สถาบันกัญชาทางการเเพทย์เผยผลวิจัยปลูกกัญชา 6 ต้นบ้านโนนมาลัย

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2543 ครั้ง

สถาบันกัญชาทางการเเพทย์เผยผลวิจัยปลูกกัญชา 6 ต้นบ้านโนนมาลัย

สถาบันกัญชาทางการเเพทย์เผยผลวิจัย ปลูกกัญชา 6 ต้น บ้านโนนมาลัยโมเดล พบ 7 แปลงปลูกต้นทุนทั้งหมด 118,132 บาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วสามารถสร้างรายได้สุทธิ 148,285 บาท เร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลูกกัญชารายย่อยต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน | ที่มาภาพ: @ttraisuree

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 ว่านายเเพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการเเพทย์ เปิดเผยว่า สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ได้จัดให้มีประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 โดยเชิญ ภก.ชัยสิทธิ์ สุนทรา เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี ผู้ทำวิจัยเรื่อง "การถอดบทเรียนการปลูกกัญชาทางการแพทย์ของวิสาหกิจชุมชน กรณีศึกษาบ้านโนนมาลัย" มาสรุปผลการดำเนินการ

“การปลูกกัญชา ที่บ้านโนนมาลัย มีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในครัวเรือน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ครัวเรือน และสร้างรายได้ในชุมชน โดยผลการศึกษาพบว่าการปลูกกัญชา 6 ต้น นั้นสามารถสร้างผลกำไร ให้แก่เกษตรกรได้ตั้งแต่รอบแรกของการปลูก โดยมีในช่วงระยะเวลา 8 เดือน พบว่าในภาพรวม 7 แปลงปลูกกัญชา มีต้นทุนคงที่ 80,201 บาท ต้นทุนผันแปร 37,931 บาท รวมต้นทุนทั้งหมด 118,132 บาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว สามารถสร้างรายได้สุทธิ 148,285 บาท”นายเเพทย์กิตติ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ผลการศึกษายืนยันอีกว่า นอกจากจะได้ความคุ้มค่าของโครงการแล้ว ยังได้องค์ความรู้เรื่องการปลูกกัญชา ตั้งแต่การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว และการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ ด้านต่าง ๆ สามารถถ่ายทอดต่อให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ได้อีก

นายเเพทย์กิตติ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า 3 ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ปลูกกัญชา ที่บ้านโนนมาลัย ประสบความสำเร็จ คือ 1.นโยบายที่ชัดเจน 2.ระบบนิเวศวิทยา หรือ Ecosystem ที่เหมาะสม และ 3.ความเข้มแข็งของเกษตรกร ที่ภาครัฐต้องเสริมความเข้มแข็ง

“ผู้ทำการศึกษาวิจัย ยังได้เสนอมาตรการ 5 ข้อ เพื่อปรับปรุงให้โครงการกัญชา 6 ต้น ของวิสาหกิจชุมชน สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ 1.การเปิดตลาดสินค้าชุมชน 2.การลดขั้นตอนการอนุญาตและกำกับดูแล 3.การสร้างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการปลูกและแปรรูปกัญชาในทุกระดับ 4.การพัฒนาระบบพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร และ 5.การสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างอำนาจในการต่อรอง”นายเเพทย์กิตติ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: