เดินหน้าเขต 5 ขยายแนวคิด ‘สิทธิการตายดี’ สช.-ภาคีลุยสร้างความเข้าใจ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ในระยะสุดท้าย

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2325 ครั้ง

เดินหน้าเขต 5 ขยายแนวคิด ‘สิทธิการตายดี’ สช.-ภาคีลุยสร้างความเข้าใจ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ในระยะสุดท้าย

สช.-สธ.ผนึก รพ.พระจอมเกล้า จัดอบรมบุคลากรการแพทย์เขตสุขภาพที่ 5 พัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย “Palliative Care” พร้อมแนวทางการทำ “Advance Care Plan - Living will” เน้นย้ำการจุดประกายเป็นประเด็นสาธารณะ สร้างความเข้าใจทางสังคม สู่การสร้างเสริมสุขภาวะระยะท้ายและสิทธิการตายดีของประชาชนต่อไป

13 ก.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี จัดโครงการอบรมงาน “พัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) การทำ Advance Care Plan & Living will ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในเขตสุขภาพที่ 5” ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้ ระดมความเห็นและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ การขับเคลื่อนระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) การทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน (Living Will) รวมถึงการวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Plan)

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น สิ่งสำคัญคือมุมมองที่มีต่อเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล ที่ต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ว่านอกจากจะมีภารกิจในการทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคโดยเร็วแล้ว ยังจะต้องทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างสบาย เป็นชีวิตที่มีคุณภาพและมีความหมาย ดังนั้นแม้จะไม่สามารถทำให้หายจากโรคได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีความสุขที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่มีทางเอาชนะได้ทุกโรค เรื่องของการตายดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราอาจละเลยไป

“เราถูกสอนให้รักษาชีวิตคนไข้ให้นานที่สุด แต่เมื่อสุขภาพคนเราเสื่อมลง คุณภาพชีวิตก็จะลดลงตามไปด้วย ฉะนั้นจุดประสงค์ของการรักษาคนไข้จึงไม่ใช่เพียงทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดเท่านั้น แต่คือการให้เขาอยู่ในคุณภาพชีวิตที่ดีได้นานที่สุด ลดช่วงเวลาที่ต้องอยู่อย่างทนทุกข์ทรมานให้สั้นที่สุด ฉะนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการยื้อชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากร ทั้งยังทำให้คนไข้ทุกข์ทรมาน โดยที่อาจไม่ได้ประโยชน์จากการรักษาที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อยื้อลมหายใจ” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวอีกว่า หนึ่งในหลักการที่บุคลากรการแพทย์ควรต้องยึดถือเสมอ คือการพิจารณาในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย ไม่ใช่ประโยชน์ของญาติหรือบุคคลอื่นที่ต้องการให้ผู้ป่วยอยู่ต่อ รวมถึงเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการทำหนังสือเจตนาฯ หรือ Living Will เอาไว้ ซึ่งจะมีผลเมื่อผู้ป่วยอยู่ในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตและไม่สามารถตัดสินใจได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกันกับญาติของผู้ป่วยด้วยอีกครั้ง เช่นเดียวกับการช่วยดูแลสภาพจิตใจของญาติหลังผู้ป่วยจากไป

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การทำ Living Will ของประเทศไทยนั้นมีกฎหมายรองรับ รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และระบบต่างๆ ที่ถูกออกแบบไว้ ซึ่งพร้อมให้บริการผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งให้ความคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติตามเจตนาของผู้ป่วย แต่สิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อคือการทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องสาธารณะ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมขับเคลื่อน ทำให้การสร้างเสริมสุขภาวะระยะท้ายและสิทธิการตายดีมีความเข้มแข็ง ประสบผลสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น

“มิติในปัจจุบันเราได้เปลี่ยนจากระบบสุขภาพแบบชีวการแพทย์ หรือสุขภาพว่าด้วยเรื่องโรค กลายมาเป็นระบบสุขภาพแบบชีวิตและสังคม หรือสุขภาพที่ว่าด้วยสุขภาวะ ซึ่งระบบการแพทย์และสังคมภายนอกมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น จึงต้องอาศัยกลไกทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่จะร่วมกันพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการ สื่อสารสร้างความเข้าใจทางสังคม ให้การสนับสนุนทางนโยบาย กฎหมาย การเงินการคลัง กำลังคน ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้และวิชาการ ที่จะเป็นพลังร่วมกันทำให้งานนี้เดินหน้าได้ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ขณะที่ พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดีที่มีกฎหมายรองรับเรื่องสิทธิในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างชัดเจน แต่ที่เหลือนั้นจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรในระบบสาธารณสุขอาจยังมีความไม่มั่นใจในบทบาทว่าทำได้จริงหรือไม่ หรืออาจยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามต้องให้ความมั่นใจว่าสามารถเดินหน้าได้แน่นอน ไม่ว่าจะด้วยคำวินิจฉัยของศาลที่เคยตีความเรื่องนี้ไปแล้ว หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เองที่ออกมาผลักดัน

พญ.เดือนเพ็ญ กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ.ยังมีการออกแบบ Service Plan เกี่ยวกับการวางแผน Advance Care Plan หรือการดูแลแบบ Palliative care ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับระบบการเบิกจ่าย ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายของบริการเหล่านี้สามารถเบิกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ และเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้าน ศ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า หนึ่งในโจทย์สำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือการหาโอกาสพูดคุยร่วมกับผู้ป่วยและญาติเพื่อวางแผนเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการเข้าไปเยี่ยมเยียนดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวทุกคน บนเทคนิควิธีในการพูดคุยสอบถามมุมมองจากตัวผู้ป่วย เช่น อะไรคือความสุข ความต้องการของผู้ป่วย ยังมีสิ่งใดที่ไม่ได้ทำ หรือมีมุมมองต่อกระบวนการรักษา กังวลในเรื่องของความทรมาน รวมถึงความตายหรือไม่อย่างไร ทำให้ครอบครัวผู้ป่วยได้รับรู้ร่วมไปด้วยกัน

“อย่างเวลาคุยกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่เขามักเข้าใจสัจธรรม ไม่ได้กลัวความตาย หรือหากกลัวก็เป็นเรื่องความทรมานก่อนตาย ซึ่งเมื่อเรารู้ความต้องการของเขาก็เป็นโอกาสให้ทางเลือกในการรักษา เสนอการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน ซึ่งหลายครั้งเมื่อเปิดอกพูดคุยร่วมกันทุกฝ่าย ก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ หลายครอบครัวแทนที่จะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เขาก็พาไปเที่ยวไปใช้ชีวิตร่วมกันแทน ส่วนเราก็มีวิธีการดูแล รักษาอาการเจ็บป่วย ที่ให้ความมั่นใจได้ว่าเขาจะสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ และจากไปอย่างไม่ทรมาน” ศ.ดร.อิศรางค์ กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: