สช. ชวน ‘คนรุ่นใหม่’ ออกแบบอนาคตสร้างความมั่นคงชีวิต - เตรียมพร้อมรับ ‘สูงวัย’

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2318 ครั้ง

สช.จัดวงชวนคิดชวนคุย สร้าง “หลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ต่อเนื่อง ระดมเครือข่ายคนรุ่นใหม่ร่วมให้ภาพฝัน อนาคตระบบรองรับ สวัสดิการ-หลักประกัน-การดูแลทางสังคมที่อยากเห็น เตรียมพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายบนเวที “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15” ปลายเดือน ธ.ค. 65 นี้

เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีชวนคิดชวนคุยเครือข่ายคนรุ่นใหม่ 4 ภาค เรื่อง “จากชีวิตวัยทำงานถึงเชิงตะกอน: ปฏิทินชีวิตของคนไทยที่ร่วมกำหนดเอง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานโยบายสาธารณะ เรื่อง หลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 เพื่อร่วมกันเสนอระบบหลักประกันอนาคตชีวิตของตนเองให้เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบัน

หลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

สำหรับ “หลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” เป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15-16 ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นหลัก (Theme) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยเฉพาะในยุคหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ปรากฎชัดเจนว่าเรื่องปัญหาปากท้อง การมีอยู่มีกินและความมั่นคงของประชาชนนั้น เชื่อมโยงกับมิติสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม รวมทั้งเป็นความท้าทายภายใต้บริบทไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์และจะมีประชากรสูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้

นพ.สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ เปิดเผยว่า การร่วมกันพัฒนาระบบหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้กับประชาชนได้ ซึ่งภารกิจนี้มิใช่เรื่องของผู้สูงวัยในปัจจุบันเท่านั้น แต่จะเป็นเรื่องร่วมของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นถัดไป ที่จะร่วมกันกำหนดภาพที่พึงประสงค์ในการพัฒนาระบบใหญ่ของประเทศนี้

“ความเสี่ยงประเด็นหนึ่งขณะนี้ คือเรื่องความท้อแท้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเพียงในประเทศไทย แต่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก โดยในเวที World Economic Forum เมื่อปีที่แล้วก็ได้มีการรายงานออกมาว่าสถานการณ์คนรุ่นใหม่ท้อแท้ กำลังมีมากขึ้นในหลายประเทศ ทั้งท้อแท้จากการงาน เศรษฐกิจ การศึกษา รวมไปถึงการเมือง ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อ ประเทศในภาพรวมก็จะหยุดเดินหน้า ขณะเดียวกันเรื่องการวางแผนชีวิต การสร้างเนื้อสร้างตัว วางแผนเกษียณ ก็ต้องทำตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งง่ายเท่านั้น” นพ.สุภกร กล่าว

ชวน ‘คนรุ่นใหม่’ ออกแบบอนาคตสร้างความมั่นคงชีวิต - เตรียมพร้อมรับ ‘สูงวัย’

ในส่วนของกระบวนการชวนคิดชวนคุยในครั้งนี้ เป็นการตั้งคำถามคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ชีวิตปัจจุบัน มองภาพอนาคตชีวิตของตนเอง พร้อมชวนมองไปถึงสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ยังขาดหายไปเพื่อทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยชรา จากนั้นจึงเป็นการมาออกแบบอนาคตร่วมกัน ว่าสังคมควรจะต้องมีอะไรบ้างตาม 5 เสาหลักของการประกันรายได้และคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย 1. รายได้จากการทำงาน 2. เงินออม/ทรัพย์สิน/ทุนในชีวิต 3. ครอบครัวเกื้อหนุน 4. เงินโอนรัฐ สวัสดิการ หลักประกันสุขภาพ 5. สังคม/ชุมชนท้องถิ่นร่วมดูแล

ขณะที่ข้อเสนอน่าสนใจของคนรุ่นใหม่ภายในเวที ไม่ว่าจะเป็นการให้ปรับปรุงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และประกันสังคมให้มีความเท่าเทียมกัน การให้ความสำคัญกับบำเหน็จ หรือเงินก้อน ที่สามารถนำไปใช้ลงทุนทำอย่างอื่นได้ในวัยเกษียณ การสนับสนุนด้านการศึกษาที่เท่าเทียม การส่งเสริมพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ที่สามารถนำไปสร้างรายได้ สร้างอาชีพได้จริง เป็นต้น

ขณะเดียวกันในการแลกเปลี่ยน ยังได้มีการพูดถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศ ที่ทำให้รูปแบบครอบครัวในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นสถานะทางกฎหมาย สิทธิสวัสดิการ การรักษาพยาบาลต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่คู่ครองจะต้องได้รับการดูแลอย่างเสมอภาค ตลอดจนการกระจายงานและรายได้ที่มั่นคงไปสู่ท้องถิ่น เพื่อที่โอกาสทุกอย่างไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ในเมือง

เตรียมพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายบนเวที “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15”

ด้าน นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. กล่าวว่า การจัดเวทีชวนคิดชวนคุยเครือข่ายคนรุ่นใหม่ 4 ภาคในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหลายเวทีที่ได้จัดขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วงเดือน ต.ค. - พ.ย. 2565 เพื่อรับฟังความเห็นจากกลุ่มคนต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนจนเมือง กลุ่มเปราะบาง องค์กรการเงินชุมชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เป็นต้น เพื่อที่จะนำข้อมูลมาประมวลผล วิเคราะห์ ก่อนร่างเป็นเอกสารระเบียบวาระที่จะนำเข้าไปสู่การหาฉันทมติในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565

“สมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 15 ปีนี้ ภาคีจะมาร่วมกันให้ฉันทมติและกล่าวถ้อยแถลงเพื่อขับเคลื่อนเรื่อง หลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เรื่องนี้ไปพร้อมกัน แต่แน่นอนว่ามตินี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลไปถึงระบบโครงสร้างของประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับคนทุกวัย ดังนั้นหลังจากที่เราได้ข้อเสนอนโยบายที่เป็นหลักการร่วม เป็นภาพพึงประสงค์ของประชาชนในปีนี้แล้ว ก็จะนำไปสู่การออกแบบในรายละเอียดว่าระบบนี้ควรจะมีรูปแบบอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไปในช่วงสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 16 ในปีหน้า” นายสมเกียรติ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: