เตรียมความพร้อมโอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่น ชวนดูตัวอย่างที่ จ.นครราชสีมา

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4497 ครั้ง

เตรียมความพร้อมโอน รพ.สต. ให้ท้องถิ่น ชวนดูตัวอย่างที่ จ.นครราชสีมา ติว 182 รพ.สต.ก่อนเข้าสู่ชายคา อบจ. เน้นย้ำการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ นำหน้าการรักษาพยาบาล พร้อมยึดเอาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง ด้านรองเลขาฯ องค์กรสานพลัง เชื่อท้องถิ่นมีพลังจากหน้าที่ยึดโยงประชาชน ช่วยให้คนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช. เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2565 ที่ จ.นครราชสีมา ได้มีการจัดโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบจ.นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่ขอรับการถ่ายโอนไปยัง อบจ.นครราชสีมา รวม 182 แห่ง เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น เพื่ออบรมจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ให้นำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาวะที่ดีของประชาชนใน จ.นครราชสีมา

นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา ประจำปี 2565 จะสอดรับกับนโยบายด้านสาธารณสุข 9 ข้อของ อบจ. ซึ่งประกอบด้วย 1. สนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง 2. บูรณาการระบบดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 3. นำร่องระบบบริการถ้วนหน้าของ รพ.สต. 4. ส่งเสริมให้มีระบบการแพทย์ทางเลือก

5. น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาด้านสาธารณสุขท้องถิ่น 6. ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมให้อาหารเป็นยาและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 7. พัฒนาสมรรถนะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารด้านสาธารณสุข 8. จัดทำ Big data ของ รพ.สต.และ 9. พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ

นายวีระชาติ กล่าวว่า นโยบายทั้ง 9 ด้าน มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาประกอบรวมในการจัดทำแผนดูแลสุขภาพของประชาชน และให้สอดรับกับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มายัง อบจ.นครราชสีมา ให้มีการดำเนินการต่อเนื่องและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในบางพื้นที่ยังไม่ได้มีการถ่ายโอน รพ.สต. มายัง อบจ. แต่ก็ต้องมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการ และการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะต้องแสวงหาความร่วมมือร่วมกันต่อไป

วิสัยทัศน์ภาคการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ได้มองเรื่องของงบฯ ถ่ายโอนเป็นหลัก แต่มองประชาชนเป็นที่ตั้ง

ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายด้านสาธารณสุข ทั้ง 9 ข้อ เป็นการนำเอาความต้องการของประชาชนมาจัดทำ และยังเป็นเอกภาพทางการเมืองของ อบจ.นครราชสีมา ที่มีทิศทางการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งจะช่วยทำให้ความสำเร็จของการทำงานเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ ขณะที่การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ อบจ.นครราชสีมา ก็ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ภาคการเมืองท้องถิ่น ที่ไม่ได้มองเรื่องของงบประมาณในการถ่ายโอนเป็นหลัก หากแต่มองถึงความต้องการบริการสาธารณสุขอันพึงประสงค์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ การออกแบบนโยบายด้านสาธารณสุขที่มีผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่ หากเป็นนโยบายเพียงด้านเดียวจากผู้มีอำนาจ ก็อาจไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ แต่หากเป็นนโยบายที่มีส่วนร่วมของประชาชน ที่สามารถกำหนดนโยบายที่มีผลต่อสุขาวะของชุมชนได้เอง ก็จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพแบบองค์รวมได้ดียิ่งขึ้น

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ระบบบริการสาธารณสุข จะมีขอบเขตที่กว้างกว่าระบบบริการทางการแพทย์ เพราะเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค ที่มีปัจจัยสาเหตุของปัญหาสุขภาพมาจากสังคม ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต. มาให้ อบจ. จึงมีความเหมาะสมในแง่ของการตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นในการดูแลประชาชนให้ตรงกับความต้องการ อีกทั้งท้องถิ่นให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะของชุมชนมากขึ้น ซึ่ง

นพ.ปรีดา กล่าวด้วยว่า ความตั้งใจในการขับเคลื่อนงานระบบบริการสุขภาพของท้องถิ่น บวกกับความมุ่งมั่นของบุคลากร รพ.สต. ที่ไม่ได้มองว่าเป็นข้าราชการสังกัดใด แต่ตั้งใจทำงานเพื่อสุขภาวะของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้งานถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เกิดความสำเร็จ ทำให้การบริการสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม และมีความยั่งยืนต่อไป

“ท้องถิ่นเห็นความทุกข์ประชาชน จากบริบทของระบบสุขภาพมูลฐานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และสามารถตัดสินใจได้ตามอำนาจหน้าที่ จะต่างจากเดิมที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อาจต้องฟังนโยบายเป็นหลัก จึงทำให้การตัดสินใจต่างๆ ยุ่งยาก และใช้เวลานาน” นพ.ปรีดา กล่าว

รพ.สต. ต้องมองมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วย

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่ 9 กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของ รพ.สต. ไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องการรักษาอาการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว แต่มาใส่ใจในเรื่องสุขภาพและสาเหตุของการเจ็บป่วยมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนไม่อาจมองได้แค่มิติการรักษาพยาบาล แต่ยังมีมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสาเหตุสำคัญซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน

“การถ่ายโอน รพ.สต. มายัง อบจ. จะเป็นการมองเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งอบจ.มีบทบาทหน้าที่ ที่เอื้อให้เกิดการขยายขอบเขตการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนท้องถิ่นได้มากกว่าแค่การรักษา ซึ่งการทำแผนแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่นั้น ประเด็นที่ประชาชนต้องการขับเคลื่อน และต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อให้แผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อเป็นการยกระดับสุขภาวะของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: