ผลสำรวจเผยปี 2566 นายจ้างไทยพร้อมขึ้นเงินเดือน 4.5% จ่ายโบนัส 1.3-2.5 เดือน

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 8749 ครั้ง

ผลสำรวจเผยปี 2566 นายจ้างไทยพร้อมขึ้นเงินเดือน 4.5% จ่ายโบนัส 1.3-2.5 เดือน

เมอร์เซอร์ (Mercer) เผยผลสำรวจนายจ้างในประเทศไทย คาดการณ์ปรับค่าตอบแทนสำหรับปี 2566 เฉลี่ย 4.5% ขณะที่การโยกย้ายภาคสมัครใจเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการเติบโตของตลาดแรงงาน และโอกาสการย้ายงาน

เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2565 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าเมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล เผยแพร่ผลสำรวจ Total Remuneration (TRS) ประจำปี 2565 ซึ่งสำรวจกับองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมของประเทศไทย ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 พบว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนเมษายน 2565 การปรับค่าตอบแทน หรือ "เงินเดือน" มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย ที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนของไทยอยู่ที่ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกเล็กน้อย (ไม่นับรวมอินเดีย) ซึ่งมีอัตราปรับขึ้น 4.4%

ทั้งนี้ค่าอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของค่าตอบแทนในตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีการประมาณการอัตราค่าตอบแทนที่ปรับตัวสูงถึงระดับ 7.1% ในประเทศเวียดนาม ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.2% ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค

เมลลา ดาราแคน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เมอร์เซอร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีความคาดหวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่นายจ้างส่วนใหญ่ยังมีความระมัดระวังในการวางแผนที่จะรับมือผลกระทบของเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น เมอร์เซอร์ แนะนำให้ภาคธุรกิจพิจารณา และทบทวนกลยุทธ์บริหารค่าตอบแทนของพนักงานในองค์กร เนื่องจากหลังโควิด-19 ธุรกิจอาจพบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงประสบความท้าทายในการดึงดูด และรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถไว้

ผลการสำรวจของเมอร์เซอร์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ดังนั้นแนวโน้มในการปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนในปีหน้าอาจจะยังใกล้เคียงกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม สำรวจพบว่า

  • ไม่มีอุตสาหกรรมใดมีแนวทางปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือน
  • อุตสาหกรรมที่ปรับขึ้นเงินเดือนมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีอัตราการขึ้นผลตอบแทนที่ 4.9% และ 4.8% ตามลำดับ
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมประกันชีวิต คาดการณ์การปรับอัตราขึ้นเงินเดือน 4.5% และ 4.0% เพราะแม้อุปสงค์ต่อภาคยานยนต์ และประกันชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าเกิดโรคระบาด

“การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ และการที่ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย ปรับขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้แรงงานที่มีรายได้น้อยคลายความกังวลในด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะทำให้มีเงินหมุนเวียนในมือประชาชนมากขึ้น และเพิ่มแรงกดดันให้กับภาคธุรกิจ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังคงสดใสเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” เมลลา หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เมอร์เซอร์ ประจำประเทศไทย กล่าว

คาดการณ์ โบนัส 1.3-2.5 เดือน

นอกจากนี้ผลสำรวจยัง คาดการณ์การจ่ายโบนัสว่า อยู่ที่ 1.3-2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือน จากอุตสาหกรรมยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตดีในช่วงโควิด-19

ด้านนโยบายการปรับอัตรากำลังพนักงานในปี 2566 ผลสำรวจระบุว่า บริษัทในประเทศไทยที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (53%) ไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงาน และ 1 ใน 5 หรือ ราว 22% ของนายจ้างที่ร่วมสำรวจมีแนวทางจะเพิ่มจำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% เท่านั้น ที่บอกว่าจะลดพนักงานลง

ส่วนการลาออกของพนักงานหลังปี 2565 คาดการณ์ว่า จะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งมีอัตราลาออกสูงกว่า 11.9% และภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์จะมีพนักงานลาออกมากที่สุด นอกจากนี้ยังคาดว่า ในปี 65-66 ธุรกิจไทยจะอยู่ในช่วงการแข่งขันสูง มีการแย่งชิงบุคลากร ประกอบกับบุคลากรเองก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง จากที่เคยรักษาสถานะในช่วงโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมจะเปลี่ยนงานที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ส่งสัญญาณแข่งขันตลาดแรงงาน

จักรชัย บุญญะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ได้เห็นแนวโน้มการโยกย้ายงานเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ กลับมาจ้างงาน และเพิ่มจำนวนบุคลากร ขณะเดียวกันพนักงานที่เคยรักษาสถานภาพในช่วงโควิด-19 มีความคิดที่จะโยกย้ายงานใหม่ ซึ่งจากนี้ไปธุรกิจไทยอยู่ในช่วงแข่งขันสูง เกิดการแย่งชิงบุคลากร โดยมีการเสนอรายได้ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลสำรวจดังกล่าวของ เมอร์เซอร์ สำรวจกับองค์กร 636 แห่งใน 15 อุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้ 86% เป็นบริษัทต่างชาติซึ่งมีสาขาในประเทศไทย และในจำนวนองค์กรทั้งหมดนี้ มี 30% ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

พิจารณา "เงินเดือนที่แท้จริง"

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นเงินเดือนจะมากหรือน้อยนั้น ต้องดูประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อด้วย ถึงจะสะท้อนถึง "เงินเดือนที่แท้จริง" ที่มนุษย์เงินเดือนรายนั้นๆ ได้รับว่า สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพ ที่เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่

ก่อนหน้านี้ บริษัทข้อมูล “อีซีเอ อินเตอร์เนชันแนล” ได้รวบรวมข้อมูลจากบริษัทข้ามชาติกว่า 360 แห่งใน 68 ประเทศ และมีรายงานว่า ประเทศในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก มีอัตราการขึ้นเงินเดือนที่แท้จริง (อัตราการเติบโตของค่าจ้างลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดย 8 ใน 10 ประเทศที่เงินเดือนแท้จริงเพิ่มขึ้นสูงสุดทั่วโลกในปีนี้ มาจากเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นประเทศอินเดียซึ่งมีรายได้แท้จริงเพิ่มขึ้นมากสุดที่ 4.6% ตามด้วย จีน 3.8%

สำหรับอินเดียนั้นคาดว่าจะมีเงินเดือนแท้จริงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก นั่นเป็นเพราะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย และ "ความจำเป็นในการเติบโตของเงินเดือนเพื่อแซงหน้าเงินเฟ้อ" ขณะเดียวกัน พนักงานในอินเดียก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเล็กๆ ทั่วโลกที่เงินเดือนแท้จริงเติบโตสูงสุดในปีนี้ และปีหน้าด้วย

แม้เอเชีย-แปซิฟิก ดูแล้วดีกว่าภูมิภาคอื่นในปี 2566 แต่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีเรื่องให้ยินดี ประเทศอย่างลาวและเมียนมา จะประสบกับเงินเดือนแท้จริง “ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และการเมือง หรือในสิงคโปร์ แม้พนักงานจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 3.8% แต่เงินเฟ้อจะทำให้รายได้หลังหักภาษีลดลง ทำให้ค่าจ้างแท้จริงลดลง 1.7% ในปีนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: