้ประท้วงชายที่ถูกควบคุมตัวไว้อยู่แล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองซาฮารานปอ รัฐอุตตร ประเทศอินเดีย ตำรวจยังคงกระหน่ำตีต่อไปแม้ผู้ถูกควบคุมตัวร้องไห้ด้วยความหวาดกลัวและด้วยความเจ็บปวด ชายคนหนึ่งถึงกับคร่ำครวญว่าแขนของเขาได้หักแล้ว ภาพวิดีโอนี้ชี้ให้เห็นการปฏิบัติงานโดยมิชอบในหลายแบบที่เกิดขึ้นหลังกำแพงสถานกักกันทั่วโลก และแสดงให้เห็นว่าอาวุธที่ใช้กันอย่างดาษดื่นอย่างไม้กระบอง อาจกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการทรมานได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง

ดร.อันชา บีเนิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านตำรวจและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ไม้กระบองไม่ใช่ของเด็กเล่น เพราะอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บสาหัส และอาจเสียชีวิตได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง แต่ในหลายครั้ง เราได้เห็นตำรวจใช้ไม้กระบองเป็นเครื่องมือเพื่อการปราบปรามหรือลงโทษ ทั้งการกระหน่ำตีระหว่างการชุมนุมโดยสงบ หรือการจงใจทำให้เกิดความเจ็บปวดและความหวาดกลัวต่อผู้ถูกควบคุมตัว

“หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องยุติการใช้ไม้กระบองเป็นทางเลือกแรกในปฏิบัติการเบื้องต้น ตามหลักการแล้ว เราควรใช้ไม้กระบอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายที่รุนแรง หรือเฉพาะเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่อันตรายน้อยกว่า ตำรวจต้องพยายามลดความตึงเครียดของสถานการณ์ โดยการประกาศเตือนด้วยวาจาอย่างชัดเจนก่อนจะมีการใช้ไม้กระบอง และควรใช้ในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายน้อยที่สุด การตีไปที่ศีรษะ ใบหน้า คอ ลำคอ ขาหนีบ หรือการกระหน่ำตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแนวทางที่ไม่มีความชอบธรรม"

 

ปัญหาระดับโลก  

อาวุธที่ใช้ตีหลายร้อยประเภทเป็นสิ่งที่ถูกใช้กันอย่างดาษดื่น และเป็นการใช้อย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งได้กลายมาเป็นเครื่องมือบังคับใช้ทางกฎหมายในรูปแบบต่างๆ ที่พบทั่วโลก ในปี 2564 แอมเนสตี้ได้ตรวจสอบเหตุการณ์ 188 ครั้งที่มีการใช้ไม้กระบองและอาวุธเพื่อใช้ตีอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเกิดขึ้นใน 35 ประเทศ รวมทั้งเบลารุส ชิลี ฝรั่งเศส  เมียนมา ไนจีเรีย และสหรัฐฯ 

ตัวอย่างของการใช้ไม้กระบองอย่างไม่ถูกต้องในเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่อินเดีย และรวมไปถึงเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ 

- เจ้าหน้าที่ของเบลารุสทุบตีอย่างทารุณต่อผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ ระหว่างพยายามข้ามพรมแดนเข้าไปในโปแลนด์ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2564  

- เจ้าหน้าที่เรือนจำโมร็อกโกเข้าไปในห้องขังของโมฮัมหมัด ลามิเน ฮัดดี นักกิจกรรมชาวซาห์ราวี ในเดือนมีนาคม 2565 และได้ใช้ไม้กระบองทุบตีเขา และตัดหนวดเคราของเขาด้วย 

- เจ้าหน้าที่อิสราเอลได้ใช้ไม้กระบองและกระสุนยาง ทำร้ายผู้แสวงบุญที่มัสยิดอัลอักซอ กรุงเยรูซาเล็มในเดือนเมษายน 2565 เป็นการใช้ความรุนแรงที่เป็นการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 150 คน  

 

มาตรฐานระหว่างประเทศที่ชัดเจน 

นอกจากการเผยแพร่รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังมีการเสนอกฎ 20 ข้อของการใช้ไม้กระบองที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นเนื้อหาที่มาจากหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งแนวปฏิบัติเมื่อปี 2558 ของแอมเนสตี้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานดังนี้

  

poster 23 June 2022.png

 

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรปฏิบัติอย่างยิ่ง 

✔ ใช้ไม้กระบองเฉพาะเพื่อเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายด้วยความรุนแรง 

✔ ใช้ไม้กระบองเฉพาะเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่าแล้ว 

✔ ก่อนการใช้ไม้กระบอง ให้ประกาศคำสั่งอย่างชัดเจนเพื่อยุติความรุนแรง และเตือนว่าอาจมีการใช้กำลังหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง 

✔ ให้มุ่งตีที่บริเวณกล้ามเนื้อใหญ่ของร่างกาย (ต้นขา หรือต้นแขน) และหลีกเลี่ยงบริเวณที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส 

✔ ต้องมีเหตุผลชัดเจนในการตีแต่ละครั้ง และให้ยุติการใช้ไม้กระบองทันที เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว 

 

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฏหมายไม่ควรปฏิบัติ

✖ ใช้ไม้กระบองต่อบุคคลที่อยู่ในความสงบแล้ว หรือไม่ได้ใช้กำลังในการตอบโต้ 

✖ ใช้ไม้กระบองต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่

✖ ใช้ไม้กระบองเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบ 

✖ “การไล่ตีด้วยไม้กระบอง” เช่น การใช้ไม้กระบองไล่ตีขณะวิ่งตามผู้ชุมนุมซึ่งกำลังหลบหนี 

✖ เล็งไปที่เป้าหมาย “ที่มีความเสี่ยงสูง” (เช่น ศีรษะ คอ กระดูกสันหลัง ลำคอ ขาหนีบ) ยกเว้นในสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้า อันอาจนำไปสู่การทำร้ายให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต และไม่มีแนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาแล้ว 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้มีการห้ามใช้โดยเด็ดขาดสำหรับกระบองที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย เช่น กระบองที่มีหนามแหลม และเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาการควบคุมการซื้อขายกระบองและสินค้าเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะถูกนำไปใช้สำหรับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย

รายงานใหม่นี้จะถูกนำเสนอระหว่างการประชุมที่ร่วมจัดโดยสมาคมป้องกันการทรมาน (APT) และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ว่าด้วยการป้องกันการทรมานในบริบทของการชุมนุมสาธารณะ ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ 

 

เอกสารแนบ

รายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: