จับตา: สปสช.เผยปีงบฯ 65 ประชาชนรับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่กว่า 2 แสนครั้ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2088 ครั้ง


สปสช.เผยปีงบประมาณ 2565 มีผู้ประชาชนไปรับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตนตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิแล้วกว่า 1.5 แสนคน รวมจำนวนการรับบริการกว่า 2 แสนครั้ง โรคที่เข้ารับบริการมากสุด 5 อันดับแรกคือ ความดันโลหิตสูง ไข้หวัด โควิด เบาหวาน การเย็บแผลและตัดไหม

เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีประชาชนเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตน ในหน่วยบริการ 955 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 155,668 คน 209,718 ครั้ง สำหรับเขตพื้นที่ที่มีจำนวนผู้เข้ารับบริการมากที่สุด 3 อันดับ คือพื้นที่ สปสช. เขต 9 นครราชสีมา มีผู้เข้ารับบริการ 29,295 คน รวม 38,138 ครั้ง รองลงมาคือพื้นที่ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้ารับบริการ 27,864 คน รวม 38,369 ครั้ง และ สปสช.เขต 6 ระยอง มีผู้เข้ารับบริการจำนวน 14,856 คน รวม 27,781 ครั้ง

โรคที่เข้ารับบริการมากสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ หรือ Essential (primary) hypertension 2.โรคหวัดหรือไข้หวัด หรือ Acute nasopharyngitis [common cold] 3.โรคโควิด 4.เบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือ Non-insulin-dependent diabetes mellitus, without complications 5.การเย็บแผลและตัดไหม หรือ Attention to surgical dressings and sutures

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศเป็นสิทธิประโยชน์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุมัติให้ผู้มีสิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท สามารถไปรับบริการนอกหน่วยบริการประจำของตนหรือนอกหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ในกรณีที่มีเหตุอันควร

ทพ.อรรถพร ขยายความคำว่ากรณีที่มีเหตุอันควร หมายถึงการไปรับบริการโดยไม่ได้มีการนัดหมายมาก่อน หรือไม่ใช่การส่งต่อไปรับบริการ เช่น การรับยา กรณีเป็นผู้ป่วยที่ต้องทานยาต่อเนื่องแล้วยาหมดในระหว่างเดินทางไปต่างพื้นที่ สามารถมาขอรับยาที่หน่วยบริการที่ไม่ใช่ได้เข้ารับการรักษาประจำได้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีทำแผลและรับวัคซีน เช่น กรณีเดินทางไปต่างพื้นที่แต่ต้องทำแผลต่อเนื่องทุก 2-3 วัน หรือถูกสุนัขกัด ต้องฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้ครบและมีเหตุต้องเดินทางไปต่างพื้นที่ ก็ไปทำแผลหรือวัคซีนในหน่วยบริการอื่นได้

“เช่นเดียวกับกรณีเจ็บป่วย เช่น ปวดศีรษะ ไข้หวัด ปวดท้อง เคืองตา ฯลฯ หรือกรณีไปต่างพื้นที่แล้วปวดฟัน ก็สามารถไปรับบริการทันตกรรมพื้นฐาน ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ในหน่วยบริการนอกพื้นที่ได้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า การเข้ารับบริการนอกหน่วยบริการประจำของตนนั้น สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ทั้งแบบภายในจังหวัดเดียวกัน ข้ามจังหวัด และข้ามเขตสุขภาพ

ขั้นตอนการรับบริการ ต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนรับบริการ โดยใช้บัตรประชาชน หรือ เข้าไปที่เมนู “ขอรหัสเข้ารับบริการ” ในแอปพลิเคชันไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso แล้วสแกน QR code ที่หน่วยบริการจัดไว้ให้ และสุดท้ายยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนู สแกนรับบริการ เมื่อยืนยันตัวตนแล้วก็สามารถเข้ารับบริการตามที่กล่าวข้างต้นได้เลย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: