สรุปงาน '15 ปี สุขภาพแห่งชาติ พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ' หวังขับเคลื่อน 'ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ' ให้เป็นรูปธรรม

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 3516 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมพลังภาคีเครือข่าย รวบรวมผลงานตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม พร้อมถอดบทเรียนความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม นำเสนอประสบการณ์ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นสําคัญของประเทศ ในงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขับเคลื่อนแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ให้เป็นรูปธรรม

เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” รวมพลังภาคีเครือข่าย รวบรวมผลงานตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม พร้อมถอดบทเรียนความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม นำเสนอประสบการณ์ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นสําคัญของประเทศ ในงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขับเคลื่อนแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ให้เป็นรูปธรรม

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในการจัดงาน 15 ปีสุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ว่า นับตั้งแต่ที่สังคมไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จวบจนปัจจุบันนับเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกลไกและกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายแบบมีส่วนร่วม โดยการขับเคลื่อนวิธีคิด สร้างจิตสำนึกสุขภาพใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมสุขภาวะ มีการขยายมิติสุขภาพที่กว้างขึ้นครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา โดยมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ

โดยปีนี้ สช. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพกว่า 40 องค์กร นำผลงานจากการขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลา 15 ปี มานำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในงาน โดยมีการนําผลงานที่เป็นประสบการณ์และบทเรียน หรือความก้าวหน้าเชิงรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ อาทิ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่และธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ การพัฒนาสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชน การพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพทั้งเฉพาะพื้นที่/ประเด็นและ ระดับชาติ การมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายยุทธศาสตร์แผนงานและโครงการ ตลอดจนกิจกรรมการพัฒนาที่มีต่อสุขภาพ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เสนอสู่สาธารณชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะนําไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในอนาคตร่วมกัน โดยงานนี้ยังถือเป็นการสร้างพลังภาคีเครือข่าย สู่การสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขับเคลื่อนแนวคิด“ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ให้เป็นรูปธรรมด้วย

“การจัดงานในปีนี้จะเป็นรูปแบบลูกผสม หรือ Hybrid meeting โดยมีการถ่ายทอดสดการจัดงานผ่านสื่อออนไลน์ มีเนื้อหาหรือกิจกรรมสำคัญภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการนำเสนอผลงานของภาคีเครือข่าย เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม กระบวนการนโยบายสาธารณะในอนาคต ทิศทางและโอกาสการทำงานในอนาคต และท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาให้เกียรติกล่าวปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “การเมืองภาคพลเมือง กับการพัฒนาประเทศ” รวมทั้ง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “15 ปี พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากภาคีเครือข่ายต่างๆ จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์และพัฒนาปฏิรูประบบสุขภาพไทยในอนาคตแล้ว ยังทำให้เกิดความเข้าใจในทิศทาง และกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในอนาคตอีกด้วย” นพ.ประทีป กล่าว

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการดําเนินงานตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มุ่งหวังให้เกิดกลไก กระบวนการ และเครื่องมือ อันจะนําไปสู่การวางกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และการดําเนินงานด้านสุขภาพของประเทศนั้น สช. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม สู่การปฏิบัติการสร้างสังคมสุขภาวะ โดยมีระบบการขับเคลื่อนวิธีคิด การสร้างจิตสํานึกสุขภาพใหม่ และการขยายมิติสุขภาพให้กว้างขึ้นครอบคลุม 4 มิติ ภายใต้หลักการปฏิรูประบบสุขภาพ และได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาไปสู่สังคมสุขภาวะร่วมกัน จนมีผลงานหลากหลายด้านเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และสามารถขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมมากมาย โดยมีจุดมุ่งหมายที่เน้น “สร้างสุขภาพ มากกว่าซ่อมสุขภาพ” รวมทั้งยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม โดยงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

15 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ในมุมมอง ‘ประชาสังคม’ สร้างรูปธรรมดูแลสุขภาวะคนไทยตั้งแต่ระดับชุมชน-นโยบาย

ในเวที เรื่องเล่ารูปธรรม “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” อันเป็นการนำเสนอประสบการณ์การขับเคลื่อนในประเด็นสําคัญต่างๆ ของประเทศ พระครูอมรชัยคุณ เจ้าคณะตำบลสีคิ้ว และเจ้าอาวาสวัดสุชัยคณาราม จ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงประเด็นพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายพระสงฆ์ หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน ในการผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์ ทั้งกระบวนการแนวทางในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้อง รวมทั้งการทำให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน ได้ทำให้เกิดเป็นฉันทมติในประเด็น พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ บนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555

สำหรับผลที่ตามมา คือการมีข้อมูลสุขภาพของพระสงฆ์มากขึ้น จากที่ไม่เคยมีการบันทึกเอาไว้ ตามมาด้วยการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเมื่อมีพระสงฆ์ที่เป็นพระสังฆพัฒนา (การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งของพระสงฆ์) จาก 4 ภาคเข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน ก็ได้ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ไปสู่การเกิดเป็น ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560

“การสนับสนุนองค์ความรู้ทางสุขภาพของพระสงฆ์ นำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการดูแลที่ถูกต้อง ทั้งตัวพระสงฆ์เอง บุคลากรการแพทย์ ชุมชน อีกทั้งยังเกิดการขับเคลื่อนให้พระสงฆ์มีบทบาทในสังคมมากกว่าเรื่องศาสนา แต่ยังมีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิต แนะนำเรื่องสุขภาพให้กับชุมชน ทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกายให้แข็งแรง ทำให้ชุมชนกับศาสนาใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีผลทำให้สังคมมีความเข้มแข็งตามมา” พระครูอมรชัยคุณ กล่าว

นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ประธานมูลนิธิดวงประทีป กล่าวถึงการทำงานของภาคประชาสังคมในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ระบุว่า ตัวอย่างจากชุมชนคลองเตย ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับเชื้อจากย่านเศรษฐกิจต่างๆ และนำกลับมาแพร่กระจายในชุมชนอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามด้วยความเข้มแข็งของชุมชน ได้ทำให้เกิดการร่วมกันคิดมาตรการเพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์

“ชุมชนมีมาตรการ 4 ด้าน คือ 1. ตั้งสติ ไม่ตื่นตูม 2. ไม่รอรัฐอย่างเดียว 3. ระดมต้นทุนท้องถิ่น เช่น วัด โรงเรียน จิตอาสาในชุมชน และ 4. ประสานพลังชุมชน นักวิชาการ ภาคส่วนเอกชนอื่นๆ มาช่วยเหลือชุมชนในด้านอุปกรณ์ต่างๆ จะเห็นว่าชุมชนคลองเตยอาจเจอกับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งการไล่ที่ หรือปัญหาความแออัดของชุมชน แต่ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเป็นนักสู้ของชาวชุมชน ที่เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ จะมีสติ และใช้พลังของชุมชนคลองเตยในการต่อสู้กลับไป” นางประทีป กล่าว

ประธานมูลนิธิดวงประทีป กล่าวอีกว่า ชาวชุมชนคลองเตยยังมีเป้าหมายร่วมกันในการสานพลังของชุมชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาวะชุมชนคลองเตย ที่จะเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวชุมชน อันมาจากความต้องการของคนในชุมชนเอง เพื่อให้เกิดกฎระเบียบการดูแลชุมชนคลองเตย ให้ชาวชุมชนมีสุขภาพกาย ใจ ที่ดี และอยู่ในสังคมที่ดี อีกทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบการจัดการให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศได้ในอนาคต

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงประเด็นบทเรียนการขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ระบุว่า ที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างภาคสังคมและภาครัฐ ได้ทำให้ประเทศไทยประกาศแบน 3 สารเคมีการเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1. สารไกลโฟเซต ที่เสี่ยงก่อมะเร็ง ลดลงการนำเข้าได้ 78% 2. สารคลอร์ไพริฟอส ที่เสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์ ลดการนำเข้าได้ 100% และ 3. สารพาราควอต ที่อันตรายเสี่ยงต่อชีวิตสูง ลดการนำเข้าได้ 100%

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวงจรการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรในประเทศยังไม่หมดไป และยังคงมีการแอบนำเข้ามาใช้ หรือในอนาคตก็อาจเกิดการนำกลับมาใช้ได้อีก เพราะมีตัวอย่างจากบางประเทศที่แม้ว่าจะแบนทั้ง 3 สารเคมีดังกล่าวแล้ว แต่สุดท้ายก็มีประเด็นทางการเมืองทำให้นำกลับมาใช้อีก ดังนั้นภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงกำลังเข้ามาร่วมกันเพื่อทำให้ภาคการเกษตรที่เป็นปากท้องของประเทศ เดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน มีความปลอดภัยในอาหาร และต้องผลักดันให้มีการควบคุมศัตรูพืชด้วยชีวภาพ หรือชีววิถี ที่จะต้องร่วมกันทำให้ทุกแปลงเพาะปลูกปลอดสารเคมี

ในส่วนของ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เรื่องของการใช้ยา ไม่ใช่แค่เรื่องของแพทย์ เภสัชกร หรือภาครัฐ ที่เข้ามาคุยกันแค่ฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการดึงเอาทุกภาคส่วนในสังคมมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use: RDU) เพราะเรื่องนี้จะมีผลต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ ไปจนถึงความเสียหายในสังคมหลายด้าน

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเชื่อมร้อยภาคีต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในระดับพื้นที่คือชุมชน แม้จะยังไม่เกิดเครือข่ายด้านการใช้ยาสมเหตุผลอย่างจริงจัง แต่ก็ได้มีพัฒนาการของการทดลองพูดคุย และขับเคลื่อนแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ซึ่งการขยับนโยบายระดับพื้นที่ จำเป็นต้องมีกำลังของภาคประชาชนเข้ามาบูรณาการ อันจะนำไปสู่การผสานความเข้มแข็งร่วมกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ และภาควิชาการ เชื่อมโยงไปยังนโยบายการใช้ยาระดับประเทศ สู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ที่คนไทยจะต้องมีความปลอดภัยจากการใช้ยาได้ทั้งหมด

ขณะที่ นางจงกลนี วิทยารุ่งเรื่องศรี ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องของการจัดการอาหารและโภชนาการในเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง โดยทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็น 3 หน่วยงานหลักที่ดูแลระบบการศึกษาในไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ในการกินอยู่ที่ดี

ทั้งนี้ ได้เกิดการพัฒนาเป็นคู่มือเพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ รวมทั้งกลไกในระดับชาติหลายส่วน ที่มุ่งเป้าในยุทธศาสตร์ด้านอาหารและโภชนาการในระบบการศึกษา พร้อมด้วยการพัฒนาบทบาทของหน่วยงานท้องถิ่น ตั้งแต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งต่างๆ ทั้งกองสาธารณสุข กองการศึกษา และปัจจุบันมีกรอบอัตรากำลังสำหรับนักโภชนาการแล้วด้วยเช่นกัน

“เรามุ่งที่จะให้โรงเรียนเกิดความเข้าใจในการจัดซื้อวัตถุดิบที่มีความปลอดภัย เลือกเครื่องปรุงอย่างไร รวมไปถึงเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ภาชนะ น้ำดื่ม น้ำแข็ง ก็ต้องสะอาด ขณะเดียวกันก็ต้องจัดให้มีคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสมกับเด็ก ตลอดจนเชื่อมโยงโรงเรียนไปสู่ที่บ้านให้เกิดการจัดการอาหารไปในทางเดียวกัน แต่สิ่งต่อไปที่เราอยากเสนอ คือให้เกิดการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการกินของคนตั้งแต่เล็กจนโต เพื่อที่อนาคตหากเกิดป่วยเป็นโรคขึ้น จะได้สามารถตรวจสอบถอยกลับไปได้ว่าที่ผ่านมามีพฤติกรรมการกินเป็นอย่างไร” นางจงกลนี กล่าว

ด้าน น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารนโยบายสาธารณะและวาระทางสังคม ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ได้เกิดการรวมตัวขององค์กรรวมกว่า 84 องค์กร เป็นเครือข่ายปลุกกรุงเทพ ที่ลุกขึ้นมาสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เปลี่ยนเวทีหาเสียงให้เป็นเวทีของการระดมเสียง และสิ่งที่ระดมในวันนั้นก็ได้กลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ จากจุดเริ่มต้นที่มาจากการรับฟังความต้องการของผู้คน ผ่านเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นมากมายในช่วงระยะเวลาราว 1 เดือน

น.ส.ณาตยา กล่าวว่า สิ่งที่ได้ออกมาคือข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคประชาชนที่บันทึกไว้เป็น สมุดปกขาว ที่บรรจุรวม 30 ประเด็นนโยบาย 127 มาตรการ ในการพัฒนา กทม. เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการน้ำ ฝุ่นละออง ขยะ ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย ลดอาชญากรรม ตลอดจนภัยพิบัติ เป็นต้น และกิจกรรมนี้ก็ไม่ได้จบลงไปหลังการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเกิดกลไกในการติดตามตรวจสอบการขับเคลื่อนนโยบายที่ประชาชนนำเสนอนี้ด้วยเช่นกัน

‘นพ.ประเวศ’ ปาฐกถา ‘15 ปี พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ’ ระบุ ‘นวัตกรรมทางสังคม’ สำคัญกว่า ‘เทคโนโลยี’

นอกจากนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “15 ปี พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ภายในงาน “15 ปี สุขภาพแห่งชาติ พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2565 โดยระบุว่า การสร้างสังคมสุขภาวะจะต้องมีพลังของ “ภาคี” ที่เป็นการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของทุกภาคส่วนในสังคม เข้ามาทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ ภาคีถือเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” ที่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความสมดุล ซึ่งช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนก็ได้สร้างนวัตกรรมทางสังคมขึ้นมาผ่าน สช. ที่เป็นอีกเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

“นวัตกรรมสังคมจะมีความสำคัญในอนาคต เพราะเป็นเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้คน ธรรมชาติ และสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนแบบองค์รวม เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญมากกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยี” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สช. ได้จัดงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นประจำทุกปี โดยสมัชชาสุขภาพฯ เป็นกระบวนการที่นำพาให้คนทุกภาคส่วนมาสังเคราะห์นโยบาย และมีฉันทมติร่วมกัน อันเป็นการริเริ่มการสร้างนโยบายจากประชาชน และคิดว่าประเทศไทยเป็นที่แรกในโลกที่ทำเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงความหมายของคำว่า “ภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” จะพบว่ามีความหมายที่ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งสูงสุดของมนุษยชาติที่หมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และมีความเป็นธรรมอย่างถูกต้อง ซึ่งคำว่าภาคีสังคมสุขภาวะนี้เอง จะเป็นกุญแจสร้างประเทศ และสร้างโลก เพื่อให้ทุกพื้นที่เรียกได้ว่าเป็น “แผ่นดินศานติสุข” คือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมในทุกมิติ

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วปัญหาใหญ่ของทั่วทั้งโลกในปัจจุบันนี้ พบว่ามีความขัดแย้ง ขาดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมดุล เกิดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ แม้แต่ในประเทศมหาอำนาจของโลก ซึ่งการขาดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมในทุกมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม การเมือง และมนุษย์

“ประเด็นคือ หลายประเทศมีแนวทางพัฒนาประเทศด้วยความมั่งคั่ง ไม่ได้เอาความสมดุลของการอยู่ร่วมกันมาเป็นที่ตั้ง อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะเกิดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแค่ 1% ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เกิดการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมือง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า อีกหนึ่งกับดักที่ทำให้ประเทศไทยทำอะไรไม่สำเร็จ อาจจะมาจากวิธีคิด เนื่องจากปัจจุบันเราขาดการคิดเชิงระบบและโครงสร้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศควรสร้างพลังปัญญาที่สำคัญให้กับนักศึกษา เพราะที่ผ่านมาเราเน้นด้านเทคนิค แต่ขาดการคิดเชิงระบบและการจัดการ ที่จะเป็นหัวใจของการวางระบบในการแก้ไขปัญหาของสังคม โดยเฉพาะมิติทางสุขภาวะ ที่จะรู้ถึงโครงสร้างของปัญหา เครื่องมือ และวัตถุประสงค์ของสิ่งที่จะพัฒนาเพื่อองค์รวม

ศ.นพ.ประเวศ ยังกล่าวด้วยว่า การมาร่วมกันสร้างองค์รวมของระบบสุขภาพ จะเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ จึงอยากฝาก สช. และฝากสังคมให้มาร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายสร้างสังคมสุขภาวะ ที่จะช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพสังคม และสุขภาพทางปัญญา ของพวกเราทุกคนดียิ่งขึ้น อันจะทำให้องค์รวมของสุขภาพดีตามไปด้วย และทำให้แผ่นดินไทยกลายเป็นแผ่นดินศานติสุข

“ที่ผ่านมาเราลงทุนสร้างระบบเพื่อนำไปสู่สังคมสุขภาวะกันมามากแล้ว ถึงเวลาที่พวกเราควรเข้ามาเก็บเกี่ยว ต่อยอด ด้วยการมาเป็นภาคีร่วมสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นได้จริง และมีความยั่งยืน” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ยกทัพรวมพลังขับเคลื่อนแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ภาครัฐ วิชาการ และประชาสังคม ร่วมสานพลังต่อยอดสร้างสังคมสุขภาวะตาม “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ”

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเปิดเผยถึงความสำเร็จของการจัดงาน 15 ปีสุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค. 2565 ว่าได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจากทุกภาคส่วนร่วมนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่หลากหลาย ภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

การจัดงานในครั้งนี้มีหลากหลายประเด็นสุขภาพที่ยกมาพูดคุยกัน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติโดยมีตัวอย่างการขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ ประเด็นพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะที่เรามีการผลักดันและขับเคลื่อนในเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์จนเกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ที่ถูกต้อง รวมทั้งสุขภาพของชุมชนเป็นการขับเคลื่อนให้พระสงฆ์มีบทบาทในสังคม โดยการแนะนำเรื่องสุขภาพให้กับชุมชนทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกายให้แข็งแรง ทำให้ชุมชนกับศาสนามีความใกล้ชิดกันมากขึ้นหรือตัวอย่างการทำงานภาคประชาสังคมของชุมชนคลองเตยในการสร้างมาตรการดูแลชุมชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19` ที่ผ่านมา หรือความปลอดภัยในอาหาร ที่จะต้องมีการผลักดันให้มีการควบคุมศัตรูพืชด้วยชีวภาพหรือชีววิถี หรือเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายการใช้ยาระดับประเทศ เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเชิงนโยบายด้านสุขภาพที่ได้มีการพูดคุยกันโดยเฉพาะประเด็นของการเสริมสร้างสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรับสังคมสูงวัยและมุมมองสังคมสุขภาวะในสายตาของคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ในช่วงปาฐกถาพิเศษ “ครึ่งทศวรรษที่สอง กับภารกิจขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ของ สช. เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงว่า “งานสำคัญของ สช. ที่ผ่านมาคือการมุ่งสร้างชุมขนเข้มแข็ง ขณะเดียวกันอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะจับมือกับภาคีหุ้นส่วนในการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสู่การมีสุขภาวะที่ดีเพื่อพร้อมส่งมอบภารกิจนี้ให้คนรุ่นต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: