Rocket Media Lab: ปี 2021 คนเชียงใหม่ สูด PM 2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,379 มวน

Rocket Media Lab 16 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 6028 ครั้ง

  • ในปี 2021 ที่ผ่านมา เชียงใหม่มีวันที่อากาศคุณภาพดี อยู่ในเกณฑ์สีเขียวเพียง 62 วัน คิดเป็น 16.99%
  • ในปี 2021 ที่ผ่านมา คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่รวม 1,379.05 มวน
  • มีนาคม 2021 เป็นเดือนที่เชียงใหม่อากาศเลวร้ายที่สุด โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดของปี คือวันที่ 11 มีนาคม 2021 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ชาวเชียงใหม่ต้องอยู่กับวันที่ไม่มีอากาศดี (สีเขียว) เลยถึง 5 เดือนด้วยกัน ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน และธันวาคม ตามลำดับ
  • ปี 2019 เชียงใหม่อากาศเลวร้ายมากที่สุด มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมาก ถึง 8 วัน โดยในวันที่ 23 มีนาคม 2019 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 282 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  • ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่สูงกว่ากรุงเทพฯ ทุกปี ทั้งวันที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดและค่าฝุ่นเฉลี่ยตลอดทั้งปี และชาวเชียงใหม่ก็ยังมีวันที่อากาศดีๆ น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ อีกด้วย

 จากกรณี นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สู้ดิวะ” ที่พบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แม้จะดูแลรักษาสุขภาพอย่างดีและไม่สูบบุหรี่ โดย นพ.กฤตไท เล่าว่า ตนเองจบการศึกษาจากคณะแพทย์ศาสตร์ มช. จากนั้นก็ทำงานและใช้ชีวิตที่เชียงใหม่มาตลอด ทำให้เริ่มมีกระแสพูดถึงจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด และสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศติดอันดับโลก 

Rocket Media Lab ชวนดูข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 ในปี 2021 ของจังหวัดเชียงใหม่ และคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่น PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ ว่าในปีที่ผ่านมา คนเชียงใหม่สูด PM2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่กี่มวน

เชียงใหม่และ PM2.5 ในปี 2021

จากการคำนวณของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา เชียงใหม่อยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 36 วัน คิดเป็น 9.86% ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 60 วัน คิดเป็น 16.44% ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 207 วัน คิดเป็น 56.71% และระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 62 วัน คิดเป็น 16.99% 

จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่เชียงใหม่อากาศเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในปี 2021 คือเดือนมีนาคม โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดของปี คือวันที่ 11 มีนาคม 2021 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

และตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2021 ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย ส่วนวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีจำนวน 7 วัน และมีวันที่ค่าอากาศแบบมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในแถบสีแดง มีจำนวน 21 วัน

นอกจากเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดแล้ว ยังพบว่าชาวเชียงใหม่ต้องอยู่กับวันที่ไม่มีอากาศดี (สีเขียว) เลยถึง 5 เดือนด้วยกัน ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน และธันวาคม ตามลำดับ ในขณะที่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดคือกันยายน ซี่งมีวันที่อากาศดี ในเกณฑ์สีเขียว 16 วัน และ อากาศปานกลาง เกณฑ์สีเหลือง 14 วัน รองลงมาคือกรกฎาคมและตุลาคม 

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของเชียงใหม่ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต

2021 ยังไม่ใช่ปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับชาวเชียงใหม่

แม้ในปี 2021 จะมีวันที่อากาศในเชียงใหม่อยู่ในเกณฑ์สีแดงถึง 36 วัน แต่ก็ยังไม่ใช่ปีที่เชียงใหม่อากาศเลวร้ายมากที่สุด เพราะเมื่อดูข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 ของเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จะพบว่า ปืที่เชียงใหม่อากาศเลวร้ายมากที่สุดคือปี 2019 ซึ่งมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมาก ถึง 8 วัน โดยในวันที่ 23 มีนาคม 2019 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่เฉลี่ย 282 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ส่วนในปี 2020 ก็พบว่าเชียงใหม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมาก ถึง 7 วัน สูงสุดในวันที่ 19 มีนาคม 2020 วัดค่า PM2.5 ได้ 242 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในปี 2018 มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง 1 วัน ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2018 วัดค่า PM2.5 ได้ 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกันกับปี 2016 ที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง 1 วัน คือวันที่ 18 เมษายน 2016 วัดค่า PM2.5 ได้ 203 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2017 และปีนี้ (2022) (ข้อมูลจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน) ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง

เชียงใหม่ VS กรุงเทพฯ

เมื่อนำข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 ในปี 2021 ของเชียงใหม่มาเปรียบเทียบกับของกรุงเทพฯ จะพบว่า เชียงใหม่มีวันที่อากาศดี อยู่ในเกณฑ์สีเขียว น้อยกว่ากรุงเทพฯ ถึง 32 วัน ในขณะที่วันที่อากาศถือว่าอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือเกณฑ์สีแดง เชียงใหม่ก็มีสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 24 วัน ซึ่งในวันที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในปี 2021 เชียงใหม่ก็มีค่าฝุ่นสูงกว่ากรุงเทพฯ โดยเชียงใหม่อยู่ที่ 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 187 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นอกจากนั้นเมื่อย้อนดูข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ก็จะพบว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่นั้นสูงกว่ากรุงเทพฯ ทุกปี ทั้งวันที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดและค่าฝุ่นเฉลี่ยตลอดทั้งปี และชาวเชียงใหม่ก็ยังมีวันที่อากาศดีๆ น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ อีกด้วย 

ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 ug/m3 = บุหรี่ 1 มวน ปี 2021 ที่ผ่านมา คนเชียงใหม่สูบบุหรี่ไปกี่มวน

จากงานของ Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM 2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2021 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Dr. Richard Muller จะพบว่า

โดยรวมแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมาคนเชียงใหม่ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมด 1,379.05 มวน โดยในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นเดือนที่อากาศในเชียงใหม่เลวร้ายที่สุด พบว่าเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 227.32 มวน ในขณะที่เดือนที่มีอากาศดีที่สุดคือเดือนกันยายน พบว่าเทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมด 66.91 มวน

หากดูข้อมูลย้อนหลังโดยเทียบการสูดดมค่าฝุ่น PM2.5 เป็นการสูบบุหรี่ จะพบว่า 

  • ปี 2016 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,529.27 มวน (มี 5 วันที่ไม่ปรากฏข้อมูล) 
  • ปี 2017 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,459.86 มวน  (มี 4 วันที่ไม่ปรากฏข้อมูล)
  • ปี 2018 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,487.68 มวน (มี 1 วันที่ไม่ปรากฏข้อมูล)
  • ปี 2019 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,557.41 มวน (มี 2 วันที่ไม่ปรากฏข้อมูล)
  • ปี 2020 คนเชียงใหม่สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,232.64 มวน  (มี 86 วันที่ไม่ปรากฏข้อมูล คิดเป็น 23%)

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก

สาเหตุของ PM2.5 ที่เชียงใหม่?

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนมีนาคมและต้นเดือนเมษายน 2021 อาจมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน โดยในปี 2021 เชียงใหม่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมไปจนถึงต้นเดือนเมษายน  ขณะที่ค่าฝุ่น PM2.5 ก็เริ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม  

หรือในปี 2020 เชียงใหม่เกิดเหตุไฟไหม้มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2020 ทั้งในบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งนับเป็นไฟไหม้ป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในเชียงใหม่ และในช่วงเดือนเมษายนก็เกิดเหตุไฟไหม้ป่าอีกครั้งบริเวณด้านหลังศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งค่าฝุ่น PM2.5 ในเดือนมีนาคม 2020 ก็สูงอย่างมาก โดยอยู่ในเกณฑ์สีม่วงถึง 6 วัน และสีแดงอีก 16 วัน ในขณะที่เดือนเมษายนที่ยังเกิดไฟป่าเช่นกันก็มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีม่วง 1 วัน และสีแดง 16 วัน 

เช่นเดียวกับในปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน โดยในเดือนมีนาคมที่เชียงใหม่เริ่มมีหมอกควันปกคลุมหนาแน่น พบว่าบริเวณภาคเหนือตรวจพบจุดความร้อนมากถึง 391 จุด   ขณะที่ช่วงเดือนเมษายนนั้นเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บนยอดดอยหัวเสือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จึงอาจเป็นไปได้ว่า สาเหตุหนึ่งของหมอกควันหรือฝุ่น PM2.5 อาจเกิดจากไฟป่าที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่เอง รวมไปถึงการเผาไหม้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดและบริเวณใกล้เคียง

 

หมายเหตุ: 

  • อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง https://aqicn.org/city/chiang-mai 
  • ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของเชียงใหม่ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต 
  • PM2.5 เทียบกับบุหรี่ http://berkeleyearth.org/air-pollution-and-cigarette-equivalence 

ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-chiangmai-pm-25-2021 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: