สมาคมจิตแพทย์ชี้พฤติกรรม 'ปิตุฆาต-มาตุฆาต' ทั่วโลกพบปีละ 2%

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 3117 ครั้ง

สมาคมจิตแพทย์ชี้พฤติกรรม 'ปิตุฆาต-มาตุฆาต' ทั่วโลกพบปีละ 2%

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ชี้พฤติกรรม ปิตุฆาต-มาตุฆาต ทั่วโลกพบปีละ 2% โดยผู้ก่อเหตุหากเป็นวัยรุ่นมักมีผู้ช่วยเหลือ แต่หากเป็นผู้ใหญ่กระทำสำเร็จโดยลำพัง เกิดจากภาวะการป่วย หรือติดสารเสพติต แนะครอบครัวต้องร่วมแก้ไขตั้งแต่ต้น รับฟังความเห็นของกันและกัน เพื่อป้องกันการหลงผิด

สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2565 ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีสาว 14 ปี วางแผนร่วมแฟนหนุ่มฆ่าแม่ว่า เรื่องสะเทือนใจไม่ว่าจะเป็นลูก ฆ่าพ่อหรือแม่ หรือพ่อแม่ ฆ่าลูก มีให้พบเห็น ไม่ได้พบแค่ในการไทย แต่ในต่างประเทศ หรือทั่วโลก ก็มี โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัย เซาท์ฟอริดา พบว่าเหตุลูกฆ่าพ่อแม่ พบได้ ราว 2% ต่อไป ซึ่งพบว่าเฉลี่ยเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดได้ทั้งกับพ่อและแม่เท่าๆ กัน ส่วนวัยที่พบว่าก่อเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มวัยรุ่น ที่มักมีแรงจูงใจ มาจากเรื่องการถูกบังคับ หรือห้ามมาก 38%, รองลงมา เรื่องเงิน 10 %, และ 8% การทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ก่อเหตุการทำร้ายพ่อหรือแม่จนเสียชีวิตของวัยรุ่น มักไปรับแรงสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ไม่สามารถกระทำได้ตามลำพัง เนื่องจากอาจเพราะยังเป็นเด็ก ไม่มีความคิด หรือพละกำลังพอ 2.กลุ่มผู้ใหญ่ สาเหตุของการก่อเหตุมากจากการป่วยจิตเวช หรือ การเสพยา หรือการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พวกนี้จะมีอาการหลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน ได้ยินเสียงสั่งทำร้ายพ่อแม่ หรือเกิดการขาดยาทางจิตเวช

ผศ.นพ.ปราการ กล่าวว่า ส่วนอาวุธที่ใช้ก่อเหตุในครอบครัว ในต่างประเทศจะพบว่าเป็นปืน รองลงคือมีด เพราะเป็นอาวุธที่หาง่าย ดังนั้นเวลาทะเลาะหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว ถ้าครอบครัวไหน มีอาวุธใกล้ตัวก็เสี่ยงที่จะนำมาใช้ในการก่อเหตุ ทั้งนี้สาเหตุที่เด็กกระทำรุนแรงต่อพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว มาจากความรู้สึกที่ไม่มีความสมดุลในครอบครัว หรืออาจเคยถูกระทำรุนแรงมาก่อน ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่จะต้องเป็นการทำร้ายร่างกายเสมอไป แต่อาจเกิดจากการใช้ถ้อยคำ ตั้งแต่กดดัน ด้อยค่า เปรียบเทียบประชดประชัน ซึ่งเมื่อก่อเหตุแล้ว ส่วนใหญ่ของเด็ก จะมีตั้งแต่รู้สึกซึมเศร้า บางรายก็รู้สึกเฉยๆ เพราะเค้าคิดว่าการกระทำของเค้าทำให้ได้รับการปลดปล่อย หรือบางรายความทรงจำขาดหายเป็นช่วงๆ ไม่อยากจดจำความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนั้นกลุ่มคนทุกลักษณะนี้ ต้องได้รับการดูแล และอย่ามองว่าเป็นฆาตรกร เพราะเค้าเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ

ส่วนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้น ผศ.ปราการ กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัว ต้องมีการแก้ไขด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่แค่เด็ก หรือพ่อแม่ แต่ทุกคนต้องร่วมกัน โดยเริ่มจากการรับฟังซึ่งกันและกัน ทะนุถนอมความรู้สึก อธิบายเหตุผลทุกคนที่มีการถกเถียง หรือลงโทษ และรับฟังความเห็นของกันและกัน และอย่าลืมทุกครั้งต้องยิ้มให้กันเสมอ แม้ว่าข้างในใจจะมีความรู้สึกอื่น แต่การยิ้มจะช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ที่เลวร้ายดีขึ้น เป็นการฝึกใจตัวเอง หรือ หากไม่สบายใจก็ต้องหาที่ระบายหรือรับฟัง โดยอาจเลือกสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพราะบางครั้งถ้าหากเราเลือกคนรับฟังที่ผิด เช่น เราอาจมีความคิดหลงผิดบิดเบือน เข้าข้างตัวเองอยู่เป็นทุน ทุกครั้งที่ทะเลาะกับพ่อแม่ อาจคิดว่าเราไม่จะเป็นลูกของพ่อแม่ ถ้าเจอเพื่อนดีอาจช่วยชี้ทางหรือแนะทางที่เหมาะสม ว่าควรวางตัวอย่างไร หรือรับฟังเฉยๆ เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย แต่ถ้าเป็นไม่ใช่ ก็อาจกลายเป็นสนับสนุนความคิดที่บิดเบือน จนนำไปสู่การก่อเหตุได้ และการรักลูกก็ไม่ใช่ว่าต้องตามในใจทุกอย่าง หรือกำกับลูกให้ทำตามทุกอย่าง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: