เอ็นจีโอ 'เช็คคะแนน' ก.แรงงาน แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ชี้สอบตก ตกขอบ ย่ำอยู่กับที่

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 1991 ครั้ง

เอ็นจีโอ 'เช็คคะแนน' ก.แรงงาน แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ชี้สอบตก ตกขอบ ย่ำอยู่กับที่

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จัดงาน “วันผู้ย้ายถิ่นสากล” เปิดเวทีจัดเรตติ้งรัฐและกระทรวงแรงงานกับการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและผู้ย้ายถิ่น ชี้สอบตก ตกขอบ ย่ำอยู่กับที่ - กรมการจัดหางานแจงแรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน เข้าระบบจ้างงานทันเวลา | ที่มาภาพ: ประชาไท

สำนักข่าวประชาไท รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrant Day 2022) ในงานมีการเสวนา “เช็คคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเสวนา

โดยก่อนเริ่มเวทีเสวนา แม็กซิมิลเลียน พอตเลอร์ หัวหน้าแผนกการเคลื่อนย้ายแรงงานและการบูรณาการทางสังคมองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เปิดกว้าง (การจ้างงานที่เป็นธรรม) เชื่อมโยง (การจัดหางานอย่างมีจริยธรรม) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจด้วย

ขณะที่ อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติกล่าวในเวทีเสวนาว่า จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากหลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายทั้งในเรื่องการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง และการแก้ไขปัญหาของภาครัฐยังไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ

“โดยเฉพาะแรงงานพม่าที่มีปัญหาทางการเมืองภายใน ไม่เอื้อต่อการนำเข้า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน หากเทียบก่อนและหลังการระบาดของโควิด เฉพาะช่วงเดือนต.ค.2565 พบแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบถึงประมาณ 160,000 คน จากแรงงานข้ามชาติที่ขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมากถึง 1,876,945 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติ 2,438,794 คน” อดิศร กล่าว

ระบบลงทะเบียนล้มเหลว เอื้อนายหน้าหาประโยชน์

อดิศร กล่าวว่า เห็นได้จากในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเปิดจดทะเบียนและดึงแรงงานข้ามชาติที่หลุดเข้าระบบถึง 4 ครั้ง และมีมาตรการในการขยายเวลาการดำเนินการของแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่าง ๆ ออกไปอีกมากกว่า 10 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่า ระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติล้มเหลว ล่าช้าเปิดช่องแสวงหาประโยชน์

“ยกตัวอย่าง เช่น ขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติทางระบบออนไลน์ ให้ดำเนินการภายใน 15 วัน โดยจะต้องได้รับการอนุมัติขั้นตอนการขอเข้าใช้ระบบของนายจ้างและขั้นตอนการอนุมัติบัญชีรายชื่อถึงสองครั้งจากกรมการจัดหางานในส่วนกลางเท่านั้น ทำให้เกิดความล่าช้า และ พบว่านายจ้างจำนวนมากต้องรอการอนุมัติการเข้าใช้ระบบเพื่อขอยื่นบัญชีรายชื่อถึง 5 วัน ระบบยุ่งยากสับสนส่งผลให้ต้องใช้นายหน้า ที่ต้องเสียค่าดำเนินการตั้งแต่ 12,000 – 18,000 บาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ควรจะเป็นจะอยู่ที่ประมาณสามพันกว่าบาทเท่านั้น" อดิศร กล่าว

พบแรงงานข้ามชาติเสี่ยงหลุดระบบร่วมล้านคน

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 7 แสนคนที่ยังไม่มีหนังสือเดินทางหรือหนังสือเดินทางหมดอายุ และตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเดินทางกลับไปจัดทำหนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางได้เนื่องจากปิดชายแดน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ

ขณะเดียวกันมาตรการจัดทำหนังสือเดินทางของประเทศต้นทางในประเทศไทยทั้งโดยศูนย์ดำเนินการที่ตั้งขึ้นและสถานทูตประจำประเทศไทยก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันตามกรอบระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี คือภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงว่าแรงงานข้ามชาติมากกว่า 700,000 คนจะกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายเพราะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้ทัน

เปิดช่องขบวนการแรงงานเถื่อน – ค้ามนุษย์

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการทางกฎหมายในแง่การคัดครองผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังมีความล่าช้าในการดำเนินการ ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้าเมืองอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และหลายครั้งที่รัฐบาลใช้มาตรการในการผลักดันส่งกลับซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้อพยพ ซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน การขาดมาตรการรองรับส่งผลให้ผู้อพยพจำนวนมาก ต้องลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างมีความเสี่ยงทั้งต่อชีวิตและต่อการค้ามนุษย์ข้ามชาติ รวมทั้งกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

จัดเรตติ้งรัฐไทยถอยหลังและสอบตก พร้อมเปิด 4 ปัญหาหลัก

ถ้าหากจะประเมินการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพโยกย้ายของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านพบว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยนั้นถอยหลังและสอบตกและนำไปสู่ 4 ปัญหาสำคัญ คือ แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายหลุดระบบ พบแรงงานอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น รัฐบาลยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และมาตรการการจัดการยังส่งผลให้การคอรัปชั่นและเอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาประโยชน์ของระบบนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อเสนอสำคัญสำหรับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพของรัฐบาลไทย ต้องการให้มีการทบทวนแนวทางและระยะเวลาในการดำเนินการจดทะเบียนและขอต่อใบอนุญาตทำงานออกไปตามเงื่อนไขข้อจำกัด จัดระบบการดำเนินการที่ง่ายเอื้อต่อการดำเนินการของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติเข้าอยู่ระบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันการหลุดจากระบบของแรงงานข้ามชาติ เช่น มีมาตราการผ่อนผันให้กลุ่มแรงงานนำเข้า MoUโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพม่าที่ครบวาระการจ้างงานตามกฎหมายยังสามารถทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจะเอื้อต่อการดำเนินมากขึ้น เร่งรัดการจัดระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย ทำระบบรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและลงโทษอย่างจริงจังต่อเจ้าหน้าที่ที่แสวงหาประโยชน์จากข้อจำกัดของนโยบาย และจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุทธศาสตร์การจัดการผู้อพยพเพื่อการบริหารจัดการระยะยาว

นายจ้างให้เรตติ้งย่ำอยู่ ขึ้นทะเบียนล่าช้า ทำแรงงานนอนคุก

ขณะที่ แฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คือในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ภาครัฐดำเนินการล่าช้า โดยล่าสุดมติ ครม. 5 ก.ค. เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง แต่การดำเนินการที่ล่าช้าทำให้แรงงานถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อนำแรงงานไปข้อขึ้นทะเบียนแล้ว ก็จะได้รับเอกสารติดตัวเป็นสำเนาใบขอขึ้นทะเบียน สำเนาใบเสร็จ เป็นต้น แต่เอกสารเหล่านี้ใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้

“เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนไม่รับฟัง หรือไม่มีความเข้าใจในเรื่องเอกสารหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เขาไม่รู้ว่าเอกสารแต่ละประเภทคืออะไร ต้องดูอย่างไร จะขอดูเพียงพาสปอร์ตตัวจริงเท่านั้น เมื่อไม่มีพาสปอร์ตมาแสดงก็ถูกจับเข้าไปนอนในคุก สุดท้ายต้องให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมายืนยันให้จึงถูกปล่อยตัวออกมา ถือว่าเป็นการติดคุกฟรี ดังนั้นหากจะให้จัดเรตติ้งให้กระทรวงแรงงานขอให้เรตติ้งทำงานตกขอบและยังช้าอยู่" แฉล้ม กล่าว

ข้อเสนอแนะของเราคือ ภาครัฐควรปรับปรุงการทำงาน กระทรวงแรงงานกับตำรวจต้องทำความเข้าใจร่วมกัน อยากให้สื่อสาร และประสานงานกันให้เข้าใจตรงนี้มากขึ้น

นักปกป้องสิทธิแรงงาน จัดเรตติ้ง ถอยหลังตกขอบ ระบุ กระทรวงแรงงานไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับแรงงานที่ต้องการเรียกร้องสิทธิ

ธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน กล่าวว่า นโยบายการขึ้นทะเบียนของกระทรวงแรงงานไม่ชัดเจน มีเรื่องการเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตนจึงพาคนงานไปยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าปัญหาการขึ้นทะเบียนและเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานดูแลไม่ให้มีการเรียกรับเงิน แต่กลับถูกกระทรวงแรงงานไปแจ้งความกล่าวหาว่าตนเองให้ที่พัก ซ่อนเร้นคนต่างด้าว ฯสุดท้าย ตำรวจอ้างว่าข้อหาดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานจึงแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการที่ตนถูกภาครัฐฟ้องในหลังออกมาเรียกร้องในประเด็นสิทธิแรงงานนั้นมองว่าเป็นเพราะความไร้น้ำยาในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ เป็นการรู้ไม่จริงแต่ทำเป็นเก่ง มันบ่งบอกว่าคุณพยายามมีมติ ครม.ที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำให้จบได้ เนื่องจากกลไกไม่เป็นวัน สต็อป เซอร์วิส ไม่อำนวยความสะดวกในการให้แรงงานต่อเอกสาร หรือใบอนุญาตทำงาน จึงทำให้เป็นภาระของแรงงาน และสุดท้ายมันจึงเป็นช่องทางของการทำงานหากินของนายหน้า

“ส่วนการให้เรตติ้งการทำงานของกระทรวงแรงงานนั้น มองว่าถอยหลัง และยังตกขอบด้วย ไม่ใช่ถอยหลังธรรมดา เพราะว่ากระบวนการจัดการที่มีปัญหา ยิ่งเป็นหน่วยงานรัฐก็ยิ่งมีแนวคิดในเรื่องชาตินิยม มีทัศนคติที่ไม่ดีกับแรงงานข้ามชาติ ยกตัวอย่างคดีของพี่ที่มันไม่ควรจะออกมาเป็นแบบนี้ พวกเราที่เป็นนักปกป้องสิทธิแรงงาน หรือผู้นำแรงงานที่เรียกร้องในเรื่องประเด็นแรงงานข้ามชาติ เราไปเรียกร้อง ไปยื่นหนังสือ แล้วติดคุก 1 เดือน ปรับ 2 หมื่น ซึ่งกระทรวงแรงงานควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับแรงงานทุกคนทุกเชื้อชาติที่อยู่ในไทยด้วย” ธนพร กล่าว

“อสต.” ให้เรตติ้งรัฐบาลก้าวหน้าในการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด

Thandar Myo อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) กล่าวว่า ในตอนช่วงสถานการณ์ตอนโควิดระบาด ตนเองได้ทำงานเป็น อสต.ของศุภนิมิตบางครั้งก็มีแรงงานข้ามชาติบางคนในชุมชนที่ลงไปทำงานไม่สบาย ก็มาขอความช่วยเหลือให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล เพราะเขาสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ คุยกับหมอกับพยาบาลไม่รู้เรื่อง เมื่อลงไปช่วยก็สังเกตุเห็นว่าที่โรงพยาบาลไม่มีล่ามเลยจึงคิดว่าหากโรงพยาบาลมี อสต.มาช่วยในการสื่อสารก็จะลดอุปสรรคปัญหาไปได้เยอะ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะไม่เหนื่อยมาก นอกจากนี้ตนยังยังมีข้อเสนอในเรื่องสถานะของอสต.เองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ จึงอยากให้มีการอบรมที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานรัฐ และมีใบรับรองให้ เพื่อจะสามารถใช้อ้างอิงและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แรงงานข้ามชาติในชุมชนได้ และอยากให้มีการสนับสนุนค่าตอบแทนให้กับ อสต. ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้บ้าง ซึ่งทำงานเป็นทั้งล่ามและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงช่วยเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดในชุมชนแรงงานฯ อยากขอให้หน่วยงานรัฐของไทยช่วยผลักดันให้เป็นจริงในอนาคตได้หรือไม่

ทั้งนี้หากให้ประเมินการทำงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิดตนยังมองว่ามีความก้าวหน้า และยังสามารถผลักดันในสิ่งต่างๆที่ได้กล่าวมาให้ดีขึ้นไปจากเดิมที่ก้าวหน้าอยู่แล้วให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกได้ด้วย เนื่องจากภาครัฐได้มีการสนับสนุน Hospitel โรงพยาบาลสนาม ยารักษาและถุงยังชีพให้กับแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด รวมถึงจัดเตรียมวัคซีนให้กับ อสต. ที่เป็นด่านหน้า และให้กับแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง

กรมการจัดหางานแจงแรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน เข้าระบบจ้างงานทันเวลา

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 ว่านายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีการเสวนา เรื่อง เช็กคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีการแสดงความกังวลถึงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของ กกจ. ว่าจะทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนกว่า 700,000 แสนราย หลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายเรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง ระบบขึ้นทะเบียนมีความซับซ้อน เปิดช่องแสวงหาประโยชน์ นั้น กกจ. ขอชี้แจงว่า

ประเด็นที่ 1 สาเหตุที่กระทรวงแรงงานเปิดให้ขึ้นทะเบียนและดึงแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบถึง 4 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา มีการปิดสถานประกอบการชั่วคราวแรงงานต่างด้าวจำนวนมากต่างทยอยเดินทางกลับบ้าน และส่วนหนึ่งไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้ อีกทั้งไม่สามารถเดินทางกลับประเทศเพื่อดำเนินการขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามขั้นตอนปกติ เพราะนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างประเทศขณะนั้น ต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลมีนโยบายเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายจ้าง สถานประกอบการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง และมีความต้องการแรงงานข้ามชาติ กกจ.จึงเปิดให้มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานกับนายจ้าง ตามเอ็มโอยู (MOU) และการนำเข้าแรงงานตามมาตรา 64 พร้อมกับผ่อนผันกฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องตามสถานการณ์จริง โดยต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และเปิดขึ้นทะเบียนใหม่ เพราะมุ่งหวังให้นายจ้าง สถานประกอบการ มีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ และแรงงานข้ามชาติ สามารถปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้อง

ประเด็นที่ 2 การเปิดให้ยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติเพียง 15 วัน เพราะเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ หากกำหนดระยะเวลาการดำเนินการยาวเกินไป อาจเป็นการดึงดูดแรงงานข้ามชาติให้ลักลอบเข้าเมืองเพิ่มขึ้น และด้วยการขึ้นทะเบียนครั้งนี้เปิดขึ้นทะเบียนด้วยระบบออนไลน์ มีกลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ ครม.มีมติเห็นชอบ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2565) เวลา 15 วันจึงถือว่าเพียงพอ

ประเด็นที่ 3 ระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์ที่ถูกกล่าวถึงว่ามีความซับซ้อน เปิดช่องแสวงหาประโยชน์ นั้น ไม่เป็นความจริง นายจ้าง-สถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ชื่นชอบการการขึ้นทะเบียนด้วยระบบออนไลน์ เพราะมีความสะดวก ลดการใช้เอกสารข้อเท็จจริง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเดินทางมาติดต่อ ณ สำนักงาน และในส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดา ที่ไม่เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยี กกจ.มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และพร้อมช่วยเหลือในการดำเนินการ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และการอนุมัติคำขอจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว สามารถทำได้ทันเวลา เนื่องจากเป็นการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์

ประเด็นที่ 4 แรงงานข้ามชาติกว่า 700,000 คน จะไม่หลุดออกจากระบบการจ้างงานถูกกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้ทางการเมียนมาสามารถออกสารรับรองบุคคลให้แก่แรงงานแล้ว จำนวน 492,923 คน และยังเจรจาให้ประเทศต้นทางเพิ่มขีดความสามารถในการออกเอกสารให้แก่แรงงาน ทั้ง 4 ศูนย์ 3 รถโมบาย โดยเพิ่มการดำเนินการจากวันละ 850 คนต่อศูนย์ เป็น 1,200 คนต่อศูนย์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าแรงงานเมียนมาอีกประมาณ 200,000 คน จะได้รับเอกสารจนครบตามเป้าหมาย (700,000 คน) ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

“กกจ.ดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอน อย่างโปร่งใสภายใต้ความเห็นชอบจากมติ ครม. โดยมีเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนนายจ้าง/สถานประกอบการ และภาคการผลิตให้สามารถจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประสงค์จะทำงานให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานต่อไปได้ ให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพ และเร่งฟื้นฟูประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 คลี่คลาย ในมิติต่างๆ อย่างเร่งด่วน” นายไพโรจน์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: