รัสเซีย/ยูเครน: เชลยศึกต้องได้รับการคุ้มครองจากความอยากรู้อยากเห็นของสาธารณะตามอนุสัญญาเจนีวา

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 มี.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2459 ครั้ง

รัสเซีย/ยูเครน: เชลยศึกต้องได้รับการคุ้มครองจากความอยากรู้อยากเห็นของสาธารณะตามอนุสัญญาเจนีวา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงว่า เชลยศึกที่ถูกจับระหว่างการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิตามอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 | ที่มาภาพ: ©ARIS MESSINIS/AFP via Getty Images

11 มี.ค. 2022 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงว่า เชลยศึกที่ถูกจับระหว่างการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิตามอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทางการยูเครนได้นำตัวเชลยศึกชาวรัสเซียมาแถลงข่าว เพื่อให้อธิบายถึงบทบาทของพวกเขาในการรุกรานทางทหาร และยังมีคลิปวิดีโอในโซเชียลมีเดีย แสดงภาพขณะที่ทหารที่ถูกจับกุมได้ติดต่อกับสมาชิกครอบครัวในรัสเซีย  

คลิปวิดีโอของทหารยูเครนที่ถูกจับก็ได้ปรากฏในโซเชียลมีเดียเช่นกัน แม้ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เกิดจากการสั่งการของรัฐหรือไม่ 

โจแอน มารีนเนอร์ ผู้อำนวยโครงการรับมือภาวะฉุกเฉิน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ในขณะที่ความขัดแย้งยังเกิดขึ้นต่อไป คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายจำเป็นต้องเคารพสิทธิของเชลยศึกอย่างเต็มที่

“การปรากฏตัวต่อสาธารณะอาจทำให้เชลยศึกเกิดความเสี่ยง เมื่อพวกเขาเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด และอาจทำให้เกิดปัญหากับครอบครัวของพวกเขา ระหว่างที่พวกเขายังคงถูกควบคุมตัวไว้ 

“ข้อ 13 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ระบุอย่างชัดเจนว่า เชลยศึกต้องได้รับการคุ้มครองในทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับความคุ้มครองต่อความอยากรู้อยากเห็นของสาธารณะ เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่ควบคุมตัวที่จะต้องประกันให้มีการเคารพอย่างเหมาะสมต่อสิทธิของเชลยศึกเหล่านี้ ตั้งแต่ช่วงที่พวกเขาถูกจับกุม”  

 

อนุสัญญาเจนีวา

ข้อ 13 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ระบุว่า “เชลยศึกต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในทุกขณะ ห้ามไม่ให้มีการปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายผู้ควบคุมตัว อันอาจเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตหรือเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของเชลยศึกระหว่างถูกควบคุมตัว และการปฏิบัติเช่นนั้นถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออนุสัญญานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องไม่มีการตัดเฉือนวัยวะของเชลยศึก หรือนำตัวไปใช้ในการทดลองทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ไม่ว่าในประเภทใดๆ ซึ่งไม่ได้เป็นไปด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์ ทันตกรรม หรือการรักษาในโรงพยาบาลต่อเชลยศึกคนนั้น และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเขา ในทำนองเดียวกัน เชลยศึกต้องได้รับการคุ้มครองในทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับความคุ้มครองจากการประทุษร้าย หรือต่อการขู่เข็ญและต่อการถูกเหยียดหยาม และความอยากรู้อยากเห็นของสาธารณะ”  

จากอรรถาธิบายของคณะกรรมการกาชาดสากลระบุว่า “การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้มีการเปิดเผยอัตลักษณ์ของเชลยศึกแต่ละคน โดยทั่วไปแล้วย่อมถือว่าเป็นการทำให้เขาตกเป็นเป้าของความอยากรู้อยากเห็นของสาธารณะ และเป็นภาพที่จะต้องไม่มีการเผยแพร่ ตีพิมพ์ หรือออกอากาศ”  

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้มีการเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในขณะที่ความขัดแย้งในยูเครนยังตึงเครียดเพิ่มขึ้นต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: