จับตา: ของขวัญปีใหม่ปี 2566 จาก 19 หน่วยงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 1772 ครั้ง


เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566” และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

2. เห็นชอบมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 และร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้สำนักงบประมาณ (สงป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำหรับการลดภาษีที่ดินฯ ในปี 2564 และปี 2566 ตามความเหมาะสมเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจปกติของ อปท.

3. เห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

4. เห็นชอบมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ และร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

5. เห็นชอบมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ใบอนุญาตขายยาสูบ และใบอนุญาตขายไพ่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

6. รับทราบมาตรการ/โครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และมาตรการ/โครงการอื่นของ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อเท็จจริง

กค. เสนอว่า

1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (18 ตุลาคม 2565) ให้ทุกส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ เร่งพิจารณาแผนงาน/โครงการในความรับผิดชอบที่สมควรดำเนินการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน โดยแผนงาน/โครงการดังกล่าวต้องสามารถดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติต่อส่วนรวมได้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างแท้จริง ไม่ขัดต่อกฎหมายและประกาศเตือนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐนำแผนงาน/โครงการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วเพื่อพิจารณาความเหมาะสมและสอดคล้องในภาพรวมก่อน

2. กค. พิจารณาแล้วเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 1 จึงได้เสนอเรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน ดังนี้

2.1 มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม รวม 5 มาตรการ และร่างกฎหมาย รวม 6 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง รวม 5 ฉบับ

2.2 มาตรการ/โครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และมาตรการ/โครงการอื่นของ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 2 มาตรการ

3. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 18,690 ล้านบาท

สาระสำคัญของมาตรการและร่างกฎหมาย

2.1 มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม รวม 5 มาตรการ และร่างกฎหมาย รวม 6 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง รวม 5 ฉบับ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566”

1.1 วัตถุประสงค์

เพื่อรักษาระดับการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น/การอ่าน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

1.2 กลุ่มเป้าหมาย

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

1.3 ระยะเวลาดำเนินงาน

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 66

1.4 วิธีดำเนินการ

กค. ได้ยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรโดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

   1) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บ. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 66 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

   2) สินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP แต่ไม่รวมถึงสินค้าและบริการ 10 ประการ ดังนี้

         - ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์

            - ค่าซื้อยาสูบ

            - ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

            - ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

            - ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

            - ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์

            - ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม

            - ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

            - ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 66 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 66 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 66

            - ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

1.5 การสูญเสียรายได้

คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 8,232 ล้านบาท

1.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 56,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566

2.1 วัตถุประสงค์

เพื่อลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เนื่องจาก

   1) สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

   2) สิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นและบรรเทาภาระภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (การจัดเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ (ปี 2563 - 2565) และการบรรเทาการชำระภาษีใน 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีภาระภาษีที่ดินฯ สูงกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562)

   3) การเพิ่มขึ้นของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปี 2566 ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีที่ดินฯ

2.2 กลุ่มเป้าหมาย

ผู้เสียภาษีที่ดินฯ (ผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ในวันที่ 1 ม.ค. 66)

2.3 ระยะเวลาดำเนินงาน

การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ของปีภาษี 2566 (เริ่ม 1 ม.ค. 66)

2.4 วิธีดำเนินการ

กค. ได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

   1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับการลดภาษีตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ตัวอย่างกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เคยได้รับการลดภาษี ได้แก่ โรงพยาบาล ร้านทำผม ร้านอาหาร ร้านล้างรถ และห้างสรรพสินค้า

   2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษีร้อยละ 50 ตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 เมื่อคำนวณลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียแล้ว ให้ลดภาษีลงอีกในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่ลดไปแล้วร้อยละ 50 เช่น

            ตัวอย่างกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับการลดภาษีร้อยละ 50 ได้แก่

            - ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เฉพาะทรัพย์สินที่บุคคลดังกล่าวได้มาทางมรดกและได้จดทะเบียนแล้วก่อนวันที่ 13 มี.ค. 62

            - ที่ดินที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า

            - ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นเขื่อน

   3) กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับการลดภาษีร้อยละ 90 ตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 แล้ว จะไม่ได้รับการลดภาษีเพิ่มอีก เนื่องจากมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จะมีอัตราการลดภาษีสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 90 ได้แก่

            - โรงเรียนในระบบ

            - โรงเรียนนอกระบบ (ประเภทสอนศาสนา ตาดีกา ปอเนาะ)

            - สวนสัตว์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

            - สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

2.5 การสูญเสียรายได้

คาดว่าจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูญเสียรายได้ ประมาณ 6,288 ล้านบาท

2.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ส่งผลให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นรัฐบาลจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะได้เพิ่มขึ้น ทำให้ อปท. ได้รับการจัดสรรรายได้เพิ่มขึ้น และผู้เสียภาษีได้รับการบรรเทาภาระภาษีบางส่วน และมีระยะเวลาในการปรับตัว แต่อย่างไรก็ดี มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้ อปท. จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลง ทำให้สูญเสียรายได้เพิ่มเติมอีกจำนวนประมาณ 6,288 ล้านบาท จึงเห็นควรมอบหมายให้ สงป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ตามความเหมาะสม เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจปกติของ อปท.

3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2566

3.1 วัตถุประสงค์

เพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

3.2 กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และห้องชุดในราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกินมูลค่า 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท

3.3 ระยะเวลาดำเนินงาน

ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66

3.4 วิธีดำเนินการ

กค. ได้ประสานกระทรวงมหาดไทย (มท.) ยกร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ดังนี้

   1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. .... โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา (จากเดิมร้อยละ 2) เหลือร้อยละ 1 (เดิมปี 65 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.01) และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1) เหลือร้อยละ 0.01 (อัตราคงเดิมเหมือนในปี 65) สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน

   2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. .... โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุดที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา (จากเดิมร้อยละ 2) เหลือร้อยละ 1 (เดิมปี 65 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.01) และลดค่าจดทะเบียนจำนองห้องชุดอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนในคราวเดียวกัน เหลือร้อยละ 0.01 (อัตราคงเดิมเหมือนในปี 65) โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน

3.5 การสูญเสียรายได้

คาดว่าจะทำให้ อปท. สูญเสียรายได้ประมาณ 1,989 ล้านบาท

3.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ช่วยสนับสนุนและลดภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ และเพิ่มการลงทุน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.60 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ

4. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ

4.1 วัตถุประสงค์

เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบินจนขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล

4.2 กลุ่มเป้าหมาย

ธุรกิจสายการบิน

4.3 ระยะเวลาดำเนินงาน

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 66 (6 เดือน)

4.4 วิธีดำเนินการ

กค. ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศ โดยกำหนดอัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตรออกไปอีก 6 เดือน (เป็นมาตรการต่อเนื่องโดยกฎกระทรวงเดิม (ฉบับที่ 24) จะสิ้นผลใช้บังคับวันที่ 31 ธ.ค. 65 หากไม่ปรับลดจะมีอัตราภาษีตามปริมาณ 4,726 บาทต่อลิตร)

4.5 การสูญเสียรายได้

คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1,800 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 6 เดือน

4.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมสายการบินในประเทศมีการฟื้นตัวเนื่องจากมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจส่งผลให้ยังคงมีการจ้างงานและไม่ต้องปิดตัวหรือระงับเส้นทางการบิน

5. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

5.1 วัตถุประสงค์

เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยลดภาระในการประกอบกิจการให้ผู้ประกอบการ โดยให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิมที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66

5.2 กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เฉพาะ    ผู้ได้รับอนุญาตขายรายเดิมซึ่งได้รับผลกระทบที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตขายต่อเนื่องในปีถัดไปเท่านั้น

หมายเหตุ: ประเภทใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่

            - ใบอนุญาตขายสุรา

              ประเภทที่ 1 การขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป

              ประเภทที่ 2 การขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่า 10 ลิตร

            - ใบอนุญาตขายยาสูบ

              ประเภทที่ 1 การขายส่งยาสูบ ครั้งหนึ่งจำนวน 1,000 มวนขึ้นไป

              ประเภทที่ 2 การขายปลีกยาสูบ ครั้งหนึ่งต่ำกว่า 1,000 มวน

            - ใบอนุญาตขายไพ่

              ประเภทที่ 1 การขายไพ่ ครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 40 สำรับขึ้นไป

              ประเภทที่ 2 การขายไพ่ ครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่า 40 สำรับ

5.3 ระยะเวลาดำเนินงาน

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 (1 ปี)

5.4 วิธีดำเนินการ

กค. ได้ยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ใบอนุญาตขายยาสูบ และใบอนุญาตขายไพ่ ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ แล้วแต่กรณี ให้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตขายรายเดิมซึ่งได้รับผลกระทบที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตขายต่อเนื่องในปีถัดไป เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ (เป็นมาตรการต่อเนื่องจากกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราใบอนุญาตขายยาสูบ และใบอนุญาตขายไพ่ ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต พ.ศ 2564)

5.5 การสูญเสียรายได้

คาดว่าจะมีการใช้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประมาณ 1.45 ล้านฉบับ        (ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวประมาณ 8 แสนราย) โดยรัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 381.72 ล้านบาท

5.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

เพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่ผู้ได้รับอนุญาตในการขายสุรา ยาสูบ และไพ่ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

2.2 มาตรการ/โครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และมาตรการ/โครงการอื่นของ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 2 มาตรการ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. มาตรการ/โครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

1.1 วัตถุประสงค์

เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

1.2 กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนและผู้ประกอบการ

1.3 วิธีดำเนินการ

มาตรการคืนเงินหรือลดอัตราดอกเบี้ย สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ รางวัลพิเศษของสลากออมสิน การลดค่างวดการผ่อนชำระและการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งสิ้นจำนวน 15 โครงการ [โครงการฯ ของ ธนาคารออมสิน/ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)/ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)] เช่น โครงการวินัยดี มีเงิน โครงการสลากออมสิน ดิจิทัล 2 ปี ฉลองปีใหม่ 2566 โครงการชำระดีมีคืน ปีบัญชี 2565 และโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน ปีบัญชี 2565 เป็นต้น

2. มาตรการ/โครงการอื่น โดยหน่วยงานในสังกัดฯ มีการจัดทำมาตรการ/โครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 รวมทั้งสิ้น จำนวน 2 มาตรการ/5 โครงการ ได้แก่

1) มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 [กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)]

2) มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 66 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน [บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.)]

3) โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน (กรมธนารักษ์)

4) โครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความสุขที่มั่นคงของทุกภาคส่วน [สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)]

5) โครงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และมีภูมิคุ้มกันไม่ถูกหลอกลวง (สำนักงาน ก.ล.ต.)

6) โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 [สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.)] และ

7) โครงการ “ชม ชิม ช้อป ยาสูบเชียงราย” [การยาสูบแห่งประเทศไทย (กสท.)]

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: