งานวิจัยชี้ว่าโลกของเรามีต้นไม้อยู่ประมาณ 73,000 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2787 ครั้ง

งานวิจัยชี้ว่าโลกของเรามีต้นไม้อยู่ประมาณ 73,000 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ

การศึกษาครั้งใหม่ชี้ว่าโลกของเรามีต้นไม้อยู่ประมาณ 73,000 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ ข้อมูลดังกล่าวเตือนให้ทราบว่ายังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายแค่ไหนที่เรายังสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับโลกใบนี้ | ที่มาภาพประกอบ: Rômulo Ferreira (CC BY 2.0)

VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2022 ว่าจากประเทศเปรูไปจนถึงออสเตรเลีย และจากมาดากัสการ์ไปจนถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย โลกของเรามีต้นไม้มหัศจรรย์อยู่มากมาย การศึกษาครั้งใหม่ชี้ให้เห็นว่า มีต้นไม้อยู่ประมาณ 73,000 ชนิดซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ ข้อมูลดังกล่าวเตือนให้ทราบว่ายังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายแค่ไหนที่เรายังสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับโลกใบนี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยได้เปิดเผยฐานข้อมูลป่าไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ประกอบไปด้วยต้นไม้มากกว่า 44 ล้านชนิดจากสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 100,000 แห่ง ใน 90 ประเทศ

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลนี้เพื่อประเมินว่า โลกของเรามีต้นไม้อยู่ประมาณ 73,300 สายพันธุ์

ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าการประมาณการก่อนหน้านี้ราว 14 เปอร์เซ็นต์ และจากจำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดนั้นมีอยู่ประมาณ 9,200 ชนิดที่คาดว่าจะมีอยู่ตามการคำนวณทางคณิตศาสตร์แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ นักวิจัยกล่าวว่าต้นไม้เหล่านี้โดยมากเติบโตอยู่ในแถบอเมริกาใต้

อเมริกาใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าฝนอเมซอนและป่าแอนเดียน พบพันธุ์ไม้ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่หายากอยู่ประมาณ 8,200 ชนิด

โรเบอร์โต แคซอลลา แกตติ (Roberto Cazzolla Gatti) จากมหาวิทยาลัย University of Bologna ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าการเขียนรายงานการศึกษาซึ่งเพิ่งจะถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences กล่าวว่า ต้นไม้และป่าไม้เป็นมากกว่าผู้ผลิตออกซิเจน ทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เขากล่าวด้วยว่า สังคมของเรามักจะมองว่าต้นไม้เป็นเพียงทรัพยากรธรรมชาติ แต่ที่จริงแล้ว มวลมนุษยชาติได้รับแรงบันดาลใจ การผ่อนคลาย จิตวิญญาณ และความหมายของชีวิตจากต้นไม้และป่าไม้เหล่านั้น

ทีมนักวิจัยคาดการณ์ว่า อเมริกาใต้มีต้นไม้ที่ทราบสายพันธุ์แล้วอยู่ประมาณ 27,000 ชนิด และมีอีก 4,000 ชนิดที่ยังไม่ได้รับการระบุสายพันธุ์ นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ทำการประเมินในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกอีกด้วย โดยพบว่าที่ยุโรปและเอเชียมีต้นไม้อยู่ประมาณ 14,000 ชนิดที่ได้รับการระบุสายพันธุ์แล้ว และอีก 2,000 ชนิดยังไม่ได้รับการระบุสายพันธุ์

ส่วนที่แอฟริกา มีต้นไม้ที่ทราบสายพันธุ์แล้ว 10,000 ชนิด และที่ไม่ทราบสายพันธุ์อีก 1,000 ชนิด อเมริกาเหนือรวมถึงอเมริกากลางมีต้นไม้ที่ทราบสายพันธุ์ 9,000 ชนิดและที่ไม่ทราบสายพันธุ์ 2,000 ชนิด ในขณะที่โอเชียเนียรวมทั้งออสเตรเลียมีต้นไม้ที่ระบุสายพันธุ์แล้ว 7,000 ชนิดและยังไม่ระบุสายพันธุ์อีก 2,000 ชนิด

ปีเตอร์ รีช (Peter Reich) ผู้ร่วมเขียนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย University of Michigan และมหาวิทยาลัย University of Minnesota กล่าวว่า จากการประเมินสายพันธุ์ของต้นไม้ดังล่าว การศึกษาฉบับนี้อาจช่วยให้เกิดความพยายามในการอนุรักษ์ต้นไม้และป่าไม้ได้

รีชเชื่อว่า ความหลากหลายของพันธุ์ไม้เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาป่าไม้ที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและต่อธรรมชาติอีกด้วย เขากล่าวเสริมว่า ข้อมูลในการศึกษานี้มีความสำคัญ เนื่องจากต้นไม้หลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์จากการตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และว่า การเข้าใจคุณค่าของความหลากหลายนั้นทำให้ทราบว่าเรามีอะไรอยู่ก่อนที่จะสูญเสียมันไป

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษานี้ไม่ได้นับจำนวนต้นไม้แต่ละต้นทั่วโลก แต่งานวิจัยในปี ค.ศ. 2015 ที่นำโดยหนึ่งในผู้เขียนร่วมของการศึกษาฉบับนี้ระบุว่า ตัวเลขนั้นอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านต้น

การศึกษาครั้งใหม่นี้ระบุพื้นที่สำคัญที่มีความหลากหลายของต้นไม้ของโลกในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง แอฟริกา เอเชีย และโอเชียเนีย นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าราวหนึ่งในสามของต้นไม้ที่ทราบสายพันธุ์แล้วสามารถระบุได้ว่าเป็นพืชพันธุ์ที่หายากได้

จิงจิง เหลียง (Jingjing Liang) จากมหาวิทยาลัย Purdue ในรัฐอินเดียนา ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้กล่าวว่า การศึกษานี้เตือนให้ทราบว่าเรารู้จักโลกใบนี้กันน้อยนิดแค่ไหน ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายในโลกที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถปกป้องโลกใบนี้ได้ดีขึ้น และสามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้สำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคตได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: